โรงเรียนสงครามพิเศษแจงแฟนคลับรวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ร่มที่ "บัวขาว บัญชาเมฆ" นักมวยดัง และทหารที่ฝึกหลักสูตรส่งทางอากาศ รุ่นที่ 338 ใช้ฝึกกระโดดร่มไม่ได้ชำรุดหรือขาด แต่ร่มมีช่องผ่าให้ร่มนิ่งและเคลื่อนที่ได้ ย้ำดูแลอย่างดีจากหมวดพับร่ม กองพลาธิการส่งกำลังทางอากาศ
วันนี้ (22 ก.ย.) จากกรณีที่เฟซบุ๊ก Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ) ได้เผยแพร่วิดีโอคลิปขณะที่ร้อยโท สมบัติ บัญชาเมฆ หรือ บัวขาว บัญชาเมฆ นักมวยชื่อดัง เข้ารับการฝึกหลักสูตรส่งทางอากาศ รุ่นที่ 338 (นร.สอ.338) รหัส AB-1 ที่โรงเรียนสงครามพิเศษ ค่ายเอราวัณ ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โดยได้ทำการกระโดดร่มจากอากาศยาน บล.295 ที่ความสูง 1,250 ฟุต ด้วยร่มบุคคลโดด ชนิด MC1-1C/NS (มีช่องผ่า) ณ สนามกระโดดร่มบ้านท่าเดื่อน้อย ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ซึ่งผลปรากฏว่าทหารทุกนายปลอดภัยดี แต่ปรากฏว่ามีญาติและผู้พบเห็นตกใจและสงสัยถึงการกระโดดร่มชนิดร่มกลมแบบสายดึงประจำว่าปลอดภัยหรือไม่
เฟซบุ๊ก "โรงเรียนสงครามพิเศษ" ชี้แจงว่า ร่มที่ใช้เป็นชนิดร่มบุคคลโดด รุ่น MC1-1B/NS และ MC1-1C/NS ซึ่งทหารร่มมักจะเรียกว่าร่มกลม เนื่องจากมีรูปทรง เมื่อเวลากางออกเต็มที่แล้วเป็นรูปค่อนวงกลม เป็นร่มแบบสายดึงประจำที่ เพราะจะมีสายดึงประจำที่ใช้เกี่ยวกับสายเคเบิลบนอากาศยาน สายดึงจะทำหน้าที่จูงร่มหลัก โดยสายร่มจะออกก่อนเพดานร่ม และกางเป็นรูปค่อนวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 35 ฟุต ที่ขอบชายร่มเส้นผ่านศูนย์กลาง 24.5 ฟุต และมีตาข่ายโดยรอบ รวมทั้งมีช่องผ่าที่ด้านหลัง เมื่อร่มกางออก ช่องผ่านี้มีส่วนช่วยพยุงร่มให้มีความนิ่ง และทำให้ร่มสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า บังคับเลี้ยว ซ้าย-ขวาได้ดีกว่าร่มแบบไม่มีช่องผ่า ซึ่งนิยมใช้สำหรับการทิ้งของเพราะไม่ต้องการการบังคับ
ร่มชนิด MC1-1B/NS และ MC1-1C/NS แบบมีช่องผ่า สามารถพาผู้กระโดดเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็ว 6-8 น็อทส์ ซึ่ง 1 น็อทส์ เท่ากับ 0.51 เมตรต่อวินาที มีความเร็วของลมเป็นศูนย์ จะมีอัตราการตกที่ 15.37-22.7 ฟุตต่อวินาที มีอายุการใช้งาน 10 ปี หรือใช้ทำการกระโดดครบ 100 ครั้ง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ร่มเมื่อพับเรียบร้อยแล้วจะมีน้ำหนัก 31 ปอนด์ ส่วนประกอบของร่ม MC1-1B/NS แบ่งได้ 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนเพดานร่มและสายร่ม, ส่วนสายโยงบ่า, ส่วนสายรัดตัว, ส่วนแผ่นหุ้มห่อ และชุดถุงบรรจุเพดานร่ม
"โอกาสนี้จึงขออนุญาตเรียนให้แฟนคลับพี่บัวขาว พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ที่สนใจให้ทราบว่า ร่มไม่ได้ชำรุด หรือขาดแต่ประการใด สภาพของร่มทุกตัวที่ นร.สอ.338 ใช้กระโดดจะผ่านการดูแลอย่างดีทุกขั้นตอนจากกองพลาธิการส่งกำลังทางอากาศ ในการพับ และตรวจเช็กอย่างละเอียด ก่อนให้นักเรียน หรือ ทหารทำการใช้งาน ดังนั้นสบายใจได้ เพราะช่องผ่านี้ทำให้ร่มนิ่งและเคลื่อนที่ได้ นั่นเอง" เฟซบุ๊กโรงเรียนสงครามพิเศษ ระบุ
นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก "โรงเรียนสงครามพิเศษ" ยังเผยแพร่ภาพ กองพลาธิการส่งกำลังทางอากาศ โดยหมวดพับร่ม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความปลอดภัยในการกระโดดของนักกระโดดร่ม โดยจะมีกระบวนการพับร่ม ทุกขั้นตอนต้องใช้ความชำนาญ มีมาตรฐานสากล เพื่อให้ร่มสามารถกางได้อย่างดี และสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งในปัจจุบันกองพลาธิการส่งกำลังทางอากาศมีการปรับปรุงอาคาร สถานที่ และพื้นที่ในการพับร่ม รวมทั้งอาคารคลังเก็บร่ม ให้มีความทันสมัย และมีมาตรฐาน เพื่อรองรับภารกิจการส่งกำลังทางอากาศในทุกภารกิจ