ดร.ธรณ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ห่วงโลมาอิรวดี 14 สุดท้ายได้รับผลกระทบจากการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา หวังทุกภาคส่วนทำให้ดีที่สุด เพื่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย
จากกรณี ครม.มีมติก่อสร้าง "สะพานข้ามทะเลสาบสงขลาและสะพานเชื่อมเกาะลันตา" ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลผลกระทบโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายที่ทะเลสาบสงขลา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thon Thamrongnawasawat" เป็นห่วงโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะมีการก่อสร้าง โดยได้ระบุข้อความว่า
"เรื่องโลมาอิรวดี #14 ตัวสุดท้ายกลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อ ครม.มีมติให้สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา สะพานดังกล่าวอาจต้องกู้เงินจากธนาคารโลก ซึ่งเป็นห่วงเรื่องโลมาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ผมจึงอยากมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังครับ เริ่มจากสถานการณ์โลมา เล่าแบบสรุปเพราะเคยเขียนหลายหนแล้ว โลมาอิรวดีมีทั้งในทะเลและในน้ำจืด หากเป็นน้ำจืดมีเหลือแค่ 5 แห่งในโลก ในทะเลสาบสงขลาวิกฤตสุดเพราะมีเพียง 14 ตัว ธนาคารโลกและองค์กรระหว่างประเทศเป็นห่วงโลมาเพราะประเด็นนี้ เพราะน้องๆ ไม่ใช่สำคัญแค่ไทย พวกเธอสำคัญระดับซูเปอร์แรร์ในโลก
ปริมาณโลมาลดลงมาตลอด จนเหลือแค่นี้ เพราะปัญหาหลักคือผลกระทบการประมง อาจมีเรื่องเลือดชิด/ตื้นเขิน แต่ยังเป็นเรื่องรอง (ข้อมูลกรมทะเล) สะพานไม่ได้สร้างทับแหล่งโลมาโดยตรง แต่อาจมีผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น สภาพแวดล้อม อาหาร เสียงก่อสร้าง ฯลฯ เราคงฟันธงไม่ได้ว่าสร้างสะพานแล้วโลมาจะหมดจากทะเลสาบ เพราะไม่สร้างก็อาจจะหมดอยู่ดี
แต่เราก็ฟันธงไม่ได้เช่นกันว่าสร้างสะพานจะไม่ส่งผลกระทบเลย และผลเพียงน้อยนิดก็อาจเสี่ยงทำให้โลมาสูญพันธุ์จากทะเลสาบง่ายขึ้น แต่กรณีนี้มันไม่ใช่การเถียงกันว่าจะเอาสะพานดีหรือโลมาดี เพราะเจ้าของเงินกู้คือธนาคารโลกเป็นห่วงในเรื่องนี้ ว่าง่ายๆ คือหากอยากกู้เงินมาสร้าง จะยังไงก็ตาม ต้องทำทุกทางให้ดีที่สุดเพื่อโลมา ผมดีใจที่ทุกคนที่เสนอทางออกล้วนหวังดีต่อโลมา แต่เรื่อง 14 ตัวสุดท้าย ไม่มีคำตอบง่ายๆ
การอนุรักษ์สัตว์ที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จนตกอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์จากพื้นที่ มันเป็นเรื่องยากมากๆ แม้ในต่างประเทศ
นั่นคือเหตุผลที่องค์กรระหว่างประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเขาไม่อยากเสียชื่อเสียงหากเงินที่ให้กู้มาทำให้โลมาหมดไป โดยเฉพาะในโลกยุคเขียวสุดขีดเช่นยุคนี้ สองวันมานี้ผมคุยกับหลายท่าน ทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง กระทรวงทรัพยากรฯ ที่เกี่ยวกับการดูแล ธนาคารโลกที่ให้ทุน จนถึงทีมทำสารคดีจาก Thaiwhale ผู้ลงพื้นที่ถี่ยิบ รวมถึงสื่อต่างๆ ที่อยากได้คำตอบ การหาทางออก มิใช่ตอบได้ในทันใด นั่นคือสิ่งที่ผมเน้นเสมอ อ่าวมาหยาไม่ได้สำเร็จในพริบตา สัตว์สงวนใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะสำเร็จ งานบางอย่างต้องใช้เวลา ต้องใช้ความรอบคอบ ต้องใช้ข้อมูลเพียงพอ ต้องและต้องอะไรอีกหลายอย่าง เพื่อให้ไม่พลาด เพราะถ้าพลาด มันหมายถึงเผ่าพันธุ์หนึ่งสูญพันธุ์จากพื้นที่แห่งหนึ่งไปตลอดกาล โลมาอิรวดีในน้ำจืดของโลก จาก 5 แห่งจะเหลือเพียง 4 แห่ง และแห่งที่หายไปคือเมืองไทย มันอาจไม่สำเร็จ เพราะมันยากมาก แต่สำคัญสุดคือเราพยายามเต็มที่หรือยัง เราทุ่มสุดตัวหรือเปล่า? อย่างไรก็ตาม ผมถือว่าเราเริ่มต้นได้ดี
ท่านนายกฯ รมต.คมนาคม คลัง และทรัพยากรฯ ล้วนพูดถึงเรื่องโลมา ทำให้ตอนนี้โลมาอิรวดีแห่งทะเลสาบสงขลาเป็นที่สนใจ
ยังทำให้เราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ยุคนี้การพัฒนากับการอนุรักษ์เชื่อมต่อกันจริงจังขนาดไหน สัตว์หายาก/ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างไร ทำไม่ดี ไม่สนใจ ก็ไม่มีใครให้กู้เงิน ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างสะพานในโครงการนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เปลี่ยนข้ออ้างว่าเพื่อเศรษฐกิจปากท้อง เราจะทำอะไรก็ได้ กลายเป็นเพื่อเศรษฐกิจปากท้อง เราอาจจำเป็นต้องทำ แต่ต้องทำให้ดีที่สุด ลงทุนให้ดีที่สุด เพื่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อ #14สุดท้าย เพื่อโอกาสสุดท้ายของเรากับโลมาน้ำจืดฝูงสุดท้ายของประเทศไทย"