xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ผช.รมว.ยธ.ชี้ คดีไฮโซฟองน้ำ โกง 600 ล้าน ต้องเพิ่มข้อหา "พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน-พ.ร.บ.เล่นแชร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (26 มิ.ย.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เผยว่า จากข่าวที่ปรากฏว่าไฮโซฟองน้ำ อายุ 25 ปี หลอกชาว จ.อุบลราชธานี 400 คน เสียหายเป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท ถูกศาลอนุมัติหมายจับในข้อหาฉ้อโกงประชาชน, นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผมคิดว่าควรจะมีความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ ด้วย เรื่องนี้ตำรวจควรที่จะต้องสอบปากคำผู้เสียหาย เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจนในการรวบรวมพยานหลักฐานที่มีความผิดในข้อหา พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ ชาวบ้านฟ้องเองไม่ได้ ต้องให้รัฐเป็นผู้ฟ้องคดีนั่นคือสิ่งที่พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานจากผู้เสียหาย และส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการเพื่อให้ทำความเห็นส่งฟ้องศาลต่อไป และศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ต้องหา หรือจำเลยนั้นชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยด้วย โดยในเรื่องของ พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ ให้อำนาจในเรื่องของการฟ้องล้มละลายด้วยโดยรัฐ​จะเป็นผู้ฟ้องให้ ฉะนั้นในเรื่องของการฟ้องผู้ต้องหาตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวจะทำให้ผู้เสียหายได้ประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากในการสืบทรัพย์และการบังคับคดี หรือรวมไปถึงการติดตามทรัพย์โดย ป.ป.ง.ก็จะทำได้รวดเร็วมากกว่าในคดีฉ้อโกงประชาชนเพียงอย่างเดียว

ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์เราจะเห็นได้ว่ามีข่าวเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนเป็นจำนวนมาก มันเหมือนปัญหาที่ซุกอยู่ไว้ในใต้พรมไม่ได้ถูกแก้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำงานในเชิงรุก ไม่มีการป้องกันและแจ้งเตือนพ่อแม่พี่น้องประชาชน ขณะที่ในต่างประเทศ เขาจะให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องนี้ รู้ว่าอะไรถูก รู้ว่าอะไรควร และรู้ว่าอาจจะตกเป็นเหยื่อ ซึ่งในต่างประเทศใช้คำว่า สแกม​(scam)​หรือพอนซี​ (ponzi)​ ซึ่งเรื่องนี้มีการสอนตั้งแต่เด็ก แต่ทางกลับกันในประเทศไทยผู้ต้องหามีอายุน้อยลงเรื่อยๆ  และกลุ่มผู้เสียหายก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆเช่นกัน จากกลุ่มแชร์แม่มณีอายุ 30 กว่า จนมาถึงกลุ่มแชร์ไฮโซฟองน้ำ อายุเพียงแค่ 25 ปี นั่นคือสิ่งที่สะท้อนว่าสังคมไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนกันในเรื่องนี้

ต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ การลงทุนต้องถูกที่ ถูกเวลา ไม่อย่างนั้นเม็ดเงินที่ลงทุนไปจะสูญเปล่า หรือถูกหลอกลวง ถูกฉ้อโกงไป  ถ้าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ก็จะทำให้ขาดเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินออกนอกประเทศ ซึ่งในหลายประเทศอย่างประเทศอัลแบร์เนีย ก็เคยมีปัญหาเรื่องแชร์ลูกโซ่ระบาดเติบโตถึง 10% ของGDPประเทศในเวลานั้น พูดง่ายๆว่า 1 ในทุก 10 บริษัท จะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือเป็นบริษัทที่ฉ้อโกงประชาชน ซึ่งทำให้ประเทศอัลแบร์เนียล้มทางเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาพลิกฟื้นประเทศนานกว่า20 ปี ที่จะกู้ประเทศกลับคืนมาได้ นั่นคือสิ่งที่ผมอยากให้หน่วยงานรัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมองย้อนกลับไปว่าเราจะทำอย่างไรให้คนไทยมีความมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นปัญหาฐานรากที่ต้องการแก้ไข ซึ่งมีคนพูดเสนอว่าจะทำรัฐสวัสดิการ จะช่วยเหลือคนจน ก็มาจากปัญหานี้ที่ทำให้เม็ดเงินออกนอกประเทศ หรือเม็ดเงินถูกซ่อนอย่าลืมว่าอาชญากร ถ้าโกงไปแล้วก็ต้องซ่อนเงินไม่ให้เกิดการสืบทราบหรือติดตามเจอได้ จึงทำให้เม็ดเงินออกนอกระบบ ขณะที่เม็ดเงินของประชาชนที่นำมาลงทุนมาจากการกู้หนี้ยืมสินมา เพราะคิดว่าจะได้ผลดอกเบี้ยในการปันผล แต่สุดท้ายไม่มีเงินไปคืนทั้งต้นและดอกที่กู้มาทำให้ถูกฟ้องล้มละลายหมดเนื้อหมดตัว และในรายที่ต้องไปกู้เงินนอกระบบก็ถูกติดตามไล่ทวงนั่นคือปัญหาฐานรากอย่างแท้จริงเรื่องนี้อย่ามองว่าเป็นเรื่องผิวเผินหรือมองเป็นเพียงแค่ความโลภของคนแต่มันเป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้เคยให้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 และเคยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว แต่คนทำก็ทำไม่เป็น และคนคิดก็คิดไม่เป็นจึงเกิดปัญหา ดังนั้นอยากฝากท่านนายกฯแก้ไขปัญหานี้ด้วย และ ส.ส.ฝ่ายค้านได้เป็นปากเป็นเสียงให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหานี้ด้วย ทั้งนี้ หากอาชญากรรมนั้นติดตามทรัพย์ยาก การคืนเงินให้กับผู้เสียหายยุ่งยาก ก็จะมีอาชญากรในรูปแบบนี้เยอะมากขึ้น ผมอยากจะฝากให้เห็นว่าการปล้นร้านทอง ปล้นธนาคารปิดหน้าปิดตา ตำรวจสามารถจับได้ภายใน 3 วัน แต่อาชญากรประเภทนี้ผู้เสียหายมากันเต็มโรงพักและชี้ตัวคนโกง แต่ก็ยังจับไม่ได้เลย ส่วนที่จับได้ก็ได้รับการประกัน หลบหนีบ้าง ติดคุกเดี๋ยวเดียวบ้าง แต่ในทางตรงข้ามผู้เสียหายต้องรอเงินคืนนานนับสิบๆปี นั่นคือความไม่ยุติธรรมมาจากการเป็นตาชั่งที่เอียง เพราะ ณ เวลาที่ออกกฎหมายในเวลานั้นมองสิทธิ์ของผู้ต้องหาเป็นหลัก แต่ลืมมองสิทธิ์ของผู้เสียหาย จึงเป็นที่มาให้เกิดอาชญากรรมประเภทนี้มากขึ้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีประชากรเพียง8 ล้านกว่าคน ไม่มีอาชญากรรมประเภทนี้ ทั้งที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับต้นของโลก แต่ก็ไม่มีอาชญากรรมประเภทลัก จี้ ชิงปล้น​ หลอกลวง​สักเท่าไร นั่นคือการปลูกจิตสำนึกของคน ถ้ากฎหมาย กฎระเบียบ มีบทโทษที่รุนแรง รวดเร็ว การอยู่ร่วมกันของสังคม ก็จะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย แต่ถ้ากฎหมายมีผลบังคับช้าและบทลงโทษไม่รุนแรง ก็จะทำให้คนบางกลุ่ม​เห็นช่องว่างของกฎหมายและคนที่เอาเปรียบคนและสังคม ก็จะมีเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ​ สุดท้าย​ปัญหา​ความเหลื่อมล้ำ​ก็จะไม่มีทางถูกแก้ไข​ เพราะ​พวกยอดปิระมิด​จะได้ประโยชน์​ คนเสียประโยชน์​ก็คือคนบนฐานปิรามิด​นั้นเอง​ ดังนั้น​ผมหวังว่าฝ่ายค้าน​จะเอาเรื่องเหล่านี้​อภิปราย​เป็น​ปากเสียให้พ่อแม่​พี่น้อง​ประชาชน​หรือไม่ก็จับตาดูกันต่อไป สังคม​จะดีได้สังคมนั้นต้องได้รับความยุติธรรม​ ดังคำว่า​ ยุติธรรม​ค้ำจุน​โลก​ ถ้าสังคมให้ความยุติธรรม​สังคมนั้นก็สงบสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น