กรมทางหลวงชนบท หารือ”กรมทรัพยากรฯ” ตั้งคณะทำงานจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทะเลสาบสงขลา พร้อมวางมาตรการรักษาชีวิตฝูงโลมาอิรวดี ในระหว่างการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา วงเงิน 4,841 ล้านบาท
กรมทางหลวงชนบท เร่งหารือร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อหาแนวทางดำเนินการร่วมกันในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศึกษา และวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ในระหว่างเตรียมการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – ตำบลเขาถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เพื่อป้องกันผลกระทบในระหว่างการก่อสร้างสะพานฯ ตามนโยบายของรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ที่ห่วงใยผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้กำชับให้ ทช. เร่งหารือแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขยายพันธุ์โลมาอิรวดี รวมถึงฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในบริเวณทะเลสาบสงขลาให้มีความยั่งยืน
รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 ได้มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาฯ โดยได้แสดงความห่วงใยผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ประสานการดำเนินโครงการฯ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา และมอบหมายให้ ทส. กำหนดแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และขยายพันธุ์โลมาอิรวดี รวมถึงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบสงขลาให้มีความยั่งยืน
ทั้งนี้ นายอภิรัฐ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท จึงได้มอบหมายให้นายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ รักษาการวิศวกรใหญ่ ด้านสำรวจและออกแบบ เข้าพบนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไข อนุรักษ์ และฟื้นฟู ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า จะดำเนินการตั้งคณะทำงานจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณทะเลสาบสงขลา โดยมีอธิบดีกรมทางหลวงชนบทและอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นประธานคณะทำงานร่วมกัน เพื่อวิจัย อนุรักษ์ และฟื้นฟูในการแก้ไขปัญหาการสูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี และผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ทช. ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในด้านการก่อสร้างสะพานฯ ได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลมาอิรวดี ในระหว่างการก่อสร้าง คือ
1. ก่อนทำการก่อสร้างฐานราก จะมีการใช้ปลอกเหล็ก (Steel Casing) เพื่อใช้เป็นผนังกั้นน้ำ รวมถึงจะติดตั้งม่านดักตะกอน (Silt Protector) เพื่อล้อมรอบบริเวณการก่อสร้างไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนและวัสดุก่อสร้างสู่ทะเลสาบ และลดผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดี
2. จัดตั้งทีมงานเพื่อเฝ้าระวัง หากพบโลมาอิรวดีจะให้หยุดการก่อสร้างไว้ก่อน รวมทั้งจะวางทุ่นแจ้งเตือนหากโลมาอิรวดีเข้ามาใกล้พื้นที่เขตก่อสร้าง เพื่อผลักดันให้โลมาอิรวดีกลับไปยังแหล่งหากินทางตอนเหนือที่ได้กำหนดให้เป็นเขตคุ้มครอง นอกจากนี้ยังได้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังโลมาอิรวดีบริเวณสะพานช่วงหลัก (บริเวณสะพานขึง) ซึ่งเป็นบริเวณทางด้านทิศเหนือของแท่นก่อสร้างชั่วคราว หากพบว่ามีการเข้ามาใกล้ในพื้นที่เฝ้าระวังจะมีการแจ้งเตือนให้ฝ่ายก่อสร้างรับทราบทันที โดยการใช้สัญญาณเสียงแตรลมและโทรศัพท์
3. จะเพิ่มพื้นที่แหล่งอาหารของโลมาอิรวดี โดยจะประสานกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้จัดทำบ้านปลาประเภทซั้งเชือก จำนวน 20 ชุด เพื่อให้สัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอาหารของโลมาอิรวดี
4. จะติดตั้งอุปกรณ์สำรวจเครื่องบันทึกเสียงใต้น้ำ (Acoustic Servey) เพื่อเก็บตัวอย่างคลื่นเสียงโลมาอิรวดีในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร พร้อมอุปกรณ์เชื่อมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นเสียงของโลมาอิรวดี
ในระยะดำเนินการ จะติดตามตรวจสอบการแพร่กระจายของโลมาอิรวดี ด้านทิศเหนือของพื้นที่สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ความถี่ในการตรวจสอบ 2 ครั้ง ต่อ 1 ปี คือเดือนเมษายนและเดือนพฤศจิกายน เพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมโลมาอิรวดี
สำหรับการอนุรักษ์โลมาอิรวดีและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณทะเลสาบสงขลา เพื่อวิจัย อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศึกษาพฤติกรรม รวมถึงเพาะพันธุ์เพื่อแก้ไขปัญหาการสูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี ต่อไป
โดยโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาฯ มีวงเงินค่าก่อสร้าง 4,841 ล้านบาท โดยในส่วนของค่าก่อสร้างมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณเป็น 70 : 30 และเมื่อก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาแล้วเสร็จจะสามารถลดระยะทางระหว่าง อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตรและลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที
นอกจากนี้จะสามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน – อ่าวไทย พร้อมทั้งเชื่อม 3 จังหวัดคือ ตรัง พัทลุง และสงขลา รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทาง และหากเกิดภัยพิบัติจะสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2566 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรภายในปี 2569 ต่อไป