xs
xsm
sm
md
lg

พบโบรกเกอร์เล่นแง่ แค่ไม่เปิดเผยข้อมูลเพื่อการตลาด เจออ้างจะไม่ต่อประกันให้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บนโซเชียลฯ แชร์ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งกรอกแบบฟอร์มขอความยินยอมของโบรกเกอร์ประกันภัยค่ายรถดัง แค่ไม่ยอมให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อการตลาด เจอตอบกลับจะปฏิเสธการต่อประกันภัย เมื่อจะขอพูดกับบริษัทประกันภัยและร้องเรียน สคบ. หงายการ์ดเข้าใจผิด กังขาถ้าไม่บอกว่าเป็นสื่อมวลชนจะถูกหลอกหรือไม่

วันนี้ (20 ก.ย.) บนโซเชียลฯ แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก "ยศศิริ มิตรไพบูลย์" โพสต์ภาพแบบฟอร์มการขอความยินยอมของบริษัทโบรกเกอร์ประกันภัยของค่ายรถยนต์แห่งหนึ่ง พร้อมข้อความระบุว่า "เมื่อเช้านี้โทร.ไปต่อประกันรถยนต์ ปรากฏว่าโบรกเกอร์ของบริษัท ... บอกว่าเราต้องเซ็นหนังสือยินยอม ส่งฟอร์มมาให้ เราก็ยินยอมไปแต่ไม่ยอมให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อการตลาด

ปรากฏว่าทางเซลบอกว่าถ้าไม่เซ็นบริษัทประกันภัยจะปฏิเสธการต่อประกันภัย ก็เลยบอกเขาไปบอกว่าบังคับให้เปิดเผยข้อมูลนี่ผิดกฎหมาย จะขอพูดกับบริษัทประกันภัย และจะร้องเรียน สคบ. ขอเบอร์โทรศัพท์บริษัทประกันภัยจะขอพูดตรง

ปรากฏว่าทางบริษัทโบรกเกอร์ซึ่งเป็นบริษัท ... บอกว่าขอเป็นตอนบ่าย เสร็จแล้วโทร.มาบอกว่า เขาเข้าใจผิดที่จริงแล้วเป็นข้อเรียกร้องของโบรกเกอร์เองไม่ใช่ของบริษัทประกันภัย และบอกว่ายอมได้

บอกเขาไปด้วยว่าเราเป็นสื่อมวลชน และจะมีการรายงานเรื่องนี้ออกทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยด้วย และจะดำเนินการตามกฎหมายขอให้ส่งข้อเรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษรมา

ปรากฏว่ายอมหมดทุกอย่าง

มาคิดดูว่าถ้าเราไม่ได้เป็นสื่อมวลชนจะหลอกเราหรือไม่ บริษัทก็เป็นบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ไม่ใช่บริษัทกระจอกๆ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

เจ้าของโพสต์กล่าวเพิ่มเติมว่า "เห็นว่าประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่มีคนสนใจจำนวนมากนะครับ ผมขอนำเอาแนวทางการดำเนินการในการขอความยินยอมข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลปี ค.ศ. 2562 มาตามนี้นะครับ มีฉบับเต็มอยู่ข้างล่าง

แต่ว่าในกรณีของผมนั้นจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินการขอความยินยอมตามข้อสองในแนวทางการปฏิบัตินี้นะครับ

ตามข้อ 3 หลักเกณฑ์การขอความยินยอม

ข้อย่อย 3.1 เรื่องการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่สมบูรณ์ตามมาตรา 19 เป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้

ที่เกี่ยวข้องกับผมนั้นเป็นข้อย่อยที่ 6 นะครับ

(๖) การให้ความยินยอมต้องไม่มีลักษณะที่เป็นเงื่อนไขที่บังคับหรือผูกมัด หรือเป็นเงื่อนไขที่บังคับให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมก่อนการเข้าทำสัญญาซึ่งรวมถึงการให้บริการใดๆ เพื่อเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่มีความจำเป็นหรือเกี่ยวข้องสำหรับการเข้าทำสัญญา ซึ่งรวมถึงการให้บริการนั้นๆ

ในกรณีนี้ผมให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อที่จะใช้ในการทำประกันภัย แต่ไม่ยอมให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการตลาด รวมไปถึงการส่งข้อมูลข่าวสารสินค้าครับ"

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า นับตั้งแต่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้บุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล จะมีแบบฟอร์มการขอความยินยอม ให้ลูกค้ายินยอมในการเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อวิจัยและพัฒนา เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ รวมทั้งการให้ความยินยอมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดของกลุ่มบริษัท หรือพันธมิตรของบริษัท และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง

หากบุคคลหรือนิติบุคคล ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่ทำตาม จะต้องรับผิดทางแพ่ง ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และอาจต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นอีก โดยสูงสุดไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง โทษทางอาญา จำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษทางปกครอง ปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น