xs
xsm
sm
md
lg

คนอุบลฯ เคืองการรถไฟฯ สถานีใหม่ไร้อัตลักษณ์ เชย ไม่ร่วมสมัย เปรียบเหมือนวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ UBON NOW กระบอกเสียงคนอุบลฯ ด่ายับการรถไฟแห่งประเทศไทยออกแบบสถานีรถไฟอุบลราชธานีใหม่ ไร้อัตลักษณ์ สุดเชย ไม่ร่วมสมัย เทียบกับบุรีรัมย์-ศรีสะเกษ ดูดี ดูสวย ถามกลับหรือเพราะเป็นปลายทางจึงไร้คนเหลียวแล

วันนี้ (15 มิ.ย.) โลกโซเชียลฯ ได้แชร์ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก "UBON NOW" แสดงความไม่พอใจที่การรถไฟแห่งประเทศไทยออกแบบสถานีรถไฟอุบลราชธานีใหม่ ในโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระบุว่า "สถานีรถไฟอุบลฯ ใหม่ ไร้อัตลักษณ์ หรือเพราะเป็นปลายทาง จึงไร้คนเหลียวแล ออกแบบยังไงให้สุดเชย ไม่มีความร่วมสมัย นี่คืองานถนัดของ รฟท." โดยมีข้อความดังนี้

นับเป็นข่าวดีสำหรับประชาคมชาวอีสานใต้ สำหรับร่าง EIA รถไฟรางคู่ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ระยะทางทั้งสิ้น 307 กิโลเมตร พาดผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ โคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีบ้านเฮาที่ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อย นอกจากปฏิวัติระบบรางเดี่ยวที่ใช้มาอย่างเนิ่นนานกว่า 7 ทศวรรษแล้ว การรถไฟแห่งประเทศได้เปิดเผยแบบโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักตลอดระยะทางที่งูเหล็กวิ่งผ่านจำนวน 4 สถานี คือ สถานีบุรีรัมย์ สถานีสุรินทร์ สถานีศรีสะเกษ และปลายทางสถานีรถไฟอุบลราชธานี โดยแต่ละสถานีของเมืองท่านผ่านนั้นได้รับการออกแบบเป็นสถานีรถไฟยกระดับทั้งสิ้น ทั้ง บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ มาจบที่อุบลฯ เป็นสถานีระดับภาคพื้นแบบเก่าเช่นเดิม นี่ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่เพราะบ้านเรานั้นคือสถานีปลายทางของทางรถไฟสายอีสานใต้นี้อยู่เดิมแล้ว

จุดพีกที่สุดของงานนำเสนอแบบอาคารผู้โดยสารสถานีรถไฟใหม่ทั้ง 4 สถานีหลักนั้นก็มาสะดุดที่ "สถานีรถไฟอุบลฯ อาคารใหม่ของเรา..ที่มันดูพื้นๆ ที่เหมือนจะไม่ได้รับความใส่ใจในงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม" ทั้งๆ ที่สถานีอุบลฯ คือสถานีรถไฟหลัก 1 ใน 10 ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดของประเทศไทย แต่เอ๋! ทำไมเหมือนถูกเมิน ไร้ความเหลียวแล ปราศจากความใส่ใจ ทั้งๆ ที่นี่คือบ้านหลังท้ายสุดของ รฟท.ฟากตะวันออกของประเทศ รูปแบบสถาปัตยกรรมของอุบลฯ ถูกออกแบบที่ฉีก และหลุดจากแบบพี่ๆ น้องๆ เมืองอื่นในเส้นทางเดียวกันเป็นอันมาก เอาง่ายๆ ใช้ตาเปล่าๆ ของประชาชนคนธรรมดานี่แหละดู ก็คงจะมองออกมาว่า "อะไร..? คือความใส่ใจ? ในการออกแบบ หรือความเอาหัวใจใส่ในเนื้องานทุกๆ ชิ้นด้วยความเสมอภาคกัน" อันนี้ง่ายๆ ใครๆ ก็รับรู้ได้

มาพูดคุยกันในแง่มุมงานออกแบบละกัน สถาปัตยกรรมตามภาพตัวอย่าง ย้ำนะครับแอดมินจะวิพากษ์จากภาพตัวอย่างที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ในส่วนของแบบสถานีรถไฟอุบลฯ อาคารใหม่ รูปแบบที่เห็นนอกจากจะไร้อัตลักษณ์ความเป็นอุบลฯ แล้ว งานออกแบบก็มักง่ายไม่มีความเข้าใจในงานสถาปัตย์อีสานแต่ประการใด ซุ้มอาคารใหญ่ที่ถูกออกแบบในภาพมันสะท้อนถึงงานสถาปัตย์แบบขอม (ซุ้มตัวปราสาทหิน) ซึ่งขัดกับอัตลักษณ์ของเมืองอุบลฯ ที่ต้องเป็นงานสถาปัตย์ล้านช้างจึงจะเชื่อมโยงความเป็นพื้นถิ่นได้ ลักษณะอาคารใหม่ เป็นอาคารโถงขนาดใหญ่ระดับพื้นดิน (ชั้นเดียว) มีการออกแบบสะพานข้ามชานชาลาไปยังชานชาลาที่ 1-8 ไว้ด้านใน แต่ลักษณะตัวอาคารก็ยังดูเชยๆ ตามสไตล์การรถไฟวรารามอยู่ดี ซึ่งดูทึบ ไม่โปร่ง อึดอัด ต่างกันอย่างมากกับสถานีบุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ที่ให้ความรู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย หายใจคล่องได้เต็มปอด งานสถาปัตย์ภาพรวมที่พยายามสื่อถึงการเชื่อมโยงกับสถานีเดิม มองเผินเหมือนจะสมเหตุสมผล..แต่จริงๆ แล้วมันคือความไม่ใส่ใจ พิถีพิถัน ความเข้าใจในงานสถาปัตย์ที่ถึงแม้ผู้คนจะวิจารณ์ วิพากษ์ รฟท.ขนาดไหน...แต่เสียงนั้นก็แค่เสียงนกเสียงกาของผู้บริหารมาตลอดหลายยุคสมัย โคตรเหนื่อใจ!

เพจ UBON NOW ในฐานะกระบอกเสียงของชาวอุบลฯ ก็มีความยินดีปรีดาที่โครงการรถไฟรางคู่ จิระ-อุบลฯ ผ่าน EIA เมื่อกลางปีที่แล้ว แต่นะ..ใครๆ ก็มีสิทธิ์คิดและวิจารณ์ได้ ก็ในเมื่อ "งานออกแบบ มันเหมือน 2 มาตรฐาน" ที่อื่นดูดี ดูสวย โดยเฉพาะบ้านท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงราชรถ แต่พอหลุดมาบ้านเรา..แอดฯ ได้แต่อุทานว่า เห้ย...!! ทีบ้านกูออกแบบ เฮีย..จังเลยวะ !! คือมันอดคิดไม่ได้จริง จึงอยากจะให้ประชาคมชาวอุบลฯ ของเรา รวมพลัง แสดงออกทางความเห็นซิว่า ชอบ หรือไม่ชอบ หรือว่าคิดยังไงกับอาคารสถานีใหม่เมืองอุบลฯ ในครั้งนี้

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

ด้านชาวเน็ตต่างคอมเมนต์ดังนี้

- สถานีอุบลราชธานีวรมหาวิหาร

- สถานีการเปรียญ แห่เทียนเมืองอุบล

- คงทำไรไม่ได้มาก แบบมาจากส่วนกลาง เหมือนตอนศาลากลาง ช่วยกันออกแบบแค่ไหน เขาก็กางแบบส่วนกลาง

- คงงั้นแหละ เพราะสมองทุ่มใช้ไปแต่สถานีแรกๆ แล้ว ปลายทางเลยคิดไม่ออก น่าจะให้สถาปนิกท้องถิ่น เช่น ม.อุบลฯ ออกแบบให้ดีกว่านะ

- วัดหรือศาลาว่าการของจังหวัดครับ ยุคไหนแล้วเนี่ย

- ไม่สวยเลย ขอแบบบุรีรัมย์​ครับ

- ทาง รฟท.ควรศึกษาอัตลักษณ์ของเมืองอุบลฯ ก่อนออกแบบสถานี หรือให้ปราชญ์ท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวอุบลฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบสถานีรถไฟของเมืองอุบลฯ นะคะ ไม่ใช่คิดเองเออเอง แต่ละจังหวัดในภาคอีสานมีเอกลักษณ์เฉพาะจังหวัดไม่เหมือนกัน อย่าเหมารวมค่ะ

- ไม่มีการประชาพิจารณ์สานแนวคิดร่วมบริบทชุมชน...และสถาปนิกพื้นถิ่นที่เชี่ยวชาญ...ก็ตามใจ รฟท.เรื่อยมา

- กระทรวงคมนาคม 2 มาตรฐาน

- ใช้บริการแล้วได้อารมณ์เหมือนไปเลี้ยงเพลพระ

- ประชาชนเขาเหนื่อยใจกับผู้ว่าฯ การรถไฟ รมต.คมนาคม




กำลังโหลดความคิดเห็น