xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง-พระราชินี ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ภูเขาทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในหลวง-พระราชินี ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ภูเขาทอง ทอดพระเนตรทัศนียภาพกรุงเทพฯยามค่ำคืน

วันนี้ 22 เม.ย.65 ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ พระอุโบสถ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เสร็จแล้วประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมบรรพต แล้วทรงพระดำเนินขึ้นพระบรมบรรพตทางบันได จำนวน 344 ขั้น แล้วเสด็จขึ้นลานองค์พระเจดีย์บรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) ด้านบนสุด ทรงรับผ้าห่มองค์พระเจดีย์บรมบรรพต ทรงประนมพระหัตถ์ แล้วทรงกล่าวคำถวายผ้าห่มองค์พระเจดีย์บรมบรรพต พระราชทานผ้าห่มให้เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญไปคล้องที่องค์พระเจดีย์บรมบรรพต ทรงชักสายสูตรห่มผ้าที่องค์พระเจดีย์

บรมบรรพต พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ ทรงวางพวงมาลัย แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทรงกราบ จากนั้น เสด็จลงจากลานองค์พระเจดีย์บรมบรรพต ไปยังห้องโถงพระบรมบรรพต ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในแผ่นศิลา แล้วเสด็จลงจากพระบรมบรรพต สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

การนี้ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงพระดำเนินขึ้นพระบรมบรรพตเจดีย์ภูเขาทอง ทางบันได ทอดพระเนตร ทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครยามค่ำคืนอย่างสนพระราชหฤทัย

สำหรับวัดสระเกศ เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิสังขรณ์ และทรงให้ขุดคลองรอบเมืองขึ้น ตั้งแต่บางลำพูถึงตอนเหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส คลองหลอด คลองเหนือวัดสระแก พระราชทานชื่อว่า คลองมหานาค เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ พระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า วัดสระเกศ แปลว่า ชำระหรือทำความสะอาดพระเกศา เนื่องจากวัดสระเกศนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเคยประทับและประกอบพิธีสรงมุรธาภิเษก เมื่อวันเสาร์ เดือน 5แรม 9 ค่ำ ปีขาล ตรงกับพุทธศักราช 2325 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินกรีธาทัพกลับจากกัมพูชา และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อพุทธศักราช 2325

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์ มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” มีความสูงจากฐานถึงยอด 63.6 เมตร ฐานรอบมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 150 เมตร

สำหรับองค์พระเจดีย์มีความสูง 59 เมตร ฐานรอบมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เมตร และเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2497 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์บนยอดพระบรมบรรพต ต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2509 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยอดพระเจดีย์บรมบรรพต รวมทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินไป

ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมถวายโมเสคสีทองแบบเรียบ เพื่อซ่อมแซมพระเจดีย์บรมบรรพต ซึ่งบนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ สาธารณรัฐอินเดีย และตามที่ปรากฏคำจารึกเป็นหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดม จึงถือได้ว่าวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์มาแต่ต้น พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์ก่อสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะสงฆ์สืบมาโดยลำดับ และทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระบรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) และประเพณีห่มผ้าแดง เพื่อบูชาองค์พระเจดีย์

ในวันขึ้น 13 ค่ำ 14 ค่ำ และขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยมีประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ เดินทางมาร่วมงาน
และสักการะพระบรมสารีริกธาตุเป็นจำนวนมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น