xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์สนั่นเซอร์วิสชาร์จ ถึงกับแนะไม่จ่ายได้ไหม สคบ.แนะถ้าคิดเกิน 10% แจ้งมาได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวเน็ตแห่แชร์บทความจาก สคบ. หัวข้อ "Service charge ไม่จ่ายได้ไหม" หลังกระแสเซอร์วิสชาร์จกำลังมา ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุ ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะไม่จ่าย และทางร้านไม่มีสิทธิ์เรียกเก็บ อีกด้านพบเสียงวิจารณ์ร้านอาหารที่คิดเซอร์วิสชาร์จ ถึงกับตั้งคำถามว่า ร้านที่ไม่ควรคิดเซอร์วิสชาร์จ

วันนี้ (3 ต.ค.) ชาวเน็ตได้เผยแพร่บทความจากเว็บไซต์ ocpb.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หัวข้อ "Service charge ไม่จ่ายได้ไหม" ระบุว่า "การรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นกิจกรรมที่ทุกคนคงเคยทำ บางครั้งที่ไปรับประทานอาหารในโรงแรม ในห้าง หรือตามร้านอาหารใหญ่ๆ อาจเจอของแถมเป็นค่า service charge แต่เดี๋ยวนี้กับร้านอาหารธรรมดาบางร้านก็คิด ซึ่งบางท่านอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องจ่าย เพราะไม่ได้รับบริการอะไรเป็นพิเศษจากทางร้านอาหาร แถมบางร้านเป็นแบบให้ลูกค้าบริการตัวเองอีกต่างหาก ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็มีประเด็นร้อนในโลกสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ผู้บริโภคจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ service charge กัน

service charge คือ ค่าบริการที่ผู้ประกอบการขายสินค้านั้นๆ คิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ เป็นรายได้ที่นำมาแบ่งให้แก่พนักงานบริการในแต่ละเดือน ถือเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของพนักงาน ทีนี้อาจมีคำถามต่อไปว่า หากพนักงานให้บริการไม่เป็นที่พอใจ ลูกค้าสามารถขอค่า service charge คืนได้ไหม จริงๆ แล้วสถานที่ที่คิด service charge แพงเกินจริง หาเหตุผลไม่ได้ ภาครัฐมี พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ มาตรา 29 ควบคุม โดยระบุว่า ถ้าผู้ประกอบการขายจำหน่ายสินค้าในลักษณะทำให้เกิดความปั่นป่วน สร้างกลไกการตลาดบิดเบี้ยว ราคาเกินจริง โดยชี้แจงสาเหตุที่เรียกเก็บราคาสูงเกินจริงไม่ได้นั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนอัตราการเรียกเก็บ service charge ที่เหมาะสม ตามกฎหมายที่กรมการค้าภายในกำกับอยู่คือ ต้องไม่เกิน 10% เนื่องจากเป็นอัตราราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบตามสากลและยอมรับได้ ซึ่งแม้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะไม่ได้พูดถึงเรื่อง service charge โดยตรง แต่ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการค้าภายในคือ ประกาศ เรื่อง การต้องแสดงราคาสินค้าหรือบริการ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่า ราคาสินค้าและบริการ ต้องแสดงราคาต่อหน่วย มีตัวเลขเป็นภาษาใดก็ได้ แต่ขอให้มีอารบิกอยู่ด้วย ทั้งนี้ ข้อความต้องเป็นภาษาไทย ในลักษณะที่เห็นชัดเจน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย เพื่อจะแสดงให้ผู้บริโภคทราบก่อนการตัดสินใจที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ สิ่งนี้คือหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจในการขายสินค้า ถ้าไม่มีแสดง หรือมีแต่อ่านไม่ชัด ไม่ครบถ้วนก็มีความผิด คือโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

ประเด็นสำคัญคือ ร้านอาหารมีหน้าที่ต้องติดป้ายแสดงทุกอย่างให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้า ไม่ใช่แค่ราคา แต่หมายถึง service charge ด้วย อาจจะระบุไว้ในเมนูอาหาร หรือติดประกาศบริเวณหน้าร้านก็ได้ซึ่งยังไม่มีข้อบังคับที่ชัดเจนว่าต้องระบุไว้ในตำแหน่งใด แต่ตำแหน่งนั้นผู้บริโภคต้องสามารถมองเห็นชัดเจน หากไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วน นับว่ามีความผิด และผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเพราะร้านไม่ได้แสดงไว้

