xs
xsm
sm
md
lg

ปราบหมูเถื่อน "ทัพหน้า" ต้องเด็ดขาด จับให้ได้ไล่ให้ทัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปุจฉา-วิสัชนา เหตุไฉนข้าราชการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าผิดกฎหมายจึงปล่อยผ่านหมูเถื่อนออกมาเพ่นพ่านในตลาดสด และโพสต์ขายในโซเชียลได้อย่างอิสรเสรีเหมือนกฎหมายเป็นแค่แผ่นกระดาษ ประกาศไว้ให้รู้ว่ามีแล้วเก็บใส่ลิ้นชักโดน “พักงาน” ตรงนี้เป็นคำถามฝากท่านเจ้ากรม สอดส่องดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ให้การตรวจสอบสินค้าเป็นไปตามอำนาจที่ได้รับตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและโปร่งใส...ท่านกวดขัน สั่งการให้เด็ดขาดได้หรือไม่?

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน-กันยายน 2565) มีคำถามว่า การตรวจพบหมูเถื่อนที่ท่าเรือแหลมฉบัง มีกี่ครั้ง จับหมูได้กี่กิโลกรัม และดำเนินการถึงที่สุดแล้วกี่ราย มีการประเมินสถานการณ์เรื่องนี้อย่างไรบ้าง? ที่พบในข่าวเสมอคือการจับกุมหมูผิดกฎหมายที่ห้องเย็นซึ่งเป็นสถานที่รับฝากสินค้า หรือจับได้ระหว่างขนส่งจากท่าเรือฯ ไปยังห้องเย็นในจังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม เป็นต้น แค่ดำเนินการตามกฎหมายกับห้องเย็น หรือคนขับรถส่งสินค้าก็ปิดคดี แต่กลับสาวไปไม่ถึงตัวผู้บงการ


เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า ทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ที่มีความรับผิดชอบร่วมกันในการปราบปรามหมูเถื่อน ต่างมีฝ่ายสืบสวนเป็นของตัวเองเพื่อหาเบาะแสสินค้าผิดกฎหมาย หรือเนื้อสัตว์ห้ามนำเข้ามาในประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เข้ามาได้ มีกรมศุลกากรเป็น “ทัพหน้า” แต่ที่ผ่านมาไม่มีสักครั้งที่จับได้ ณ ด่านแหลมฉบัง หรือ ด่านชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน และไม่มีการเปิดเผยชื่อเจ้าของสินค้า ทำเงียบๆ กันไป เพราะเจ้าภาพไม่ร้อง ถือเป็นการปิดคดีโดยปริยาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถสืบสวนต่อจนสุดทางถึงผู้กระทำผิดตัวจริงได้ คืออะไร?

หมูเถื่อน สืบสาวราวเรื่องกันมาตั้งแต่ต้นปี ครั้งไทยประกาศพบโรคระบาด ASF ซึ่งมีพวกประสงค์ร้ายหวังเก็งกำไรจากราคาเนื้อหมูที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 จึงเก็บกักสต๊อกหมูไว้ในห้องเย็น แต่หลังจากทางการเร่งตรวจจับห้องเย็นถี่จนสร้างความกลัวให้แก่พวกเก็งกำไร จนต้องคายหมูออกมาสู่ตลาดจนหมดหน้าตักในช่วงเดือนมีนาคม 2565 จนเริ่มเข้าเมษายน จึงเห็นสถานการณ์ขาดแคลนจริงๆ เพราะราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มพุ่งแรง ราคาขายปลีกเนื้อแดงปรับขึ้นไปเกิน 200 บาทต่อกิโลกรัม สะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริง กลายเป็นลู่ทางให้ผู้ร้ายลักลอบนำเข้าหมูมาสวมเป็นหมูไทยออกอาละวาด ภาครัฐทำแค่ปราบปรามกันเป็นกระเซ็นกระสาย...เหมือนเปิดช่องให้หมูเถื่อนมาวิ่งบนทางหลวงได้


ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศสุดทนกับความเฉื่อยชา และผลกระทบจากหมูเถื่อนขยายวงกว้างขึ้น รวมตัวกันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 จี้ให้เร่งปราบ เพราะโรงเชือดชะลอซื้อหมูจากเกษตรกร แต่รับหมูจากที่ไหนไม่รู้มาชำแหละแทน ทำลายความมั่นใจของเกษตรกรและสุขอนามัยที่ดีของผู้บริโภค สื่อมวลชนตีแผ่ข่าวช่วยเกษตรกร เท่านั้นแหละเหมือนเรี่ยวแรงมาจากไหนไม่ทราบ การตรวจสอบและจับกุมลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง แต่อย่าเพิ่งดีใจขอให้จับตาดูต่อไปว่าลานที่ไขไว้จะหมดลงเมื่อไหร่

อีกหนึ่งสาเหตุที่ปลุกให้การปราบปรามกลับมาคึกคักอีกครั้ง แบบจับกุมตอนสาย บ่ายแถลงข่าวพร้อมของกลาง คือ เหตุการณ์หลังกรมปศุสัตว์สั่งเด้งฟ้าผ่า ข้าราชการหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ที่รับผิดชอบท่าเรือแหลมฉบัง เซ่นหมูเถื่อน จนมีการเร่งจับอีกครั้งที่มุกดาหาร วันที่ 13 ตุลาคม 2565 เป็นการจับกุมระหว่างขนส่งและทำลายของกลางทันที ไม่ต้องรอสอบสวนเจ้าของที่แท้จริง ทำแบบนี้ แล้วเมื่อไหร่จะดำเนินคดีต่อต้นตอได้


วันนี้เห็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่กรมปศุสัตว์รับผิดชอบ ซึ่งกรมปศุสัตว์ โดยกองสารวัตรและกักกัน ได้เข้มงวดในการปฏิบัติงานตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านราชอาณาจักร นับเป็นเรื่องดีที่จะทำให้การปราบปรามมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนติดต่อกับเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย มีเจ้าหน้าที่ชุดสุนัขดมกลิ่นปฏิบัติงานในพื้นที่สนามบิน เพื่อตรวจค้นหาซากสัตว์ (ซากสุกร) ซึ่งหากพบผู้กระทำผิดต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาดและถึงที่สุดไม่ละเว้นให้แก่ผู้ใดทั้งสิ้น

สุดท้ายเป็นคำขอของเกษตรกร ถึงแม่ทัพใหญ่ “กระทรวงการคลัง” ขอให้สั่งการเป็นเด็ดขาดต่อทัพหน้า “กรมศุลกากร” ให้การทำลายล้างหมูเถื่อนต้องสาบสูญ เพื่อบำบัดทุกข์ของผู้เลี้ยงหมู ให้ขายหมูได้ราคาเหมาะสมไม่ขาดทุน และลดโอกาสการแพร่เชื้อโรค ASF ที่จะติดมากับหมูเถื่อน และบำรุงสุขของผู้บริโภคไทยทั้งประเทศ ให้ปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดงและสารปนเปื้อนอื่นๆ

เรื่องโดย พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์
กำลังโหลดความคิดเห็น