xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์” ยกเคสโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายเป็นกรณีตัวอย่างอีกครั้ง หลังจากสร้างทางสัตว์ข้ามเขาใหญ่-ทับลาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ยกเคสเรื่องโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลาเป็นกรณีตัวอย่างอีกครั้งของไทย หลังจากเคยลงทุนสร้างทางสัตว์ข้ามที่เขาใหญ่-ทับลาน เผยตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มทำงานกันแล้ว

หลังจาก ครม.มีมติก่อสร้าง "สะพานข้ามทะเลสาบสงขลาและสะพานเชื่อมเกาะลันตา" ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลผลกระทบโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายที่ทะเลสาบสงขลา

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ต.ค. เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์รายงานความคืบหน้าระบุว่า "อัปเดตเรื่องโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย ในทะเลสาบสงขลา ผมทำภาพนี้มาเพื่อให้เพื่อนธรณ์เข้าใจง่ายขึ้นครับ

ทะเลสาบสงขลาแบ่งเป็น 3 ส่วนง่ายๆ ทะเลสาบอยู่ล่างสุดติดกับเมืองสงขลาและเปิดสู่ทะเล ทะเลหลวงใหญ่สุด/น้ำจืด ทะเลน้อยอยู่บนสุด/เล็กสุด เป็นแหล่งดูนกน้ำ ภาพนี้เน้นทะเลหลวง อันเป็นแหล่งที่อยู่ของโลมาในน้ำจืดฝูงเดียวของไทย ผมนำข้อมูลจากกรมทะเลมาใช้ โลมาใหญ่คือจุดที่สำรวจพบบ่อยสุด โลมาเล็กคือโซนที่พบบ่อยรองลงมา สุดท้ายคือเส้นตรงพร้อมตัวเลข 6.58 กม. นั่นคือสะพานที่วางแผนจะสร้าง จากตำบลจองถนน พัทลุง ข้ามไปตำบลเกาะใหญ่ สงขลา ความยาวสะพานตามนั้นเลย ความกว้าง 14.5 เมตร ช่องลอด 120 เมตร

แน่นอนว่าสะพานมีประโยชน์ต่อผู้คน ร่นระยะทางได้กว่า 80 กม. ลดเวลาได้ราว 2 ชั่วโมง (ตัวเลขจากกรมทางหลวงชนบท) ทำให้คนชายทะเลและชายทะเลสาบเชื่อมต่อกัน ทว่า เราเป็นห่วงโลมา เพราะเหลือน้อยเต็มที หากเป็นอะไรมันจะยากมากที่ทดแทนได้ (ยากมาก = เป็นไปแทบไม่ได้) แม้สะพานจะไม่ทับแหล่งหลักที่เจอโลมา แต่พวกเธออาจว่ายผ่านมาได้ ยังหมายถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับปลาที่เป็นอาหาร ฯลฯ เรื่องแบบนี้จึงต้องรอบคอบครับ

เมื่อโครงการผ่าน ครม. กรมทางหลวงชนบทกับกรมทะเลจึงทำงานร่วมกัน โดยกระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาโลมาใกล้สูญพันธุ์ในทะเลสาบสงขลา คณะดังกล่าวมีท่านอธิบดีทั้งสองกรมเป็นประธานร่วม มีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน รวมถึงกรมประมง และมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอก

เป้าหมายไม่ใช่แค่ดูผลกระทบจากสะพาน ยังกว้างกว่านั้น นั่นคือหาทางว่าเราจะช่วยโลมาได้อย่างไรในทุกวิถีทาง เพราะปัจจุบันมีผลกระทบด้านต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อกรณีนี้กลายเป็นที่สนใจและเป็นตัวอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงแหล่งทุนโลก จะทำอะไรต้องรอบคอบ ไม่งั้นปัญหาจะไม่จบแค่โลมา แต่ยังรวมถึงอนาคตในการกู้เงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในที่อื่นๆ

ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มทำงานกันแล้ว ผมคิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี มีการพูดถึงการจัดทำแหล่งทุน แก้ปัญหางบประมาณปกติไม่เพียงพอ แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่า ปัญหาที่สะสมมา จนโลมาลดจาก 30+ ตัวเมื่อสิบกว่าปีก่อน จนเหลือไม่ถึงครึ่ง มันไม่ใช่เรื่องแก้ง่ายๆ (ข้อมูลกรมทะเล) เอาเป็นว่า จะพยายามในส่วนที่เกี่ยวข้อง แม้ทราบดีว่ามันเป็นงานสุดหิน

จะมาอัปเดตอีกเรื่อยๆ เพื่อให้เพื่อนธรณ์ทราบ เพราะสำหรับผมแล้ว นี่ถือเป็นกรณีตัวอย่างอีกครั้งของไทย หลังจากเราเคยลงทุนสร้างทางสัตว์ข้ามที่เขาใหญ่-ทับลาน ประเทศต้องพัฒนา คนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่หากการพัฒนาเข้าไปในพื้นที่ใด เราคงต้อง “ลงทุน” เพื่อทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นด้วยครับ"




กำลังโหลดความคิดเห็น