ครั้งแรกในภาคอีสาน สำหรับงาน LAB FUTURE & BIO EXPO 2022 ที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนเเก่น (KICE) ซึ่งถือเป็นงานเครื่องมือแล็บ และไบโอเทค ระดับภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ เป็นการปักหมุดขยายโอกาสเติบโตเครื่องมือแล็บ และไบโอเทคของภาคอีสานสู่มาตรฐานและเศรษฐกิจใหม่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
สำหรับ LAB FUTURE & BIO EXPO 2022 เป็นงานแสดงเทคโนโลยี เครื่องมือและบริการ เคมีภัณฑ์และสารมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อการพัฒนาและการลงทุนสำหรับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะเป็นการพลิกโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอีสาน
ล่าสุดคณะผู้จัดงาน ประกอบด้วยขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ โดยบริษัท แอดลิบ แมเนจเม้นท์ จำกัด ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า 40 องค์กร ได้ออกมาตอกย้ำเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมงานสุดยิ่งใหญ่ในครั้งนี้กันอีกครั้งก่อนงานจะเริ่มขึ้น
ศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละศูต ผู้อำนวยการสำนักงาน สมาพันธ์สมาคมสัตวแพทย์แห่งเอเชีย กรุงเทพฯ กรรมการกลางสามัญ สัตว์แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงวิถีสุขภาพหนึ่งเดียว นโยบายระดับโลก ความท้าทายเกี่ยวโยงเรื่องอาหาร เกษตรและสาธารณสุข หลังโควิด-19 ว่า ในช่วงเกิดโรคระบาดที่ผ่านมานั้นทำให้เราเห็นแล้วว่ามันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และอีสานนั้นมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง ซึ่งมี 6 ประเทศรายรอบและวันนี้ก็มีการคมนาคมที่เชื่อมต่อกันได้รวดเร็วและโรคระบาดก็แพร่มาได้เร็ว
ดังนั้น เราต้องคิดแบบองค์รวม การที่คนเราป่วยก็เพราะสัตว์ป่วย สิ่งแวดล้อมป่วย สุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health เป็นแนวคิดการร่วมมือกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค เตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้มาจากสัตว์ และเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และภาคอีสานก็มีศักยภาพในเรื่องวัตถุดิบเรื่องการเกษตร อาหาร ปศุสัตว์ การแพทย์ ที่สามารถสร้างมูลค่าแข่งขันกับต่างชาติได้ การจัดงานครั้งนี้ จะเป็นการนำเอานักวิชาการ จากทุกส่วนในภาคอีสาน มาพบปะกับภาคธุรกิจ ซึ่งจะต่อยอดงานวิจัยที่ดีมีคุณภาพออกไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ภาคธุรกิจ และตลาดต่อไป
นายสุวรรณ พงษ์สังข์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ใครที่ครอบครองเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จะเป็นผู้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตมนุษย์ นำมาใช้ตรวจหาโรคภัย อย่างเช่นการตรวจหาเชื้อโควิด หรือนำไปใช้กับสัตว์เศรษฐกิจในอีสาน เช่น สุกร โค กระบือ ปลา ในการคัดหาแม่พันธุ์และบำรุงพันธุ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลสินค้า งานนี้จัดที่ภาคอีสานเป็นครั้งแรก ถือเป็นเวทีที่รวมเอาเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ หน่วยงานของรัฐผู้คุมกติกา มารวมกันพบปะกัน จับมือกันต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคอีสานไปตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปถึงการส่งออก จึงอยากเชิญชวนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมงานนี้ครับ
นายกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ กล่าวว่า วันนี้เรื่องของไบโอเทค กลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว บังเอิญเราทำตรงนี้มานานพอสมควรแล้ว และโฉมใหม่อนาคตอีสานนั้น จะมีศักยภาพมากพอที่จะแข่งขันได้ในระดับโลกได้แน่นอน อีสานยังเป็นแหล่งรวมนักวิชาการด้านอาหาร และการแพทย์ และเป็นแห่งวัตถุดิบด้านอาหาร และยา เนื่องจากอีสานมีพื้นที่เพาะปลูก 43% ของประเทศ อีสานยังเป็นภูมิภาคที่มีประชากรคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่กำลังอยู่ในวัยศึกษา และการทำเรื่องนวัตกรรมต้องเน้นไปทำกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ และอีสานมีเรื่องของวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งที่สามารถต่อยอดสำหรับงานวิจัยและพัฒนาได้ อยากเชิญนักลงทุนไปงานนี้ครับ
นายธีรยุทธ์ ลีลาขจรกิจ ผู้อำนวยการ บริษัท แอดลิบ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ทำไมเริ่มมาจัดงานที่ขอนแก่น เรามองขอนแก่นเป็นภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงกับจังหวัดต่างๆ ฐานประชากรกว่า 22 ล้านคนใน 20 จังหวัดภาคอีสาน และกว่า 326 ล้านคนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ และมองถึงโอกาสการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางด้านไบโอเทคในลุ่มน้ำโขง ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมและห้องปฏิบัติการฯ ความสามารถของนักวิจัย และการสนับสนุนงบประมาณวิจัยและพัฒนา ทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะทำให้อีสานมีธุรกิจต่อเนื่องด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยที่มากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
ถามว่าแล้วตอบโจทย์นโยบายภาครัฐไหม เชื่อว่าการมีงานแสดงเทคโนโลยีทางห้องแล็บจะช่วยเพิ่มคุณภาพและงบประมาณงานวิจัย นำไปสู่การค้นพบนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น เราจึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อสร้างเป็นชุมชนให้ทุกคนที่สนใจเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน วิเคราะห์ทดสอบ ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ หรือ การพัฒนาธุรกิจ การลงทุน มาพูดคุยกัน ในแง่มูลค่าตลาดเครื่องมือแล็บ อีสานครองสัดส่วนการตลาดอันดับ 2 ของประเทศ มูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท และยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี เนื่องจากความเจริญ การคมนาคมที่เชื่อมโยงเกิดขึ้นรอบภูมิภาคนี้ จึงอยากให้ผู้ปฏิบัติงานทางห้องแล็บและผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมงานนี้ พร้อมชมเทคโนโลยีและเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการฯ จากทั่วโลก นวัตกรรมห้องแล็บแห่งอนาคต งานประชุมสัมมนากว่า 40 หัวข้อ ตลอด 2 วันของการจัดงาน ที่ศูนย์ประชุมฯ ไคซ์ ขอนแก่น