xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเตือน “หมูเถื่อน” อาจปนเปื้อนทั้งเชื้อดื้อยาและสารตกค้างที่มากกว่าสารเร่งเนื้อแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น หัวหน้าศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้าสู่ประเทศไทยที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งถึงปัจจุบันว่ากำลังส่งผลให้มีปริมาณหมูที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพที่รวมถึงเเบคทีเรียก่อโรค สารตกค้างหรือสารปนเปื้อนต่างๆ เข้ามากระจายสู่ผู้บริโภคชาวไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคไทย

“นอกเหนือจากอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่หลายประเทศต้นทางหมูเถื่อนอาจยังมีการอนุญาตให้ใช้ได้ ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผล นับเป็นอีกปัจจัยอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้เนื่องจากประเทศต้นทางหมูเถื่อน เช่น บางประเทศในแถบอเมริกาใต้ ยังคงมีการนำโคลิสตินซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกสุดท้ายสำหรับมนุษย์ มาใช้ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมและป้องกันโรค และอาจทำให้เชื้อดื้อยาโคลิสตินปะปนมาในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงผู้บริโภคได้” ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์กล่าว

เชื้อดื้อยา คือแบคทีเรียที่สามารถต่อต้านยาปฏิชีวนะ ทำให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเหล่านี้ไม่ได้ผลดีดังเดิม อาจต้องใช้เวลารักษานานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงขึ้น หรือผู้ป่วยอาจเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น แม้สาเหตุหลักประการหนึ่งของเชื้อดื้อยาจะมาจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของผู้ป่วยเอง เช่น การซื้อยาปฏิชีวนะใช้เอง หรือการกินยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง แต่ผู้บริโภคอาจได้รับเชื้อดื้อยาจากการบริโภคเนื้อสัตว์ได้เช่นกัน ดังนั้นการเลือกบริโภคเนื้อหมูที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างถูกต้อง จะลดโอกาสติดเชื้อดื้อยาและป้องกันการสะสมสารตกค้างในร่างกายได้อีกด้วย

ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญต่อกระบวนการเลี้ยงสัตว์ภายใต้ความปลอดภัยทางอาหาร ควบคู่การจัดการตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อให้สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ดี ปลอดภัย รวมถึงสิ่งแวดล้อมปลอดภัยด้วย ดังเช่น ผู้ผลิตอาหารของไทยที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงการลดปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในคนและในสัตว์ จะยกเลิกรายการยารักษาสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มยาต้านจุลชีพที่ใช้ได้ทั้งในคนและในสัตว์ (share-class antimicrobials) โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะที่เป็นทางเลือกสุดท้ายที่ใช้รักษาโรคในคน เช่น โคลิสติน ออกจากระบบ และหันไปมุ่งเน้นวิธี “ป้องกันโรค” ให้สัตว์เลี้ยงในฟาร์มแทน ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ทั้งในสัตว์และในคนไปพร้อมกัน

“กระบวนการเลี้ยงสุกรของไทย มีขั้นตอนการตรวจสอบแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษที่สำคัญและสารตกค้าง ทั้งที่ฟาร์ม โรงชำแหละ จนถึง ณ จุดขาย เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคที่จะได้บริโภคเนื้อหมูที่ปลอดภัย ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงหมูเถื่อนที่ลักลอบเข้าประเทศไทยโดยปราศจากการตรวจโรคหรือสารตกค้างใดๆ ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือพิจารณาง่ายๆ จากจุดจำหน่ายที่มีสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK รวมถึงการสังเกตว่าเนื้อหมูนั้นต้องไม่มีราคาถูกผิดปกติ ซึ่งจะมีความเป็นไปได้ว่าเป็นผลผลิตที่มาจากหมูเถื่อน” ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์กล่าวทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น