"หมอแล็บแพนด้า" ห่วงสุขภาพผู้เข้าแข่งขันแข่งดื่มเหล้าขาวชิงเงินรางวัล 1 หมื่นบาทของเจ้าของไร่ใน จ.ชัยภูมิ วอนอย่าดรามา แค่อยากให้ทีมงานสนุกสนานกัน
วันนี้ (23 ก.ย.) เพจ "หมอแล็บแพนด้า" นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ออกมาโพสต์ภาพการรับสมัครแข่งขันดื่มเหล้าขาว 40 ดีกรี ชิงเงินรางวัล 1 หมื่นบาท เตือนอันตรายต่อสุขภาพ
โดยในประกาศรับสมัครดังกล่าวระบุว่าจะต้องดื่มเหล้าขาว 40 ดีกรียี่ห้อไหนก็ได้ ผู้ชนะได้รับเงินรางวัล 1 หมื่นบาท และเหล้าขาวอีก 2 ลัง ซึ่งงานจะจัดขึ้นในวันที่ 11 ต.ค. มีค่าสมัครคนละ 500 บาท มีเหล้าขาวฟรี กับแกล้มฟรี ตลอดการแข่งขัน
สำหรับกติกามีดังนี้ ดื่มเหล้าขาวยี่ห้อไหนก็ได้ ที่มีแอลกอฮอล์ 40 ดีกรีขึ้นไป เริ่มตั้งแต่ 18.00 น. จนถึงเวลา 00.00 น.ของวันที่ 11 ต.ค.
ใครดื่มแล้วอาเจียนก่อน 00.00 น. ถือว่าแพ้
ถ้าดื่มเหล้าเข้าปากแล้วห้ามพ่นน้ำเหล้า หรือน้ำเปล่าออกมาอย่างเด็ดขาด
หากท่านใดไม่อาเจียนก่อนเวลาที่กำหนดต้องวัดปริมาณของเหล้าที่ดื่มเข้าไป ใครดื่มไปเยอะถือว่าชนะ
ใครที่ลงสมัครต้องผ่านการตรวจปัสสาวะ เพื่อคัดกรองหาสารเสพติด ห้ามยาเสพติดทุกชนิดในการแข่งขัน
ทั้งนี้ การแข่งขันดังกล่าวเบื้องต้นทราบว่า เป็นการร่วมสนุกในวันคล้ายวันเกิดของเจ้าของไร่แห่งหนึ่งใน จ.ชัยภูมิ ที่ปกติเป็นคนชอบดื่มอยู่แล้ว และซื้อให้ทีมงานดื่ม และสาเหตุที่จัดการแข่งขันขึ้นเพื่อความสนุกสนามเท่านั้น
สำหรับสุราหรือแอลกอฮอล์ เป็นสารเสพติดที่มีทั้งคุณและโทษ เมื่อดื่มแล้วจะทำให้เกิดผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยโทษของสุรานั้นอาจมีตั้งแต่ขั้นเบา ไปจนถึงขั้นรุนแรง อย่างเช่น เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด และที่รุนแรงคือหมดสติ ดังนั้นสุราจึงถูกควบคุมทั้งการจำหน่าย และการผลิตจากกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ภาวะเมาสุรา เป็นภาวะที่บุคคลมีอาการไม่สบายจากพิษของแอลกอฮอล์ หลังจากดื่มสุราเข้าไปปริมาณหนึ่ง ทำให้ร่างกายจิตใจและพฤติกรรมผิดปกติ ความสามารถในการทำหน้าที่ต่างๆ บกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขับขี่ยานพาหนะ ในประเทศไทยได้กำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (blood alcohol concentration; BAC) สำหรับผู้ขับขี่ไม่ให้เกิน 0.05 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (หรือ 0.05 กรัมต่อเดซิลิตร) ตามประกาศกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 16/2537 ดังนั้นการมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินระดับนี้อาจเรียกได้ว่า "การเมาสุรา" ตามกฎหมายการขับขี่ยานพาหนะในประเทศ
ทั้งนี้ การขับพิษของแอลกอฮอล์หลักๆ แล้วเป็นหน้าที่ของตับ ตับจะมีหน้าที่กำจัดของเสีย สารพิษต่างๆ ในร่างกายที่ได้รับเข้ามา รวมไปถึงพิษจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วตับจะใช้เวลาในการขจัดแอลกอฮอล์ไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐานออกจากร่างกายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ในแต่ละคนอาจส่งผลที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับความไวหรือปฏิกิริยาที่มีต่อแอลกอฮอล์ด้วย
1 ดื่มมาตรฐาน นั่นก็คือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปริมาณ 10 กรัม หรือเท่ากับ เหล้าแดง 2 ฝา, เหล้าขาว 2 เป๊ก, เบียร์ 3.5% 1 กระป๋อง หรือ 1 ขวดเล็ก, ไวน์ 1 แก้ว (100 cc.), เหล้าปั่น 2 ช็อต เป็นต้น
แล้วการดื่มแอลกอฮอล์มากระดับไหนถึงเป็นอันตรายต่อร่างกาย?
