xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์นิด้ายังคาใจ ไทยพีบีเอสแจงข่าวปลากุเลาเค็มตากใบ พาดพิงผู้อื่นคิดว่าตัวเองถูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต คาใจไทยพีบีเอสชี้แจงข่าวปลากุเลาเค็มตากใบไม่มีคำตอบว่าจะรับผิดชอบอย่างไร กลายเป็นการเกริ่นที่มา พาดพิงความผิดของผู้อื่น แล้วคิดว่าตนเองทำถูกแล้ว ระบุการสะท้อนความรู้สึกประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ใช้ข้อความ "จับโป๊ะ" ชี้นำให้เข้าใจผิด

วันนี้ (16 พ.ย.) จากกรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสออกคำชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าว "ปลากุเลาเค็มตากใบ" เมนูที่จะใช้ในงานเลี้ยงผู้นำเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) โดยอ้างคำสัมภาษณ์ของผู้ประกอบการในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่าปลากุเลาเค็มตากใบที่จะใช้ในงานเลี้ยงไม่ใช่ปลากุเลาจากตากใบ ต่อมา น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจงว่าปลากุเลาที่นำมาใช้ปรุงอาหารได้สั่งซื้อมาจากร้านป้าอ้วน ซึ่งเป็นปลากุเลาเค็มตากใบจริง โดยยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความเข้าใจผิด แต่ยอมรับว่าการนำเสนอข่าวดังกล่าวขาดความรอบด้าน โดยมิได้ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมขออภัยในความบกพร่องที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าว และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต

อ่านประกอบ : ไทยพีบีเอสแจงข่าวปลากุเลาเค็มตากใบ ยอมรับขาดความรอบด้าน ยันไม่มีเจตนาสร้างความเข้าใจผิด 

อาจารย์นิด้าจวกไทยพีบีเอส ทำเป็นจับโป๊ะปลากุเลาตากใบ เชฟเสียหาย ประเทศไทยเสียชื่อ 

ล่าสุดเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความระบุว่า

1. ผมอ่านคำชี้แจงนี้จนจบแล้วก็สะดุดอยู่กับหลายตอน โดยเฉพาะข้อสุดท้าย

"ไทยพีบีเอสขอยืนยันเจตนารมณ์ในฐานะสื่อสาธารณะในการรายงานข่าวและนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องรอบด้าน เป็นธรรม และให้ความสำคัญต่อการประชุมเอเปก ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการสะท้อนความรู้สึก ความคิดเห็นของประชาชนทุกระดับ"

การทิ้งท้ายด้วยประโยคนี้ มันให้ความรู้สึกเหมือนการต่อต้าน การไม่ยอมรับ และยังถือว่าตนเองทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งมันทำให้การขออภัยในข้อก่อนหน้านั้นลดความหมายลงไปมาก (อย่างน้อยในความรู้สึกผมนะครับ)

อย่าลืมหลักการของทฤษฎี Symbolic Interactionism นะครับ "คำพูดคน สะท้อนความคิด"

2. การสะท้อนความรู้สึกของประชาชน เป็นสิ่งที่ดี ไม่มีใครว่าอะไรหรอกครับ ถ้าทำอย่างรอบด้าน ถ้าไม่ได้เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ถ้าไม่ใช่ความคิดเห็นที่เกิดจากความเข้าใจผิด

3. แล้วปัญหาหลักของข่าวนี้ ก็ไม่ใช่การสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน แต่เป็นการใช้ข้อความที่ชี้นำให้ประชาชนเข้าใจผิด การฟันธงว่า "ไม่ได้มาจากตากใบจริง" หรือ "จับโป๊ะ" ที่หมายถึงการโกหกของรัฐบาล/เชฟ

4. อีกข้อหนึ่งที่ผมติดใจอยู่พอสมควรก็คือ ข้อ 1 ที่ระบุว่า "ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ อ.ตากใบ ด้วยความตั้งใจที่จะนำเสนอความภาคภูมิใจของชาวตากใบ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่เนื้อหานี้อยู่ตรงไหนในรายงานข่าวครับ? คำตอบคือไม่มี ในข่าวมีแต่เสียงบ่น การกล่าวหาว่าไม่ใช่ปลากุเลาตากใบ ถ้าข่าวนี้อยากนำเสนอความภาคภูมิใจจริง ต้องมีเนื้อหาที่แสดงถึงความเลื่องชื่อในรสชาติ หรือความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จนได้รับ GI แล้วค่อยจบด้วยคำถามว่า ต้องติดตามดูว่าจริงหรือไม่ ก็ยังพอได้ แต่เนื้อหาทั้งหมดคือการโจมตี จึงยากที่จะเชื่อได้ว่ามีความตั้งใจนำเสนอความภูมิใจของชาวตากใบ หรือว่าพอเห็นประเด็นใหม่ก็เปลี่ยนทันที?

5. แล้วเมื่อได้รับข้อมูลแล้ว ที่บอกว่าได้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว (ซึ่งก็เป็นการนำเสนอข้อมูลถูกต้องที่เน้นไปที่ข้อมูลที่ผิดมากกว่าถูก) แต่ข่าวที่ผิดพลาดก็ยังคงอยู่ จนผมมาเขียนโพสต์ตอนประมาณ 5 ทุ่ม ถึงได้เอาออก

จริงๆ ไทยพีบีเอสแค่ขอโทษในความผิดพลาดของตัวเอง (ข้อ 5-6) ก็พอแล้ว แต่นี่ต้องเกริ่นที่มา และพาดพิงความผิดของผู้อื่น (ผู้ประกอบการที่เข้าใจผิด และหน่วยงานรัฐที่ลงรูปผิด) ก็เลยทำให้ตนเองเข้าใจผิด ซึ่งก็เหมือนเป็นการย้ำความผิดตัวเองที่ไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนลงข่าว

ซึ่งตามคำชี้แจงของไทยพีบีเอสครั้งนี้ ทำให้ผมเพิ่งรู้ว่าข่าวที่ผิดพลาดนี้ได้นำไปออกอากาศในข่าวค่ำด้วย (คำชี้แจงข้อ 3) ก็แสดงว่าไม่ใช่เพียงแค่ข่าวออนไลน์ ที่ บก.และระบบตรวจสอบข้อมูลหายไปไหนไม่ทราบ แต่ข่าวค่ำก็ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลอีกชั้นหนึ่งเช่นกัน เอาข้อมูลเดียวกันมาออกอากาศได้เลย (ซึ่งผมอาจจะร้องเรียน กสทช.อีกช่องทางด้วย)

ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนเขียนคำชี้แจงนี้ แต่กลายเป็นว่าผมอ่านแล้วยิ่งมีคำถามมากกว่าเดิม รวมถึงคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบว่า "ไทยพีบีเอสจะรับผิดชอบอย่างไร?"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่




กำลังโหลดความคิดเห็น