โดยสรุป หากผู้ประกอบการแสดงความชัดเจนเรื่อง service charge กับเราแล้ว เราก็ต้องชัดเจนในการตัดสินใจของตัวเองตั้งแต่เลือกเข้าร้านว่ายินดีจ่ายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นร้านเก็บ service charge เกิน 10% หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่มีการชี้แจงที่สมเหตุสมผล รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 หรือสายด่วน สคบ. 1166 ซึ่งนอกจากการแจ้งภาครัฐแล้ว มาตรการทางสังคม การเผยแพร่เรื่องราวหรือคำเตือนให้กับสังคมก็ถือเป็นสิ่งที่มีพลัง สร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมไปถึงผู้ประกอบการให้ปรับตัวได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน"

อ่านบทความต้นฉบับ คลิกที่นี่

ขณะที่เฟซบุ๊ก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โพสต์ข้อความระบุว่า "SERVICE CHARGE!

Q : ร้านอาหารสามารถเก็บค่า service charge ลูกค้าได้ไหม

A : ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่า service charge และทางร้านไม่มีสิทธิ์ในการเรียกเก็บ

*พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เราไปร้านอาหาร เราไปซื้ออาหาร หลังจากที่เราสั่งอาหาร ถือว่าการตกลงซื้อขายได้เกิดขึ้นแล้ว

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ Fb : Chakaraht Phromchittikhun

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 65 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก @Chakaraht Phromchittikhun ออกมาโพสต์ไขข้อสงสัย ให้กับคนที่กำลังถกเถียงกันว่า สรุปแล้วเซอร์วิสชาร์จ จำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ โดยได้ข้อสรุปที่น่าสนใจในข้อความระบุว่า ‘ผมได้ปรึกษาทนาย ว่าร้านอาหารสามารถเก็บค่า service charge ลูกค้าได้ไหม จากการระดมสมองของกลุ่มทนายมือดี 6 คน เพื่อค้นหาและวิเคราะห์ข้อกฎหมายต่างๆ ปรากฏว่า ลูกค้ามีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่า service charge และทางร้านไม่มีสิทธิในการเรียกเก็บ ผมพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เราไปร้านอาหาร เราไปซื้ออาหาร หลังจากที่เราสั่งอาหาร ถือว่าการตกลงซื้อขายได้เกิดขึ้นแล้ว และกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการกินอาหาร ก็มีแค่พนักงานนำอาหารมาเสิร์ฟให้เรา การเรียกเก็บค่า service charge 10% จึงไม่มีความเป็นธรรม เพราะไม่ได้มีบริการเสริมใดๆ ขึ้นมาจากการเสิร์ฟอาหารปกติ และต่อให้มีบริการอะไรที่เพิ่มเป็นพิเศษ ลูกค้าก็ต้องมีสิทธิเลือกว่าจะซื้อบริการนั้นหรือไม่

และผมได้ปฏิเสธการจ่ายค่า service charge มาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทุกร้านจะเรียกผู้จัดการร้านมาคุยกับผม ผมได้ตอบกลับไปทุกรายว่า คุณมีสิทธิอะไรมาคิดเงินผมเพิ่มอีก 10% นอกเหนือจากค่าอาหาร ผมท้าให้ฟ้องร้องเป็นคดีตัวอย่างเลย ให้ศาลตัดสินเป็นคดีแรกของประเทศไทยไปเลย เพื่อจะได้ลงหน้า 1 ไทยรัฐ คนไทยทั้งประเทศจะได้เลิกถูกเอาเปรียบจากนายทุน ปรากฏว่า ไม่มีร้านไหนกล้าเก็บค่า service charge ผมแม้แต่ร้านเดียว โดยทางผู้จัดการร้านบอกว่าครั้งนี้จะอนุโลมให้เป็นพิเศษ ผมสวนกลับไปทันทีว่า พรุ่งนี้ผมก็จะมากินอีก แล้วก็จะไม่จ่ายค่า service charge เช่นเดิม ให้ทางร้านเตรียมทนายมาด้วยเลยก็ได้

ตลอด 2 เดือน หลังจากที่ไม่ต้องจ่ายค่า service charge 10% ทำให้ผมมีเงินในกระเป๋าเหลือมากขึ้นจนน่าตกใจ ผมมาคิดๆ ดู ตลอดชีวิตผมเสียค่าโง่พวกนี้ไป น่าจะเป็นรถยนต์คันหนึ่งได้เลย หรือถ้านำไปลงทุนในกองทุนรวม เงินก้อนนี้คงกลายเป็นล้านไปแล้ว บางร้านถึงกับคิดค่าบริการสุดโหด 15-20% ก็มีในหลายๆ ร้านในกรุงเทพฯ

หลังจากอ่านกระทู้นี้จบ ขอให้ทุกคนปฏิเสธการจ่ายค่าบริการในทุกกรณี เพราะทางร้านไม่มีสิทธิมาเก็บกับเรา เด็กเสิร์ฟคือลูกจ้างของร้าน และกฎหมายกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าจ้าง ไม่ใช่ผลักภาระมาให้ลูกค้าเป็นคนจ่าย ร้านค้าบางร้านหัวหมอ ใช้จุดอ่อนด้านต่อมคุณธรรมของคนไทย โดยบอกว่าค่าบริการจะทำให้พนักงานเสิร์ฟมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เปิดคางมาแบบนี้ ผมสวนด้วยอัปเปอร์คัตกลับไปทันทีว่า ถ้าคุณอยากให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ขึ้นเงินเดือนให้พวกเขาเป็นเดือนละแสนสิ มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผมเลย ถ้าวันนี้ผมไม่เป็นคนเริ่ม สังคมไทยต่อไปลำบากแน่ เพราะร้านอาหารมันจะได้ใจ และอาจขึ้นค่าบริการไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งค่า service charge อาจแพงกว่าอาหาร เช่น ข้าวผัดกุ้งจานละ 80 ค่าบริการ 100 บาท คนไทยถูกเอาเปรียบจนคิดว่ามันคือเรื่องปกติ ถ้าใครมองว่าการจ่ายค่าบริการ 10% เป็นเรื่องปกติ และชอบด้วยเหตุผลแล้ว ผมแนะนำว่าคุณควรทบทวนตัวเองแล้วว่าคุณคงถูกเอาเปรียบจนกลายเป็นเรื่องปกติรึเปล่า

เรื่องนี้ถึงอย่างไรก็ผิดกฎหมาย และเรามีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะไม่จ่าย ผมอยากให้ร้านอาหารฟ้องผมเหลือเกิน จะได้เป็นคดีตัวอย่างไปเลย และมั่นใจว่าผมชนะแน่นอน หลังจากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่จบจากอเบอร์ดีน (แหล่งผลิตนักกฎหมายระดับท็อปของโลก) เขาให้เหตุผลไว้อย่างน่าฟัง ว่า…ถ้าเรื่องนี้ศาลตัดสินให้ผู้บริโภคแพ้คดี สิ่งที่ตามมาก็คือ ทุกๆ ธุรกิจจะหันมาเก็บค่าบริการบ้าง เช่น ร้านถ่ายเอกสาร เก็บค่าบริการเพิ่มอีก 10% เพราะเขาต้องเอามือหยิบกระดาษจากเครื่องส่งให้คุณ ร้านขายของชำ จะเก็บค่าบริการเพิ่มอีก 10% เพราะเขาต้องให้พนักงานหยิบของใส่ถุงให้คุณ มันมีอะไรแตกต่างจากร้านอาหาร ที่แค่ยกอาหารมาเสิร์ฟให้ลูกค้า

ถ้าร้านอาหารสามารถเก็บได้ ธุรกิจอื่นๆ ก็เก็บได้เช่นกัน กฎหมายไม่เปิดช่องให้ร้านอาหารสามารถมาเรียกเก็บค่าบริการจากเราได้ ส่วนใครที่ประทับใจในการบริการ คุณสามารถให้เป็นทิปแก่พนักงานได้ เพราะทิปมันถึงพนักงานแน่นอน และเป็นการให้ด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ถูกมัดมือชกแบบ service charge

#บริการมัดมือชก
#กฎหมายชี้ผิด
#ทนายความฟันธง
#มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

ขณะที่ชาวเน็ตต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร้านอาหารที่คิดค่าเซอร์วิสชาร์จ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความว่า "ร้านที่ไม่ควรคิดเซอร์วิสชาร์จ 1. B..." (เป็นร้านไก่ทอดเกาหลีชื่อดังเจ้าหนึ่ง) ทำเอาชาวเน็ตต่างแชร์กว่า 1.5 หมื่นครั้ง พร้อมกับวิจารณ์เรื่องการบริการในช่วงที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น