xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก "เล็ก ชัยเลิศ" ที่ ปธน.ฝรั่งเศสยกย่องปกป้องช้างป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รู้จัก "แสงเดือน ชัยเลิศ" ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง จังหวัดเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นอัศวิน จากประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในฐานะผู้อนุรักษ์สัตว์และสิ่งแวดล้อมของโลก จากการดูแลช้างและสัตว์อย่างยาวนาน

วันนี้ (20 พ.ย.) เฟซบุ๊ก Emmanuel Macron ของนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โพสต์ภาพถ่ายคู่กับนางแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม พร้อมข้อความระบุว่า "เล็ก ชัยเลิศ คุณใช้เวลาตลอดชีวิตของคุณเพื่อป้องกันช้าง คุณทราบดีกว่าใครทั้งสิ้นว่าการอยู่รอดของช้างขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ที่ตั้งบนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างเล็กที่สุดกับใหญ่ที่สุด ขอบคุณสำหรับความมุ่งมั่นพันธสัญญาของคุณเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ"

ขณะที่เฟซบุ๊ก Saengduean Lek Chailert ตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษ มีใจความว่า "เรียนท่านประธานาธิบดี ดิฉันรู้สึกปลื้มปีติอย่างมากที่ได้เปิดโลกของฉันออกสู่ผู้คนในวงกว้าง ดิฉันมีเรื่องมากมายที่จะแบ่งปัน ข้อความของคุณไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คน แต่เสียงของคุณยังมีอิทธิพลต่อการคุ้มครองสัตว์และสิ่งแวดล้อมระดับโลกอีกด้วย ขอขอบคุณในนามของเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน"

ภาพดังกล่าวคาดว่าถูกถ่ายขึ้นเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่วังจักรพงษ์ ถนนมหาราช เขตพระนคร กรุงเทพฯ นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นอัศวิน (THE LEGION OF HONOUR) ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของสาธารณรัฐฝรั่งเศส แก่นางแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกย่องในฐานะเป็นผู้อนุรักษ์สัตว์และสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งนายมาครงให้ความสนใจการทำงานช่วยเหลือช้างและสัตว์มาอย่างยาวนาน และจะกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อชมชีวิตช้างที่ศูนย์อภิบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อย่างใกล้ชิด

สำหรับนางแสงเดือน ชัยเลิศ เป็นผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 400 ไร่ ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีช้างที่รับมาดูแลกว่า 80 เชือก ส่วนใหญ่เป็นช้างพิการ ช้างแก่ ช้างดุร้าย ที่ได้รับความทรมานจากการทำงาน และสัตว์ชนิดอื่น เช่น แมวจร สุนัข กระต่าย วัว ควาย รวมกว่า 1,200 ตัว ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็นหนึ่งในวีรสตรีแห่งเอเชียประจำปี 2548 จากบทบาทการทำงานด้านอนุรักษ์และให้ความช่วยเหลือช้างไทย และถูกรับเชิญจากผู้นำหลายประเทศ เพื่อบอกเล่าเรื่องการช่วยเหลือช้างและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องช้างป่า ช้างบ้านในหลายประเทศ

นางแสงเดือนเป็นชาวเขาเผ่าขมุ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เริ่มต้นเข้าทำงานช่วยเหลือช้างในภูเขา กระทั่งมีกลุ่มอาสาสมัครจากทั่วโลกที่ติดตามเข้าไปด้วย ถ่ายทำสารคดีเผยแพร่ในต่างประเทศ ทำให้มีชาวต่างชาติให้ความสนใจจำนวนมาก กระทั่งมีชาวอเมริกันรายหนึ่งซื้อที่ดิน 50 ไร่ ให้เปิดเป็นศูนย์บริบาลช้าง และได้รับการช่วยเหลือของอาสาสมัครเรื่อยมา ซึ่งที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเข้ามาเป็นอาสาสมัครดูแลช้างเป็นระยะ ซึ่งเต็มใจเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ส่วนคนไทยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีที่พักให้ 7 วัน และอาหารมังสวิรัติ โดยรายได้จำนวนนี้จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายศูนย์บริบาลช้างตกเดือนละกว่า 3 ล้านบาท

รายละเอียดศูนย์บริบาลช้าง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.elephantnaturepark.org








กำลังโหลดความคิดเห็น