xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์แพทย์ ม.มหิดลแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากร่างกายได้รับ "สารพิษอันตราย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ได้ออกมาให้ข้อมูลวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากร่างกายได้รับ "สารพิษอันตราย" ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1. การกิน 2. การสูดดม และ 3. การสัมผัส

หลังจากเกิดเหตุสารเคมีโรงงานย้อมผ้า ย่านพุทธมณฑลสาย 7 ตำบลขุนแก้ว รั่วไหล จึงส่งผลให้เกิดกลิ่นสารเคมีฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณพื้นที่และส่งผลกระทบทำให้โรงเรียนและชุมชนได้รับความเดือดร้อน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.ย. เพจ "Mahidol Channel" ได้ออกมาให้ข้อมูลจาก รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกาย เช่น การกิน การสูดดม การสัมผัส โดยระบุว่า "สารพิษเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้อย่างไร โดยหลักๆ แล้วสารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายคนเราผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1. การกิน 2. การสูดดม และ 3. การสัมผัส

ซึ่งการสัมผัสนั้นอาจเป็นการสัมผัสทางผิวหนัง สัมผัสเข้าสู่ตาหรือเยื่อบุอื่นๆ

สารพิษที่เรามีโอกาสจะสัมผัส ส่วนใหญ่อาจจะเป็นสารที่อยู่ในบ้านของเรา เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน อย่างน้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างท่อ (โซดาไฟ) นอกจากนั้น อาจเป็นกลุ่มยาฆ่าแมลงที่ใช้ตามบ้าน เช่น ยาฆ่ามด ยาฆ่ายุง หรือยาฆ่าปลวก

หากเป็นการใช้ทางด้านเกษตรกรรม การใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้าก็จะมีเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นสูง นอกจากนั้น ถ้าประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม ก็มีโอกาสที่สัมผัสสารเคมีได้ อีกประเภทหนึ่งก็คือ กลุ่มคนไข้ที่ตั้งใจทำร้ายตัวเองโดยการกินยา หรือสารเคมีเกินขนาด ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ป่วยจะได้รับสารพิษได้

1. เมื่อได้รับสารพิษผ่านการกิน

ถ้าเราได้รับสารพิษโดยวิธีการกิน ถ้ามีอาการผิดปกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

หากมีอาการรุนแรง เช่น ซึม หมดสติ หรือแน่นหน้าอก หายใจติดขัด ให้โทร.เบอร์ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อให้มีทีมรถพยาบาลมาดูแลที่จุดเกิดเหตุ

กรณีที่สารพิษอาจจะเปื้อนเสื้อผ้า หรือเปรอะเปื้อนตามผิวหนัง ระหว่างที่เรารอรถพยาบาลมา เราอาจถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยเพื่อลดการสัมผัสกับตัวผู้ป่วย อาจจัดผู้ป่วยให้นอนตะแคงเพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ เพื่อรอรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

วิธีการที่ไม่แนะนำ

ไม่ควรล้วงคอ หรือทำให้อาเจียนด้วยวิธีการอื่น เช่น การกินไข่ขาว ให้น้ำ หรือนมในปริมาณมากๆ เพื่อหวังเจือจาง เพราะสารพิษบางชนิด หากยิ่งทำวิธีการเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดพิษต่อผู้ป่วยมากขึ้น

และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้ เพราะฉะนั้น ต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงวิธีการต่างๆ เหล่านี้

2. เมื่อได้รับสารพิษสัมผัสเข้าสู่ตาหรือทางผิวหนัง

วิธีการปฐมพยาบาลในกรณีนี้ ให้เปิดน้ำหรือล้างตาด้วยน้ำที่ไหลผ่านตลอด เช่น สายยางเพื่อล้างตาตลอดเวลา กรณีที่ล้างในภาชนะ อาจทำให้สารพิษลงไปในอ่าง เมื่อเราลืมตาก็อาจจะได้รับสารพิษต่อเนื่อง

เน้นว่า ล้างด้วยน้ำที่ไหลผ่าน เพื่อชำระล้างเอาสารพิษออก จนกว่ารู้สึกว่าอาการระคายเคืองลดลง

หรือถ้าโทร. 1669 แล้วรถพยาบาลยังไม่มา ให้เราล้างจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง

3. เมื่อได้รับสารพิษผ่านการสูดดม

โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแก๊ส วิธีการปฐมพยาบาล คือ ต้องนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีสารพิษนั้น คำแนะนำก็คือ ผู้ที่เข้าไปช่วยผู้ป่วยจะต้องมีอุปกรณ์การป้องกันตัวที่พร้อมก่อน

บางกรณีที่เราจะเห็นข่าว คือ คนลงไปทำความสะอาดบ่อเกรอะ เมื่อคนแรกลงไป แล้วคนที่สองลงไปก็หมดสติตาม เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดในบริเวณนั้นมีก๊าซพิษ แล้วเราเข้าไปช่วยคนไข้ก็อาจจะได้รับก๊าซพิษด้วย

เราอาจจะต้องประเมินสถานที่ที่เราจะเข้าไปเพื่อนำตัวผู้ป่วยออกมาว่าปลอดภัยหรือไม่

วิธีการที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทั่วไปคือ โทร. 1669 อย่าเข้าไปในบริเวณที่มีสารพิษนั้น เพราะจะทำให้เราได้รับสารพิษด้วย ให้บุคลากรทางการแพทย์มาช่วยชีวิตผู้ป่วยจากบริเวณนั้นจะดีที่สุด

กรณีที่เรามีสารเคมีอยู่ในบ้าน
อาจจะเป็นกรด ด่าง หรือสารกัดกร่อนที่เรารู้ว่าน่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือต่อร่างกาย ต้องแยกเก็บสารเคมีกลุ่มนี้อยู่ในภาชนะเฉพาะ ไม่แนะนำให้ใช้ภาชนะที่ใส่อาหารไปบรรจุสารเคมีเหล่านี้

และที่สำคัญคือ “เก็บให้พ้นมือเด็ก” เพราะมีโอกาสที่เด็กจะเข้าไปหยิบ สัมผัส หรือกินเข้าไปได้"




กำลังโหลดความคิดเห็น