การดื่มแอลกอฮอล์ที่ถือว่ามีความเสี่ยง คือ มากกว่า 5 ดื่มมาตรฐานต่อครั้งในเพศชาย และมากกว่า 4 ดื่มมาตรฐานต่อครั้งในเพศหญิง เพราะจะส่งผลให้สมองและระบบประสาทเริ่มได้รับผลกระทบ ทำให้ผู้ดื่มมีความประมาท มีพฤติกรรมที่ไม่สามารถควบคุมได้ การตอบสนองของร่างกายช้าลงและทำงานไม่สัมพันธ์กันกับสมอง และหากดื่มมากกว่า 12 ดื่มมาตรฐาน จะมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่ทำให้ผู้ดื่มมีภาวะสุราเป็นพิษ หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีพฤติกรรมการดื่มสุราในปริมาณสูงในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ หากไม่อยากให้เกิดความเสี่ยง แพทย์แนะนำว่าไม่ควรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เกินกว่า 14 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ และไม่ควรดื่มหนักในคราวเดียว ควรแบ่งปริมาณการดื่มออกเป็นหลายๆ วัน
อาการของภาวะสุราเป็นพิษเป็นอย่างไร?
อาการของภาวะสุราเป็นพิษ ได้แก่ เกิดอาการจิตสับสน, พูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่องอย่างหนัก, การทำงานประสานกันของอวัยวะบกพร่อง, อาเจียน, จังหวะการหายใจผิดปกติหรือหายใจช้าลง, ตัวเย็นผิดปกติจนทำให้ผิวหนังซีดหรือกลายเป็นสีม่วง, หมดสติ ไม่รู้สึกตัว, เกิดภาวะกึ่งโคม่า ซึ่งยังรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองการรับรู้ได้ และในกรณีที่ภาวะสุราเป็นพิษรุนแรงอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการโคม่า สมองถูกทำลาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
ทั้งนี้ การช่วยเหลือผู้ป่วยจากภาวะสุราเป็นพิษเบื้องต้น ก่อนอื่นให้รีบโทร.ไปที่เบอร์ 191 หรือ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ และในช่วงที่กำลังรอรถพยาบาล ควรปฏิบัติดังนี้
1. ให้พยายามปลุกผู้ป่วยให้ตื่นและพยายามพยุงให้อยู่ในท่านั่ง
2. ให้ดื่มน้ำเปล่าหากผู้ป่วยยังสามารถดื่มได้
3. หากผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ ให้จัดผู้ป่วยในท่านอนตะแคงหรือท่าพักฟื้น และคอยตรวจดูว่าผู้ป่วยยังคงหายใจอยู่
4. พยายามทำให้ร่างกายของผู้ป่วยอบอุ่น
5. อยู่กับผู้ป่วยและคอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
ข้อควรระวัง คือ ไม่แนะนำให้ปล่อยผู้ป่วยนอนหลับ ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ควรนำผู้ป่วยไปอาบน้ำเพราะอาจส่งผลให้ภาวะสุราเป็นพิษรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมได้