xs
xsm
sm
md
lg

อดีตรอง ผอ.ไทยพีบีเอสชี้ ยังไม่เห็นความเสียหายข่าวปลากุเลา ลาออก-ตัดเงินเดือนไม่ช่วยแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตรอง ผอ.ไทยพีบีเอส ชี้ยังไม่เห็นความเสียหายใดๆ จากการนำเสนอข่าวปลากุเลาตากใบ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ส่วนพาดหัวข่าว โปรยข่าวไม่เหมาะสมก็มีแนวปฏิบัติกำกับอยู่แล้ว ชี้การประกาศลาออก และตัดเงินเดือน นอกจากไม่แก้ปัญหาใดๆ แล้ว ยังซ้ำเติมนักข่าวและผู้ปฏิบัติงาน

วันนี้ (1 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก "สุพจ จริงจิตร" ของ นายสุพจน์ จริงจิตร อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส โพสต์ข้อความในหัวข้อ "ปลากุเลาตากใบกับไทยพีบีเอส" ระบุว่า

"ผมคิดว่าเรื่องปลากุเลาตากใบกับไทยพีบีเอสจบไปแล้ว ตั้งแต่ออกมาแถลงขออภัย ซึ่งเท่านั้นก็มากเกินพอดีไปแล้ว

ผมจึงนั่งมึนตึ้บอยู่หลายวิ เมื่อได้อ่านคำแถลงของไทยพีบีเอส เรื่องการลาออก และขอตัดเงินเเดือนตัวเองของผู้บริหารระดับสูงในกองบรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส

นัยว่าเพื่อแสดงความรับผิดชอบจากการนำเสนอข่าวปลากุเลาตากใบ

อันตามมาด้วยอาการตกตะลึงจังงังงุนงงอีกหลายสิบวิ เมื่อพบเนื้อหาในคำแถลงที่มิได้จบลงแต่เพียงแค่นั้น

ทว่า ยังมีเรื่องการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย กับผู้เกี่ยวข้องห้อยท้ายอยู่อีกหนึ่งประเด็น

หากหวนกลับไปดูเนื้อหา และกระบวนการทำข่าวนี้แล้ว ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไรเลย

เป็นกระบวนการทำงานพื้นๆ ของการทำงานข่าวปกติสามัญ ที่ยืนอยู่บนหลักการพื้นฐาน อันเป็นเบสิกของการทำงานข่าวที่สอนกันมาตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา และเป็นแนวทางปฏิบัติที่คนทำงานต้องยึดมั่นเมื่อย่างเท้าเข้าสู่วิชาชีพสื่อสารมวลชน

ผมคิดว่ากรณีนี้มีเรื่องให้พิจารณาอยู่ 3 ประเด็น อันแสนเรียบง่ายไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย

1. เนื้อหาข่าวที่นำเสนอมาตั้งแต่ต้นจนจบ ถูกต้องครบถ้วนรอบด้านหรือไม่

2. กระบวนการทำข่าวและการนำเสนอมีข้อบกพร่องผิดพลาดอันใดหรือไม่

3. ผลกระทบจากการทำข่าวและนำเสนอข่าวนี้เป็นอย่างไร

ประเด็นแรก เนื้อหาข่าวที่นำเสนอ เมื่อสถานการณ์เดินทางมาถึงวันเวลานี้ ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง

กล่าวคือ ผู้ค้าปลากุเลาตากใบไม่ทราบว่ามีการซื้อปลากุเลาไปใช้ปรุงอาหารรับรองผู้นำประเทศต่างๆ ที่มาร่วมประชุมเอเปก และสงสัยว่ามีการซื้อไปใช้ทำอาหารจริง ตามที่รัฐบาลออกข่าวประชาสัมพันธ์หรือไม่

เมื่อไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวความสับสนสงสัยของผู้ค้าในท้องถิ่น

ฝั่งผู้ปรุงอาหารก็ได้ชี้แจงกับผู้ค้า จนเป็นที่เข้าใจว่ามีการสั่งซื้อจริง เพียงแต่ไม่ได้แจ้งกับผู้ขายในตอนสั่งซื้อว่าจะนำไปขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปก

ประเด็นต่อมา กระบวนการทำข่าวและนำเสนอข่าวนี้ มีข้อบกพร่องตรงไหนหรือไม่

ผมไม่ทราบว่าด้วยเหตุประการใดที่ผู้สื่อข่าว หรือกองบรรณาธิการ ไม่ได้ตรวจสอบกลับไปยังผู้รับผิดชอบจัดการประชุมเอเปกในทันทีที่รับทราบปฏิกิริยาของผู้ค้า ตามหลักปฏิบัติที่พึงกระทำ

อาจจะเป็นเพราะเงื่อนเวลาการออกอากาศข่าวนี้ครั้งแรกกระชั้นชิด จนตรวจสอบไม่ทัน หรือติดต่อผู้รับผิดชอบการจัดประชุมไม่ได้ หรือตัดสินใจออกอากาศไปก่อน แล้วค่อยติดตามข้อเท็จจริงมานำเสนอในช่วงต่อไป

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสก็ติดตามข่าวนี้มานำเสนอ จนได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ ดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

ในที่สุด ภายใต้กระบวนการทำข่าวและนำเสนอข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างก็คลี่คลาย รัฐก็ได้ชี้แจง ผู้ค้าก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สังคมก็ได้รับทราบข้อเท็จจริง

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องพิจารณาก็คือ ผลที่ได้รับจากการนำเสนอข่าวนี้ ซึ่งผมมองว่าเป็นบวกกับทุกฝ่าย

ฝ่ายรัฐได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงจนคลายความสับสนของกลุ่มผู้ค้าลงได้ แถมยังได้โอกาสประชาสัมพันธ์วัตถุดิบอื่นๆ จากท้องถิ่นต่างๆ ที่นำมาขึ้นโต๊ะต้อนรับผู้นำประเทศในกลุ่มเอเปก

รวมทั้งยังทำให้ผู้คนในวงกว้างได้รับรู้รับทราบเรื่องการประชุมเอเปกเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่สินค้าท้องถิ่นอย่างปลากุเลาตากใบ ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น จากการนำเสนอข่าวนี้ของไทยพีบีเอส อันเป็นประโยชน์ที่ผู้ค้าปลากุเลาในท้องถิ่นตากใบได้รับไปเต็มๆ โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาแม้แต่บาทเดียว

สรุป ผมจึงไม่เห็นความเสียหายใดๆ จากการทำข่าวและนำเสนอข่าวนี้

ส่วนประเด็นพาดหัวข่าว หรือโปรยข่าวไม่เหมาะสมนั้น

ไทยพีบีเอสมีจริยธรรมของผู้บริหารและพนักงาน พร้อมแนวปฏิบัติกำกับอยู่แล้ว

ถ้าพนักงานของไทยพีบีเอสคนใดพาดหัวโปรยข่าวเข้าข่ายขัดต่อจริยธรรม หรือไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ ตามที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไทยพีบีเอสก็สามารถดำเนินการไปตามระเบียบขององค์กรเป็นรายกรณีไปได้เลย

การออกมาประกาศความรับผิดชอบด้วยการลาออก และตัดเงินเดือนตัวเองของผู้บริหาร นอกจากจะไม่แก้ปัญหาใดๆ แล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมน้องนักข่าวและผู้ปฏิบัติงานโดยแท้

ด้วยเพราะไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ต่อสายตาบุคคลภายนอกแล้ว การแสดงออกดังกล่าวเท่ากับเป็นการยืนยันว่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสทำข่าวปลากุเลาตากใบผิดพลาดบกพร่องร้ายแรงจริง

ยิ่งสำทับด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ก็เท่ากับยอมรับโดยปริยายว่า ข้อกล่าวหาที่มีต่อบุคลากรของไทยพีบีเอสว่าทำข่าวนี้ผิดพลาดบกพร่อง อันปรากฏดกดื่นอยู่ในโซเชียลมีเดีย เป็นข้อกล่าวหาที่มีมูล

อันเป็นการโยนภาระให้ผู้สื่อข่าว หรือผู้เกี่ยวข้องในการนำเสนอข่าวนี้ ต้องออกมาต่อสู้ปกป้องตัวเองอย่างโดดเดี่ยว โดยปราศจากหลังพิงที่แข็งแรงพอที่จะช่วยกันดูแลในยามเจอมรสุม

นอกจากจะสร้างบาดแผลให้ผู้ปฏิบัติแล้ว ยังทำให้เขาหรือเธอต้องมาเสียเวลา เสียใจ เสียความรู้สึก สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง แล้วยังจะส่งผลไปถึงสูญเสียความเชื่อมั่นต่อองค์กรโดยรวมด้วย

มิพักต้องพูดถึงสายตาของบุคคลทั่วไป ที่กำลังมองว่าผู้บริหารไทยพีบีเอสไม่สามารถรองรับแรงกดดันจากผู้มีอำนาจ หรือจากกลุ่มคนภายนอก หรือจากแรงกดดันภายในไทยพีบีเอสเอง

อันจะนำมาสู่แรงถดถอยต่อความเชื่อมั่นว่าไทยพีบีเอสจะสามารถรักษาจุดยืนของความเป็นสื่อ ที่พร้อมจะเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ ต่อผู้ด้อยโอกาส ต่อประชาชนทุกระดับ และต่อทุกฝ่าย โดยไม่เลือกข้าง

เป็นที่รับรู้กันในแวดวงคนทำสื่อว่า บนหนทางการนำเสนอข่าว และวิพากษ์วิจารณ์ทุกฝ่ายนั้น แม้จะยืนอยู่บนข้อเท็จจริง และผลประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่เลือกข้าง

ทว่า ในท่ามกลางความแตกแยกเลือกข้างของผู้คนในสังคม อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
มันช่างเป็นเส้นทางแห่งความโดดเดี่ยวอ้างว้าง เสมือนไร้เพื่อน ฝ่ายโน้นก็ไม่ชอบ ฝั่งนี้ก็ชิงชัง

ทว่า นั่นเป็นหนทางที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

ด้วยเพราะการยืนหยัดยืนยันอยู่บนหลักการแห่งวิชาชีพ และผลประโยชน์ต่อสาธารณะโดยรวมอย่างหนักแน่นมั่นคงเท่านั้น ที่จะสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นขึ้นมาได้

อันเป็นหนทางเดียว ที่จะนำพาองค์กรให้อยู่รอดปลอดภัย

การนำพาองค์กรไปซุกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ นับวันแต่จะนำไปสู่ความเสื่อมถอย สิ้นศรัทธา

หาใช่หนทางที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนแต่อย่างใดไม่

นี่คือ “สัจธรรม”"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่








กำลังโหลดความคิดเห็น