ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ แสดงความคิดเห็นกรณีเหตุสารเคมีรั่วไหลย่านพุทธมณฑล ย้ำหากสูดดมมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และกังวลหน้ากากอนามัยทั่วไปไม่สามารถป้องกันก๊าซพิษได้ ทำได้เพียงผ่อนหนักให้เป็นเบาบางส่วนเท่านั้น
จากกรณีเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลที่โรงงานแห่งหนึ่งย่านพุทธมณฑล สาย 7 พื้นที่อำเภอนครชัยศรี ส่งผลกระทบโดยกว้าง เนื่องจากกลิ่นของสารเคมีลอยคลุ้งไปทั่วบริเวณ ทั้งในเขตพื้นที่ติดต่ออำเภอสามพราน อำเภอพุทธมณฑล รวมไปถึงเขตรอยต่อกรุงเทพมหานคร ทำให้โรงเรียนต้องประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว เนื่องจากหวั่นอันตรายที่ตามมา ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (22 ก.ย.) เฟซบุ๊ก "Siwatt Pongpiachan" หรือ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า "ประเด็นสารเคมีรั่วไหลจาก hot oil down term dt1 ของโรงงานอินโดรามา นครชัยศรี ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเพราะเป็นกลุ่มสารอะโรมาติกเบนซินซึ่งเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) และจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งมีอยู่หลายชนิด เท่าที่ตามข่าวหากข้อมูลที่นำเสนอในโลกออนไลน์ถูกต้อง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุหลายกิโลฯ แสดงว่าระดับความเข้มข้นของสารเคมีกลุ่มนี้สูงพอตัว สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคประชาชนคือ
1. ใช้อุปกรณ์เก็บตัวอย่างก๊าซซึ่งอาจเป็น PUF หรือ Resin ในกลุ่ม XAD มาสกัดหาชนิดของสาร VOC โดยใช้ Gas Chromatography Mass Spectometry เพื่อจำแนกประเภทหาชนิดสารเคมี VOC ออกมาให้มากที่สุด
2. หลังจากนั้นนำค่าสัมประสิทธิ์ความเป็นพิษ Toxic Equivalency Factor (TEF) ของสาร VOC แต่ละตัวมาคูณกับความเข้มข้นของสารพิษแต่ละชนิด เสร็จแล้วมาบวกรวมกันเพื่อประเมินความเป็นพิษในภาพรวมหรือ Toxic Equivalency Quotients (TEQ)
3. หลังจากนั้นนำค่าที่ได้มาคำนวณในสูตรการประเมินความเสี่ยงที่มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ (Risk Assessment) ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ ระดับความเป็นพิษ ระยะเวลาในการสูดดม ความถี่ในการสูดดม เพศ และน้ำหนักตัว
4. โดยหลักการแล้วเด็กซึ่งมีน้ำหนักตัวน้อยจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักตัวมากกว่า โดยปกติแล้วค่าความเสี่ยงที่ได้เกิดจากการคำนวณโดยใช้ค่าความเข้มข้นของสารพิษxความถี่ในการสูดดมxระยะเวลาในการสูดดม หารด้วยน้ำหนักตัว ซึ่งหากจะประเมินความเสี่ยงแบบละเอียดตัวแปรในสมการจะมีความซับซ้อนมากกว่านี้ ที่เขียนมาเป็นเพียงแค่หลักคิดเท่านั้น
ส่วนตัวที่กังวลใจคือ "หน้ากากอนามัย" ทั่วไปไม่สามารถป้องกันก๊าซพิษในกลุ่ม VOC ได้ 100% นะครับ แค่ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บางส่วนเท่านั้น ถ้าจะใช้แบบจริงจังต้องตามภาพข้างล่างที่แนบมา"