หัวหน้าพรรคกล้ายกตัวอย่างกฎหมายที่ทาง EU เพิ่งกำหนดใช้คือ "Digital Services Act (DSA)" ที่มีไว้สำหรับให้ Platform ต่างๆ รับผิดชอบข้อความและโฆษณาที่ปรากฏในพื้นที่ของตน ชี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายลักษณะนี้แล้ว
จากกรณีที่กลุ่มคนรักสถาบันได้ประกาศบอยคอตแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ "ลาซาด้า" (LAZADA) เนื่องจากแคมเปญลดราคาของลาซาด้าในติ๊กต็อก @nara.aniwat700 ที่แสดงโดย นารา เครปกะเทย หรือนายอนิวัติ ประทุมถิ่น เน็ตไอดอลสายตลก และหนูรัตน์ หรือ น.ส.ธิดาพร ชาวคูเวียง ได้มีลักษณะไม่เหมาะสม ทั้งดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ป่วยหรือผู้พิการกลายเป็นตัวตลก และกลุ่มคนรักสถาบันฯ มองว่าโฆษณาดังกล่าวมีเนื้อหาล้อเลียน เสียดสีบุคคลอันเป็นที่เคารพสักการะ ถึงขนาดมีแฮชแท็ก #แบนลาซาด้า ในทวิตเตอร์ พร้อมกับรณรงค์ให้ยกเลิกสมาชิก และลบแอปฯ ลาซาด้าออกจากมือถือ
ภายหลังเพจ "Intersect Design Factory" ของ บริษัท อินเตอร์เซคท์ ดีไซน์ แฟคทอรี่ จำกัด ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า ได้รับมอบหมายจากลาซาด้าให้เป็นผู้ประสานงานและติดต่อจัดทำคลิปโปรโมตแคมเปญ หนึ่งในนั้นคือนารา เครปกะเทย ได้นำเสนอภาพที่ไม่เหมาะสมและกระทบต่อความรู้สึกของผู้ที่ได้รับชมคลิปดังกล่าว บริษัทฯ ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบในการติดต่อและประสานงานแต่เพียงผู้เดียว มีความเสียใจเป็นอย่างมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขออภัยต่อความรู้สึกของคนในสังคม และลาซาด้า โดยได้เร่งดำเนินการระงับการเผยแพร่คลิปดังกล่าวทันที และยืนยันว่าไม่ได้มีความตั้งใจหรือเจตนาอื่นใดในการล้อเลียนพฤติกรรมหรือสภาพร่างกาย หรือเชื่อมโยงพาดพิงถึงบุคคลและสถานการณ์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นโฆษณาของ "ลาซาด้า" ที่ทำร้ายจิตใจของคนไทยเป็นอย่างมาก โดยได้ระบุข้อความว่า
"วันนี้เห็นประเด็นโฆษณาที่ไม่เหมาะสมถึงขั้นทำร้ายจิตใจของคนไทยโดย Lazada แล้ว ทำให้ผมนึกถึงกฎหมาย Digital Services Act (DSA) ที่ทาง EU ได้เพิ่งผ่านขั้นตอนพิจารณาสำคัญ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา
กฎหมาย DSA มีเป้าหมายสำคัญที่จะให้ทาง platform ต่างๆ เช่น Facebook (และ Lazada) รับผิดชอบข้อความและโฆษณาที่ปรากฏในพื้นที่ของตน กฎหมายนี้เข้มงวดกว่าของสหรัฐฯ ที่มีจุดยืนกว้างๆ ว่า platform ไม่ต้องรับผิดชอบ content โดยหลักสำคัญคือภายใต้ DSA นั้น platform ต้องรับผิดชอบต่อข้อความที่เป็นข้อความเท็จ ขัดต่อกฎหมาย หรือผิดจริยธรรม
ภายใต้ DSA นั้น platform ต่างๆ อาจถูกสั่งให้เปิดเผย algorithm ที่ใช้ในการคัดกรองและเผยแพร่ข้อมูลด้วย
ถึงเวลาที่สังคมเราควรต้องพิจารณากฎหมายลักษณะเดียวกัน ที่ผ่านมากฎหมายยังตามเทคโนโลยีไม่ทัน ซึ่งทาง EU วันนี้มองว่าสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นประชาธิปไตยควรได้รับการปกป้องด้วยกฎหมาย สิทธิในการแสดงออก และหลักการ free speech ยังต้องมี
ซึ่ง EU มองว่า ‘free’ ต้องไม่ใช่เท็จ ต้องไม่มีการกีดกันอย่างไม่ยุติธรรม หรือไม่โปร่งใส และต้องไม่ใช่การแสดงออกที่ขัดต่อกฎหมาย หรือทำร้ายสิทธิของผู้อื่นและสังคมโดยรวม
ถึงเวลาของไทยต้องมีกฎหมายลักษณะนี้แล้วหรือยังครับ!?"