กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สภาประชาชนภาคใต้ และสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ภาคใต้ ออกมาให้กำลังใจผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวปลากุเลาตากใบ หลัง ส.ส.ท.แสดงความรับผิดชอบไปก่อนหน้านี้ ชี้รัฐบาลใจแคบ ผิดพลาดเยอะ ก่อนหน้านี้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบปลากุเลาอย่างละเอียด วอนสังคมใจกว้างกว่านี้
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ศูนย์ข่าวไทยพีบีเอส ภาคใต้ ถนนปุณณกัณฑ์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สภาประชาชนภาคใต้ และสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ภาคใต้ รวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หลังจากองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส แถลงแสดงความรับผิดชอบกรณีการนำเสนอข่าว "ปลากุเลาเค็มตากใบ" โดยนายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มงานข่าว ขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าว และบรรณาธิการบริหารด้านข่าวรายวันและข่าววิเคราะห์ขอรับผิดชอบด้วยการให้ตัดเงินเดือนตนเองร้อยละ 10 เป็นเวลา 1 เดือน และผู้อำนวยการ ส.ส.ท.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้เกี่ยวข้อง ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวเรื่องปลากุเลาเค็มตากใบ (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) มีภารกิจที่ต่างจังหวัด จึงได้มีตัวแทนศูนย์ข่าวฯ มารับกระเช้าผลไม้แทน โดยตัวแทนสภาประชาชนภาคใต้รายหนึ่งเห็นว่าเรื่องนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใจแคบไปหน่อย เพราะสื่อทำหน้าที่ไป อาจจะผิดพลาดเรื่องเทคนิค แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ผิดพลาดเยอะ แค่รัฐบาลออกมาชี้แจงว่าผิดพลาดเรื่องเอาไวนิลของปัตตานีไปขึ้นแทน ถ้าเราเป็นคนดูคิดว่ารัฐบาลผิดพลาด แต่รัฐบาลเป็นผู้ใหญ่ ควรจะมีความใจกว้างมากกว่านี้ เท่าที่ติดตามไทยพีบีเอสก็ทำหน้าที่ยืนฝ่ายคนส่วนใหญ่ ตรงไปตรงมา ทำงานหนัก ครั้งนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็อยากจะให้กำลังใจให้ทำงานต่อไป รัฐบาลอยู่แล้วก็ไป แต่พวกตนอยู่อีกนาน เอาประชาชนและปัญหาเป็นตัวตั้ง เป็นช่องเดียวที่ไม่มีรายการประโลมโลกมอมเมาประชาชน
ด้านตัวแทนของศูนย์ข่าวไทยพีบีเอส ภาคใต้ กล่าวว่า ในฐานะพนักงานผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ต้องขอบคุณที่เข้าใจการทำงานหน้างานของผู้สื่อข่าวในพื้นที่ และโดยจรรยาบรรณของไทยพีบีเอสเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ส่วนช่องว่างที่เกิดขึ้นทางผู้บริหารพร้อมน้อมรับไปแก้ไข แต่ยืนยันในหลักการว่าเราทำงานพยายามให้รอบด้านมากที่สุด ขอบคุณที่เห็นถึงความตั้งใจและเห็นถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า เราพยายามเป็นสื่อกลางนำสภาพปัญหาข้อเท็จจริงในสังคมออกมาให้ประชาชนมากที่สุด ให้ประชาชนเป็นผู้รับข่าวสาร มองประชาชนเป็นพลเมืองที่จะต้องได้รับการยกระดับและพัฒนาต่อไป
ก่อนหน้านี้ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สภาประชาชนภาคใต้ พร้อมด้วยเครือข่าย 20 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลต้องค้นหาข้อเท็จจริงกรณีปลากุเลาตากใบ ก่อนที่ไทยพีบีเอสจะอ้างความรับผิดชอบ ระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ากรณีการนำปลากุเลาเค็มตากใบขึ้นโต๊ะอาหารผู้นำประเทศที่มาร่วมประชุมเวทีเอเปก 2022 ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. 2565 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว และปัญหาที่เกิดขึ้นนี้กำลังถูกปัดความรับผิดชอบของบางหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับสถานีฯ ไทยพีบีเอส โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยว่าเรื่องดังกล่าวนั้นมูลการหาผลประโยชน์จากคนบางกลุ่มจริงจนเป็นที่รับรู้ของบุคลากรในองค์กรดังกล่าว หากแต่หลังจากเป็นข่าวครึกโครม ได้มีความพยายามของคนในองค์กรนั้นสร้างหลักฐานและสร้างภาพว่ามีการสั่งปลากุเลาเค็มจากตากใบจริง ทั้งที่มีความย้อนแย้งกับคำบอกเล่าของประชาชนในพื้นที่ ตามที่สื่อมวลชนได้รายงานข่าว
การเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสศูนย์ข่าวภาคใต้ เป็นการเสนอไปตามคำสัมภาษณ์ของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่จริง ซึ่งมีข้อสังเกตในขณะนั้นว่าปลากุเลาที่รัฐบาลอ้างว่ามาจากตากใบนั้น เป็นของจริงหรือไม่ ถือเป็นการนำเสนอข่าวที่มีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสงสัยจริง อันเป็นสิ่งที่รัฐบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะต้องสืบหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัดความรับผิดชอบด้วยการโยนความผิดไปที่สำนักข่าว เสมือนเป็นการบิดเบือนข้อสงสัยของสังคมและของประชาชนในพื้นที่ ด้วยมีเงื่อนงำให้ชวนสงสัยอยู่หลายประการ แม้จะมีตัวแทนของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พยายามออกมายืนยันถึงที่มาที่ไปของปลากุเลาฯ ก็ตาม
สภาประชาชนภาคใต้ได้ติดตามเรื่องนี้รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงครั้งล่าสุดที่มีการลาออกของบรรณาธิการข่าวอาวุโส และมาตรการอื่นๆ ที่ผู้บริหารระดับสูงพยายามแสดงออกเพื่อให้กระแสกดดันจากสังคมลดลง ซึ่งอาจจะรวมถึงแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองด้วยนั้น พวกเราไม่เห็นด้วยนักกับการกระทำดังกล่าวของคณะผู้บริหารไทยพีบีเอส แต่ก็เคารพและเข้าใจถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุว่าการแสดงความรับผิดชอบที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการในลักษณะนี้นั้น ถือเป็นการตัดสินและยอมรับแล้วว่าการเสนอข่าวของเจ้าหน้าที่ (นักข่าว) ดังกล่าวนั้นเป็นความผิดพลาดจริง และยังนำไปสู่การสร้างความลำบากใจและกลายเป็นแรงกดดันกับเจ้าหน้าที่ผู้เสนอข่าวอย่างไร้ความเป็นธรรม และเชื่อว่าจะส่งผลต่อจิตใจและความเชื่อมั่นไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ของไทยพีบีเอสโดยรวมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
เราจึงมีข้อเรียกร้องให้ดำเนินการ ดังนี้ 1. รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการสั่งปลากุเลาตากใบ ที่จะต้องไปสืบค้นรายละเอียดในการสั่งและการจัดการทั้งหมดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างละเอียด เพื่อให้สังคมได้รู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 2. คณะผู้บริหารไทยพีบีเอสต้องทบทวนการแสดงความรับผิดชอบที่ผ่านมา โดยจะต้องรอผลการตรวจสอบตามข้อเรียกร้องเบื้องต้นเสียก่อน และหากมีความผิดจริงก็ขอให้ร่วมกันรับผิดชอบตามความเหมาะสม 3. สังคมจะต้องเปิดใจและเปิดกว้างต่อเรื่องนี้ ด้วยมีมูลเหตุและแรงจูงใจที่เป็นไปได้ว่าในเรื่องการหาประโยชน์จากการซื้อขายปลากุเลาฯ ทั้งยังพบว่ามีความพยายามที่จะปัดความรับผิดชอบของคนบางกลุ่มและบางหน่วยงาน เพื่อให้เขาพ้นข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ จึงหวังอย่างยิ่งว่าจะมีความเป็นธรรมเกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย
ขณะที่เฟซบุ๊ก Thapanee Eadsrichai ของ น.ส.ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว 3 มิติ ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้แชร์แถลงการณ์ดังกล่าว และระบุว่า "ในฐานะนักข่าวคนหนึ่ง เราไม่คิดว่าเรื่องนี้จะส่งผลให้องค์กรสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสจะมีท่าทีแบบนี้ เพราะยังไม่มีผลกรรมการสอบข้อเท็จจริงออกมา การที่ผู้บริหารออกมารับผิดแบบนี้ แสดงว่านักข่าวผิดไปแล้ว ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงยังไม่ได้ตรวจสอบหรือเปิดเผย ในฐานะที่เป็นนักข่าวที่เคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้ เราเชื่อมั่นเสมอว่าการที่นักข่าวที่ทำเรื่องนี้ต้องมีความมั่นใจในข้อมูลที่จะนำเสนอข่าว แต่ด้วยกระบวนการใดๆ หรือไม่ ที่ทำให้เรื่องของปลากุเลาสองตัวสั่นสะเทือนได้ถึงขนาดนี้ เราไม่อยากให้วงการข่าวต้องสูญเสียนักข่าวที่ดีคนหนึ่ง และอยากให้กำลังใจเพื่อนทำหน้าที่นักข่าวที่ต้องตรวจสอบรัฐได้อย่างตรงไปตรงมา ให้กำลังใจเพื่อนเสมอ"