ชื่อใหม่ ลูกเสือโคร่ง 4 ตัวของกลางที่จับได้เมื่อ 15 พ.ย. 65 เปลี่ยนจากชื่อที่เจ้าหน้าที่เรียกในวันแรกๆ “หุง-อุ่น-ต้ม-ตุ๋น” ให้มีความหมายจากจุดเกิดเหตุ ชายแดนไทย-ลาว และเป็นเสือที่เดินทางไปมาระหว่างประเทศ
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เปิดเผยว่า หลังจากที่ลูกเสือโคร่ง จำนวน 4 ตัว (เพศผู้ จำนวน 2 ตัว , เพศเมีย จำนวน 2 ตัว) ของกลางในคดีอาญา 1684/65 ยึดทรัพย์ 250 ที่ได้นำมาดูแลที่คลินิกสัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ซึ่งได้มีการพิจารณาร่วมกันกับทีมงานที่ได้ร่วมกับคณะทำงาน และได้ตั้งชื่อลูกเสือทั้ง 4 ว่า "น้องมุกดา น้องสะหวัน น้องข้ามโขง และน้องข้ามแดน"
ที่มาของชื่อมุกดา และ สะหวัน เป็นชื่อจังหวัดของประเทศไทย และจังหวัดของประเทศลาว ที่อยู่ตรงข้ามกัน ส่วนข้ามแดน และข้ามโขง เป็นชื่อของการที่ลูกเสือเดินทางไปมาระหว่างประเทศ
จากกระแสที่เรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อลูกเสือโคร่งของกลาง หลังได้รับการช่วยเหลือให้รอดชีวิต จากกลุ่มผู้ค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ เมื่อเช้ามืด (15 พ.ย.ที่ผ่านมา) โดยได้ข้อสรุปจากการพิจารณาร่วมกับทีมงานที่ได้ร่วมกับคณะทำงานซึ่งให้ความช่วยเหลือลูกเสือทั้ง 4 ได้สำเร็จ
ตัวที่ 1 เพศเมีย (หุง) น้องมุกดา
ตัวที่ 2 เพศเมีย (อุ่น) น้องสะหวัน
ตัวที่ 3 เพศผู้ (ตุ๋น) น้องข้ามโขง
ตัวที่ 4 เพศผู้ (ต้ม) น้องข้ามแดน
ด้าน นายธีระยุทธ วงศ์ไพเสริฐผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยเกี่ยวกับการดูแลลูกเสือโคร่งทั้ง 4 ว่า ตอนนี้นำมาดูแลที่คลินิกสัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เบื้องต้นลูกเสือยังปกติ ปัจจุบันต้องอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
ล่าสุด สพ.ญ.คชรินทร์ ราชสินธุ์นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ กล่าวว่า ลูกเสือทั้ง 4 ตัว มีพฤติกรรมร่าเริง อุณหภูมิร่างกายปกติ ปัสสาวะปกติ อุจจาระเหลว และได้ทำการชั่งน้ำหนักประจำวัน โดยน้องมุกดา หนัก 3.385 kg. น้องสะหวัน หนัก 4.050 kg. น้องข้ามโขง หนัก 4.090 kg. และน้องข้ามแดน หนัก 4.030 kg. ทั้ง 4 ตัว กินนมผงชนิด KMR ทุก 2-3 ชั่วโมง (การกินปกติ)
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เสือทั้งหมดน่าจะเป็นเสือเลี้ยง เพราะคุ้นกับคนและขี้อ้อน เมื่อหย่านมและกินเนื้อได้ อาจจะย้ายไปที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ จ.ศรีสะเกษ
สำหรับความผิดกรณีค้าและครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิดลูกเสือโคร่ง จำนวน 4 ตัว พร้อมอุปกรณ์การกระทำผิดดังกล่าว มีความผิดตามมาตรา 17 ฐาน “มีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี” มีอัตราโทษตามมาตรา 92 จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และมาตรา 29 ฐาน “ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษตามมาตรา 89 จำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 23 ฐาน “ผู้ใดจะนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี” มีอัตราโทษตามมาตรา 93 จำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประกอบมาตรา 112 และ มาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
อ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช