วันที่ 17 มิถุนายน 2565 สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับ สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และชมรมเด็กหมากล้อมจิตอาสา ในสังกัดสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม หมากล้อม Gen Z – Start Up ขึ้นที่ห้องประชมปรีดี พนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน
งานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์หมากล้อมซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของจีนให้กับผู้ที่สนใจ ซึ่งสนับสนุนวิทยากรโดยชมรมเด็กหมากล้อมจิตอาสา ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจำนวน 64 คน ซึ่งสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ได้จัดอบรมภาษาจีนพื้นฐานและมวยไท่จี๋ตระกูลหยางให้กับเยาวชนชมรมเด็กหมากล้อมจิตอาสา เป็นการแลกเปลี่ยน
อาจารย์พูลศักดิ์ ประณุทนรพาล เลขาธิการและกรรมการบริหารสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล กล่าวว่า “ หมากล้อม หรือ เหวยฉี เป็นหนึ่งในสี่วัฒนธรรมประจำชาติจีนมาแต่โบราณ หมากล้อมเป็นการจำลองแบบของการวางกลยุทธ์ด้านการรบ โดยมีหลักอยู่ที่การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่เท่ากันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความลึกซึ้งที่สอดแทรกอยู่ในปรัชญาการเล่นหมากล้อมนี้ ทำให้หมากล้อมเป็นหนึ่งในวิชาหมากกระดานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหมากที่เล่นยากที่สุดในโลกซึ่งมีผู้นิยมเล่นไปทั่วโลกจนเป็นกีฬาหมากกระดานระดับสากล”
ในช่วงเช้า เป็นการบรรยายหัวข้อ “ หมากล้อมและการปรับใช้ในโลกสมัยใหม่ “ จากประสบการณ์ในการนำหมากล้อมมาประยุกต์ใช้เข้ากับการใช้ชีวิตและการบริหารงาน จากประสบการณ์ตรงของ ผศ.ดร.วันวร จะนู รองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งท่านได้เน้นย้ำว่า “ หมากล้อมสอนให้เรารู้จักเคารพผู้อื่นในฐานะคนที่เท่าเทียมกันแม้ในความเป็นจริงจะแตกต่างกัน เหมือนตัวหมากของหมากล้อมที่ทุกเม็ดมีค่าเท่ากัน ต่างจากหมากรุกที่จะมีตัวหมากที่มีลำดับชั้น และหมากล้อมไม่ได้สอนให้ทำลายอีกฝ่ายให้ราบคาบ แต่เป็นการทำตนเองให้แข็งแกร่ง หมากล้อมจึงสอนให้เรารู้จักเคารพผู้อื่นไปควบคู่กับการพัฒนาตัวเอง โดยไม่ควรใช้กำลังของเราไปทำลายผู้อื่น เพราะนอกจากสร้างความขัดแย้งไม่รู้จบแล้ว ยังทำให้สังคมโดยรวมดูแย่ลงอีกด้วย“
จากนั้นเป็นการสอนการเล่นหมากล้อมโดย อาจารย์รัชชยุต ภูวัชร์เตชากร ที่ปรึกษาสมาคมหมากล้อมแห่งประเทศไทย โดยท่านได้นำนักเรียนอาสาสมัครจากชมรมเด็กหมากล้อมจิตอาสาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวน 64 คนมาช่วยแนะนำการเล่นหมากล้อมให้กับผู้เข้าฟังบรรยาย ซึ่งประกอบด้วย นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 จากห้องเรียนขงจื่อโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวังนนทบุรี และนักศึกษาไทย-จีนมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ซึ่งกิจกรรมในช่วงบ่าย สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ได้จัดการอบรมภาษาจีนสำหรับชมรมเด็กหมากล้อมจิตอาสาขึ้นโดยกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและคำศัพท์ภาษาจีนที่เกี่ยวข้องกับการเล่นหมากล้อม โดย รศ.เฉินเวย ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล(ฝ่ายจีน)ได้กล่าวว่า “หมากล้อมเป็นวัฒนธรรมที่ถือกำเนิดในประเทศจีนและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก แม้หมากล้อมจะล่วงกาลผ่านเวลามาหลายพันปี แต่วัฒนธรรมจีนนี้ก็ยังคงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่สนใจจะแสวงหาความลึกซึ้งของวัฒนธรรมจีนทั่วโลก สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลและมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจินมีความยินดียิ่งที่ได้จัดกิจกรรมหมากล้อมร่วมกับหน่วยงานต่างๆในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง”
จากนั้น อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล(ฝ่ายไทย) ได้นำคณะผู้บริหาร นักเรียน นักศึกษา บริหารร่างกายด้วยท่าบริหารร่างกายตามตำรับคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น(易筋经-อี้จินจิง)ของวัดเส้าหลิน และร่วมรำมวยไท่จี๋ตระกูลหยางวงกว้างสิบสามท่าแบบดั้งเดิม(杨氏太极拳老架十三势大功架) ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านความสวยงามของท่วงท่าและการฝึกเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งมวยไท่จี๋แบบดั้งเดิมนี้ถ่ายทอดโดยปรมาจารย์ฉือชิ่งเซิง ผู้สืบทอดมวยไท่จี๋ตระกูลหยางรุ่นที่ 5 ซึ่งได้รับรองจากรัฐบาลจีนเป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ประจำมณฑลกุ้ยโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยอาจารย์เอกรัตน์ ได้กล่าวว่า “สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล มีจุดเด่นในเรื่องการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาจีนให้กับผู้เรียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยอิงความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก เช่น การวาดภาพ การเขียนพู่กัน การพิมพ์ภาพ การประกวดถ่ายภาพและประกวดภาพยนตร์ โดยเฉพาะวิทยายุทธจีนนั้น ในตลอด 6 ปีที่ผ่านมาสถาบันได้สอนให้กับเยาวชนไทยและต่างชาติไปแล้วกว่า 4,000 คน ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนไทยที่รักในวัฒนธรรมจีน ได้พัฒนาตนไปอย่างสมดุล ดังที่ท่านขงจื่อเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อมีเหวิน(บุ๋น)ก็ต้องมีอู่(บู๊) เมื่อมีอู่ ก็ต้อมีเหวิน(有文事者,必有武备;有武事者,必有文备) ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อมีความรู้มีสติปัญญาที่ดีแล้ว ก็ควรมีความแข็งแรงของร่างกายควบคู่กันไปด้วยกัน”