เส้นเลือดขอดคืออะไร?
เส้นเลือดขอดเกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณผิวหนังขยายขนาดจากภาวะความดันในหลอดเลือดดำสูงอย่างต่อเนื่อง โดยระยะต้นจะเห็นเป็นร่างแหสีแดงขนาดเล็ก ต่อมาจะมีการขยายขนาด และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมม่วง ในผู้ป่วยบางรายมีเห็นเป็นขดหลอดเลือดขนาดใหญ่บริเวณขา โดยเฉพาะบริเวณน่อง และใต้เข่า
อาการของเส้นเลือดขอด?
อาการของเส้นเลือดขอดที่พบบ่อย คือ มีเส้นเลือดโป่งนูนบริเวณขา ปวดเมื่อยบริเวณน่อง ขาบวม ขาล้า หนักขา โดยจะมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อยืน หรือเดินเป็นระยะเวลานาน บางรายอาจมาด้วยอาการผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ตะคริว ผิวหนังหนาดำคล้ำ หรือแผลเรื้อรังที่ขา
เส้นเลือดขอดป้องกันได้อย่างไร?
การใส่ถุงน่องแรงดันระดับต่ำ (ความดัน 10 มิลลิเมตรปรอท) ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องยืนหรือเดินเป็นระยะเวลานาน การเปลี่ยนท่าทางขณะนั่ง หลีกเลี่ยงการนั่งห้อยขาเป็นระยะเวลานาน หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงหรือกางเกงรัดรูป กิจกรรมเหล่านี้สามารถลดอาการ และการลุกลามของโรคเส้นเลือดขอด นอกจากนี้ การใช้เก้าอี้เตี้ยรองขาขณะนั่ง และการยกขาสูงก่อนนอนสามารถช่วยบรรเทาอาการของเส้นเลือดขอดได้
เส้นเลือดขอดมีกี่ระยะ?
โรคเส้นเลือดขอดสามารถแบ่งตามความรุนแรงได้เป็น 6 ระดับ
ระยะที่ 1 พบเส้นเลือดขอดขนาดเล็กคล้ายร่างแหบริเวณขา (Reticular vein, Spider vein)
ระยะที่ 2 พบเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ขึ้น (Varicose vein)
ระยะที่ 3 จะมีอาการขาบวม (Leg edema)
ระยะที่ 4 ผิวหนังบริเวณข้อเท้ามีสีดำคล้ำขึ้น เริ่มมีผิวหนังบาง แข็ง (Hyperpigmentation, Lipodermatosclerosis)
ระยะที่ 5 มีแผลหายแล้วที่ขา (Healed ulcer)
ระยะที่ 6 มีแผลเรื้อรังที่ขา (Active ulcer)
เส้นเลือดขอดแบบไหนที่ต้องมาพบแพทย์?
โดยส่วนใหญ่แล้วโรคเส้นเลือดขอดในระยะต้นมักเป็นปัญหาทางความสวยงาม ลดความมั่นใจของผู้ป่วยที่ต้องการสวมกระโปรงสั้น หรือรบกวนคุณภาพชีวิต แต่หากเป็นระยะหลังอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพได้ เช่น อาการปวดเมื่อย ขาบวม ตะคริว ผิวหนังหนา ดำคล้ำ และแผลเรื้อรังที่ขา หากท่านมีอาการดังกล่าวควรพบหมอหลอดเลือดเพื่อรับคำปรึกษา
การรักษาเส้นเลือดขอด
การรักษาเส้นเลือดขอดมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ การสวมถุงน่องทางการแพทย์ การฉีดสารสลายเส้นเลือดขอด การใช้เลเซอร์ การผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดผ่านสายสวน ซึ่งการรักษาแต่ละรูปแบบจะมีข้อดี และข้อจำกัดแตกต่างกัน โดยแพทย์จะทำการตรวจและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของโรค และเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย
หากท่าน หรือคนใกล้ชิดมีเส้นเลือดขอด หรือมีอาการของเส้นเลือดขอดสามารถเข้ารับการปรึกษากับหมอหลอดเลือดที่โรงพยาบาลใกล้บ้านท่านได้ครับ
บทความโดย ผศ.นพ.เทิดภูมิ เบญญากร ศัลยแพทย์หลอดเลือด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