xs
xsm
sm
md
lg

เพจหมอ สรุป 10 ข้อทำความรู้จักกับเชื้อโรค RSV พร้อมเผยวิธีรักษาอาการเบื้องต้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "หมอปอดสรุปให้" โพสต์อธิบาย 10 ข้อ ทำความรู้จักกับเชื้อโรค RSV พร้อมเผยวิธีรักษาอาการเบื้องต้น แนะผู้ปกครองควรสอนลูกว่าอย่าเอามือไปจับหน้าจะดีที่สุด

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. เพจ "หมอปอดสรุปให้" โพสต์อธิบาย 10 ข้อ ทำความรู้จักกับเชื้อโรค RSV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยระบุข้อความว่า "1. เชื้อ RSV ย่อมาจาก respiratory syncytial virus เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ

2. จริงๆ มีไวรัสอีกมากมายที่ทำให้ก่อโรคได้เช่นกัน RSV เป็นเพียง 1 ในไวรัสเหล่านั้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเด็กที่ป่วยเป็นหวัดทั้งหมด จะตรวจเจอ RSV ประมาณ 13%

3. เชื้อไวรัส RSV มักจะกลับมาระบาดทุกปีในช่วงปลายหน้าฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม

4. แม้ว่าลูกเราจะป่วยเป็น RSV แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะมีเพียง 1-2% เท่านั้นที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
- เด็กที่มีความเสี่ยงสูงในการจะติดเชื้อแล้วเป็นรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน, เด็กที่คลอดก่อนกำหนด, เด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง, เด็กที่มีโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, เด็กที่มีโรคตับและเด็กที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- แล้วถ้าลูกเราไม่มีความเสี่ยง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรพาลูกไปนอนโรงพยาบาลหรือไม่? คำตอบจะอยู่ในสไลด์ถัดๆ ไปจ้า

5. เชื้อ RSV มันจะเข้าในร่างกายทาง ตา จมูก หรือปาก ทำให้ติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน อาการเริ่มต้นจึงเริ่มจาก น้ำมูก ไอ ตัวร้อน

6. ในเด็กส่วนมาก อาการก็จะอยู่เพียงแค่ทางเดินหายใจส่วนต้น และสุดท้ายก็อาจจะหายป่วยได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงปอดทุกราย

7. แต่เด็กบางคนที่โชคไม่ดีทำให้เชื้อ RSV วิ่งลงไปติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งได้แก่หลอดลมและเนื้อปอด ทำให้มีอาการไอเยอะ หายใจเร็วและแรงซึ่งสังเกตได้จากจมูกบานและหน้าอกบุ๋ม หรือบางคนอาจจะเหนื่อยมากจนซึม รับประทานได้น้อยลง

8. อย่างที่บอกไปตอนแรก ว่าเด็กส่วนมากอาการจะอยู่เพียงแค่ทางเดินหายใจส่วนบนเท่านั้น จึงไม่ได้จำเป็นที่ต้องไปนอนโรงพยาบาลทุกคน แล้วคนไข้อาการแบบไหนล่ะที่ควรจะต้องไปนอนโรงพยาบาล

- อันดับแรกเลย คือ คนไข้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ แม้ว่าจะอาการไม่ได้เยอะก็ควรจะต้องไปให้แพทย์ตรวจและพิจารณาการนอนโรงพยาบาล [ทวนกลุ่มเสี่ยงอีกครั้ง ได้แก่ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน, เด็กที่คลอดก่อนกำหนด, เด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง, เด็กที่มีโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, เด็กที่มีโรคตับและเด็กที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด]

- ถ้าลูกเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว อาการอื่นๆ ที่ควรไปพบแพทย์ ได้แก่ 1.  หายใจเร็ว แรงจนอกบุ๋ม จมูกบาน 2. ไข้สูงเกิน 38 องศาเป็นเวลาหลายวัน 3. ปลายมือปลายเท้าเริ่มซีด เขียว หรือม่วง 4. รับประทานได้น้อยกว่าเดิมมาก สังเกตจากปัสสาวะเริ่มมีปริมาณลดลงกว่าปกติ

9. ถ้าลูกเราไม่ได้มีอาการที่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล การรักษาที่บ้านสามารถทำได้ดังนี้
- *** สำคัญมากที่สุดในเด็ก กาดาวล้านดวง คือเรื่องของเสมหะเหนียวและอุดตัน ดังนั้น ต้องดื่มน้ำหรือนมให้เพียงพอหรือมากกว่าปกติเล็กน้อยก็ได้ และถ้าบ้านไหนมีเครื่องทำความชื้นก็สามารถเปิดช่วยได้ เพราะน้ำไม่พอ จะทำให้เสมหะเหนียว แห้ง และอุดตันทางเดินหายใจในเด็ก ทำให้หายใจไม่ออก [ทางเดินหายใจในเด็กมีขนาดที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ จึงอุดตันได้ง่าย]
- ถ้ามีไข้ให้เช็ดตัวลดไข้ หรือรับประทานยาลดไข้ช่วยได้ [พวกแผ่นแปะหน้าผากไม่ค่อยช่วยลดไข้นะ]
- ถ้ามีน้ำมูกเด็กเล็กให้ใช้ลูกยางแดงดูดออกได้ ส่วนเด็กโตที่ให้ความร่วมมือได้ให้ล้างจมูกช่วยได้

10. วิธีป้องกันการติดเชื้อ ให้ท่องไว้เสมอ ว่าเชื้อมันแพร่กันทางสิ่งคัดหลั่ง การไอ การจาม และเชื้อโรคมันจะเข้าทาง ตา จมูก และปาก
- ดังนั้น ควรสอนลูกว่าอย่าเอามือไปจับหน้าจะดีที่สุด
- เวลาไอหรือจามก็อย่าใช้มือไปปิดปาก แต่ให้ไอใส่ข้อพับแทน
- สอนให้ลูกหลีกเลี่ยงการเล่นกับเด็กที่ป่วย
- สอนลูกให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือถ้าไม่มีน้ำสบู่ก็สามารถใช้ Gel alcohol ได้ แต่ความเข้มข้นต้องเกิน 60% ขึ้นไปนะ"




กำลังโหลดความคิดเห็น