รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร ชื่นชมผลงาน สคบ. ร่วมคุ้มครองผู้บริโภค แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคครบถ้วนรอบด้าน ย้ำประชาสัมพันธ์ผลงานสร้างการรับรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ของประชาชน
วันนี้ (20 ก.ย.) เมื่อเวลา 08.45 น. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าพบ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการประชาชน การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคกับอาเซียน การคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การบังคับใช้กฎหมาย การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อ และการดำเนินการเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภค โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ สคบ. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ สามารถยุติได้ จำนวน 13,697 เรื่อง ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 384,338,946.48 บาท การฟ้องคดีแทนผู้บริโภค จำนวน 422 ราย ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาความเสียหายเป็นเงินจำนวน 130,931,494.93 บาท การบังคับคดีตามคำพิพากษา โดยตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจแทนผู้บริโภค จำนวน 1,225 คดี ผู้บริโภคจำนวน 7,067 ราย เปรียบเทียบความผิดผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค จำนวน 38 ราย เป็นเงิน 2,760,000 บาท โดย สคบ. ได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่ ระบบร้องทุกข์ออนไลน์ ไกล่เกลี่ยออนไลน์ การจดทะเบียนขายตรงและตลาดแบบตรงออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน OCPB Connect และ Chat Bot “พี่ปกป้อง” ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ หรือ Big Data เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขี้น
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานด้านต่างประเทศ โดยการประสานความร่วมมือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกับนานาชาติในเรื่องต่างๆ เช่น การพัฒนากลไกการแจ้งและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ การสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคของอาเซียนในการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดน เป็นต้น และยังได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) จำนวน 2 ฉบับ ระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร และไทย-รัสเซีย เพื่อประสานความร่วมมือด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดย MoU ทั้งสองฉบับอยู่ระหว่างการลงนาม
รองนายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมในวงกว้าง ขอให้มีการบูรณาการทำงานและร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหา อันจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและคุ้มครองสิทธิในด้านต่าง ๆ ให้กับประชาชน พร้อมเน้นย้ำการประชาสัมพันธ์ผลงานและสร้างการรับรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการให้บริการอย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเท เข้มแข็ง เสียสละ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน