พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงบวงสรวงพระหลักเมือง เนื่องในโอกาสกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 240 ปี ณ ศาลหลักเมือง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
วันนี้ (10 พ.ค.) เวลา 17.06 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบวงสรวงพระหลักเมือง เนื่องในโอกาสกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 240 ปี ณ ศาลหลักเมือง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงเข้าหอพระพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลัย
ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธรูปประจำหอพระ เสด็จเข้าศาลเทพารักษ์ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าหอกลอง เจ้าเจตคุปต์
ต่อมาเสด็จเข้าศาลหลักเมืองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระหลักเมือง แล้วเสด็จออกจากศาลหลักเมือง ไปยังมณฑลพิธีบวงสรวงพระหลักเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน และธูป ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย แล้วทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องบวงสรวงสังเวย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องบวงสรวงสังเวยและทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย
จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ อ่านประกาศบวงสรวงพระหลักเมือง จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ไปยังโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวยทรงโปรยดอกไม้ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงกราบที่หน้าโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย แล้วเสด็จ ฯ ไปยังศาลหลักเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม ทรงปิดทอง และทรงผูกผ้าสีชมพูที่เสาพระหลักเมือง รัชกาลที่ 1 และทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม ทรงปิดทอง และทรงผูกผ้าสีชมพูที่เสาพระหลักเมือง รัชกาลที่ 4 แล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงกราบที่หน้าเสาพระหลักเมือง เมื่อได้เวลาอันสมควร ประทับรถยนต์ที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ
อนึ่ง ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตามโบราณราชประเพณี และในโอกาสกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 240 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบวงสรวงพระหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารประสบความสุข ความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรสืบไป
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อันเป็นช่วงเวลาที่สร้างพระนครขึ้นมาใหม่ในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีการสร้างหลักเมืองขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง โดยได้ทำพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 จากนั้นได้พระราชทานนามพระนครใหม่ว่า "กรุงรัตนโกสินทร์อินทร์อโยธยา" ต่อมาก็เรียกกันว่ากรุงเทพมหานคร
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นอาคารที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นสถานที่สำหรับใช้ประดิษฐานเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ดังนั้นการสร้างอาคารจึงต้องเหมาะสมกับสิ่งที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอาคารแห่งนี้จึงโปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารศาลหลักเมืองให้มีความเหมาะสม โดยมีรูปแบบเป็นอาคารจตุรมุขทรงปราสาทยอดปรางค์ ซึ่งการสร้างเป็นอาคารทรงปราสาทแสดงให้เห็นถึงฐานันดรศักดิ์ว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญเป็นอย่างสูง โดยรูปแบบอาคารศาลหลักเมืองในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปีพุทธศักราช 2525 ในโอกาสงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มทาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสมโภชหลักเมือง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงเทพารักษ์ ณ ศาลหลักเมือง เพื่อเป็น สิริมงคลแก่พระนครตามโบราณราชประเพณี และเสด็จพระราชดำเนินไป
ทรงประกอบการพระราชพิธีฯ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2535 อนึ่ง ในการพระราชพิธีสมโภชศาลหลักเมืองครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชปรารกว่า ทางราชการได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนปูชนียสถานและสถานที่สำคัญๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ ให้งดงามมั่นคงเป็นศรีสง่าแก่พระนครแล้วควรพิจารณาดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมือง และอาณาบริเวณรอบศาลหลักเมืองให้กว้างใหญ่งดงามเป็นสง่า สมกับเป็นที่ประดิษฐานแห่งเทพารักษ์ที่รักษาพระนคร และเป็นที่คารพสักการะของปวงชนชาวไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์การดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมือง และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการปรับปรุงศาลหลักเมือง พร้อมทั้งมีมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้ดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองโดยยึดถือรูปแบบอาคารศาลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างไว้เป็นหลัก และการทำรั้วบริเวณรอบนอกศาลหลักเมืองขอให้ออกแบบให้กลมกลืนกับตัวอาคาร โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2535 โปรดเกล้าฯ ให้ส่งเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลพระราชทานสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมือง 521,767.96 บาท
สำหรับอาคารศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นอาคารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูน ส่วนยอดของอาคารที่ต่อจากหลังคาเป็นอาคารจำลองซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป และต่อด้วยยอดปรางค์ ซึ่งอาคารที่มีการซ้อนชั้นแบบนี้เรียกว่า อาคารทรงปราสาท เนื่องด้วยอาคารศาลหลักเมืองใช้สำหรับประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง