xs
xsm
sm
md
lg

สุวรรณภูมิร่วงสนามบินดีที่สุดในโลก จาก 66 ลงมาที่ 77 ส่วนโดฮาคว้าแชมป์ 2 ปีซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกายแทรกซ์ประกาศผลการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลก พบท่าอากาศยานฮาหมัด กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ได้รับรางวัล 2 ปีติดต่อกัน ชางงี สิงคโปร์เจ้าหน้าที่ดี อาหารดี ฮาเนดะสะอาดที่สุดในโลก แต่สุวรรณภูมิ ความภูมิใจของ ทอท. ร่วงจากอันดับ 66 เป็น 77 ส่อง 10 ปีย้อนหลัง จากอันดับ 13 สาละวันเตี้ยลงเรื่อยๆ

รายงานข่าวแจ้งว่า สกายแทรกซ์ (Skytrax) บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจเกี่ยวกับการบิน ได้ประกาศผลการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World Airport Awards) ประจำปี 2022 ภายในงาน Passenger Terminal EXPO ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยพบว่ารางวัลเป็นของท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งได้รับรางวัลเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยในปี 2564 ให้บริการผู้โดยสาร 17.1 ล้านคน และยังคงดำเนินแผนงานขยายสนามบินต่อไป เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 พ.ย. ถึง 18 ธ.ค. 2565

ส่วนรางวัลอื่นๆ เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติชางงี ประเทศสิงคโปร์ ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ ท่าอากาศยานที่เจ้าหน้าที่สนามบินให้บริการดีที่สุดในโลก และท่าอากาศยานที่เหมาะกับการรับประทานอาหารที่ดีที่สุดในโลก, ท่าอากาศยานอิสตันบูล ประเทศตุรเคีย ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ ท่าอากาศยานที่เหมาะกับการชอปปิ้งที่ดีที่สุดในโลก และท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อครอบครัว ส่วนท่าอากาศยานโตเกียว ฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น ได้รับ 4 รางวัล ได้แก่ ท่าอากาศยานที่สะอาดที่สุดในโลก, ท่าอากาศยานภายในประเทศที่ดีที่สุดในโลก, ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในเอเชีย และท่าอากาศยานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารที่มีขีดจำกัดในการเคลื่อนที่ และผู้พิการยอดเยี่ยม

ท่าอากาศยานนานาชาติคิงคาลิด กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้รับรางวัลท่าอากาศยานที่มีการพัฒนามากที่สุดในโลก, ท่าอากาศยานนานาชาติชูบุเซ็นแทรร์ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ได้รับรางวัลท่าอากาศยานภูมิภาคที่ดีที่สุดในโลก, ท่าอากาศยานโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้รับรางวัลการดำเนินการตรวจคนเข้าเมืองที่ดีที่สุดในโลก และท่าอากาศยานซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับรางวัลท่าอากาศยานที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดในโลก สำหรับรางวัลดังกล่าวเป็นการจัดอันดับผ่านแบบสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสาร โดยประเมินจากการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จากท่าอากาศยานมากกว่า 550 แห่งทั่วโลก

นายเอ็ดเวิร์ด เพลสเต็ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสกายแทรกซ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับสนามบินที่ได้รับรางวัลทุกแห่ง ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมามีความยากลำบากอย่างยิ่งที่จะต้องรับมือกับข้อจำกัดมากมายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความต้องการเดินทางที่ลดลงอย่างมาก และด้วยการเดินทางทางอากาศที่จะกลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ความท้าทายของทุกสนามบิน คือการส่งมอบมาตรฐานการให้บริการสูงสุดแก่ผู้โดยสาร สอดรับกับการเดินทางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น


ย้อนหลังไป 10 ปี ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด กรุงโดฮา อยู่ในอันดับที่ 56 เมื่อปี 2011 ก่อนที่จะลงมาอยู่อันดับที่ 63 ในปี 2012 อันดับที่ 68 ในปี 2013 อันดับที่ 75 ในปี 2014 อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 ตีตื้นขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 22 กระทั่งปี 2016 ขึ้นมาเป็นอันดับ 10, ปี 2017 ขึ้นมาเป็นอันดับ 6, ปี 2018 ขึ้นมาเป็นอันดับ 5, ปี 2019 ขึ้นมาเป็นอันดับ 4, ปี 2020 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ก่อนที่ปี 2021 จะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปีแรก

สำหรับประเทศไทย ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ ซึ่งบริหารงานโดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ถูกจัดลำดับสนามบินในอันดับที่ 77 ลดลงมาจากอันดับที่ 66 ในปี 2021

สถิติการจัดอันดับย้อนหลัง 10 ปี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ โดย Skytrax

ปี 2011 อันดับที่ 13
ปี 2012 อันดับที่ 25
ปี 2013 อันดับที่ 38
ปี 2014 อันดับที่ 48
ปี 2015 อันดับที่ 47
ปี 2016 อันดับที่ 36
ปี 2017 อันดับที่ 38
ปี 2018 อันดับที่ 36
ปี 2019 อันดับที่ 46
ปี 2020 อันดับที่ 48
ปี 2021 อันดับที่ 66
ปี 2022 อันดับที่ 77




กำลังโหลดความคิดเห็น