เรื่องโดย ณัฐภัทร ร่มธรรม นักวิชาการอิสระ ด้านการเกษตร
เป็นเรื่องธรรมดา...ที่ผู้บริโภคมองหาสินค้าราคาถูก เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋า หากที่ใดมีสินค้าราคาพิเศษมาวางจำหน่ายย่อมดึงดูดความสนใจได้ทันที เช่นเดียวกับ “เนื้อหมู” อาหารโปรตีนหลักที่คนไทยนิยมบริโภค แต่ในสถานการณ์ที่มี “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้ามาปะปนวางขายในทุกพื้นที่ทั่วไทย ก็จำเป็นต้องตั้งสติ พิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อมารับประทาน เพราะเนื้อหมูราคาถูกกว่าท้องตลาดเหล่านั้นอาจแฝงมาด้วยอันตรายที่มากัดกร่อนสุขภาพ ในขณะที่ผู้ค้าก็ไม่ควรเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เพราะหมูลักลอบนำเข้านั้นแฝงทั้งสารปนเปื้อน และเต็มไปด้วยเชื้อโรคมาทำลายอุตสาหกรรมหมูไทย
นับตั้งแต่ที่การเลี้ยงหมูไทยได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรค ASF จนปริมาณหมูในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูปรับเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ จึงมีผู้ฉกฉวยโอกาสด้วยการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูและชิ้นส่วนจากต่างประเทศ เข้ามาขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดค่อนข้างมาก ดึงดูดให้ประชาชนเข้าไปซื้อเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในภาวะที่ต้องรัดเข็มขัด ทั้งที่แท้จริง แม้ผู้บริโภคต้องการเนื้อหมูราคาถูก แต่ก็ต้องการเนื้อหมูที่ปลอดภัยด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าผู้ขายย่อมไม่บอกว่าเป็นเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้า
ดังนั้น ผู้บริโภคต้องคิดก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง เพราะหมูราคาถูกอาจเป็น “หมูเถื่อน” ที่แทบทั้งหมดเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ บางส่วนเป็นสินค้าหมดอายุ หรือผลิตข้ามเดือน หรือข้ามปี สังเกตได้จากวันผลิตที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ที่จับได้ ซึ่งเนื้อหมูเหล่านี้อาจเป็นสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานหรือการตรวจคุณภาพจากประเทศต้นทาง เปรียบเสมือนของเหลือทิ้ง จึงได้ขายออกมาในราคาถูกเช่นนี้ ที่สำคัญ ประเทศผู้ผลิตยังไม่เข้มงวดกับสารตกค้าง ทั้งสารเร่งเนื้อแดง และยาปฏิชีวนะ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย
เชื่อว่า เมื่อทราบถึงที่มา และผลกระทบที่อาจได้รับจาก “หมูเถื่อน” ผู้บริโภคก็ไม่ตัดสินใจซื้อมารับประทานแน่นอน แต่ในสถานการณ์ที่หมูเถื่อนระบาดไปทุกหนแห่ง การเลือกซื้อเนื้อหมูที่ปลอดภัยอันดับแรกต้องพิจารณาราคา ถ้าต่ำกว่าท้องตลาดมากๆ ต้องหลีกเลี่ยง เพราะอาจมีหมูเถื่อนปะปนขาย และต้องเลือกซื้อจากผู้ประกอบการ หรือแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ โดยมองหาสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเนื้อหมูปลอดภัยไร้สารตกค้างตรวจสอบแหล่งที่มาได้ มาจากกระบวนการผลิตที่ถูกสุขอนามัย
ที่สำคัญ “ผู้ค้า” ต้องไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งบางรายมองว่าหมูเถื่อนเป็นการเพิ่มทางเลือกลดค่าครองชีพให้แก่ผู้บริโภค โดยมองข้ามความถูกต้องเพราะการขายหมูเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการรับซื้อของโจร หนำซ้ำเวลาขายก็ไม่ได้บอกถึงที่มาว่าเป็นเนื้อหมูลักลอบ หมูนำเข้าเก่าเก็บ และอาจมีสารตกค้างอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคที่ต้องการอาหารปลอดภัย “ผู้ค้า” ต้องหยุดขาย “หมูเถื่อน” ที่ทั้งเสี่ยงนำเชื้อโรคเข้ามาทำลายหมูไทย และยังเป็นการแย่งตลาดกับผู้เลี้ยงที่กำลังแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงถึงกิโลกรัมละ 98-100 บาท แต่ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มตามประกาศยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาทเท่านั้น เมื่อต้องเผชิญกับหมูเถื่อนแย่งตลาดก็ยิ่งบั่นทอนกำลังใจ ไม่กล้าลงทุน ส่งผลให้การเลี้ยงหมูไทยที่อยากให้กลับมาฟื้นฟูกำลังการผลิตเป็นไปได้ยาก ตัดโอกาสที่อุตสาหกรรมหมูไทยจะมีปริมาณเพียงพอ และผู้บริโภคเข้าถึงเนื้อหมูคุณภาพได้ในราคาที่เหมาะสม
“หมูเถื่อน” จึงเป็นภัยร้ายของชาติ ที่ภาครัฐต้องเร่งปราบปรามให้เด็ดขาด ทั้งกรมปศุสัตว์ที่เร่งกวาดล้างอยู่สม่ำเสมอ และกรมศุลกากรที่เริ่มตรวจจับเข้มงวดได้แล้ว ต้องสืบสาวจัดการไปถึงตัวการใหญ่ให้ได้ ส่วนผู้ค้าก็อย่าหวังกำไรจากส่วนต่างราคาเพียงอย่างเดียวแล้วมาทำร้ายคนไทย ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ต้องไม่เห็นแก่ของถูก และหันมาเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านหรือผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐานและตรวจสอบย้อนกลับได้ สุดท้ายคือ ประชาชนที่ต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตาไม่ปล่อยผ่านหากพบการกระทำผิดให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐทันที เพื่อจัดการปัญหาหมูเถื่อนที่กำลังทำร้ายอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย กระทบต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร และสุขอนามัยของคนไทยให้ได้โดยเร็วที่สุด