ถูกสังคมออนไลน์วิจารณ์อย่างหนักทีเดียวสำหรับคลิปโปรโมตแอพพลิเคชันขายของออนไลน์แอพฯ หนึ่งที่มีการโฆษณาช่วงโปรโมชันการขายในวันที่ 5 เดือน 5 ออกมา
โดยในคลิปดังกล่าวมีการนำเสนอเรื่องราวของตัวละครแม่ลูกคู่หนึ่งที่มีนายอนิวัติ ประทุมถิ่น หรือที่สังคมออนไลน์รู้จักกันในชื่อ "นารา เครปกะเทย" แสดงเป็นลูก โดยมี "หนูรัตน์" (นู๋รัตน์) ธิดาพร ชาวคูเวียง แสดงเป็นแม่
ส่วนเนื้อหาก็ไม่มีอะไรเริ่มต้นด้วยผู้เป็นลูกสาวออกมาโวยวายแม่ที่เอาของเธอใช้ไปใช้ เธอจึงต่อว่าทำไมถึงไม่ซื้อเอง ก่อนที่อีกฝ่ายจะบอกว่าก็ของมัน โคตรแพง ซึ่งคนเป็นลูกก็บอกว่าไม่แพงถ้าซื้อของผ่านแอพฯ นี้ ก่อนจะปรี่เข้าไปจัดการกับผู้เป็นแม่ที่นั่งรถเข็นอยู่ แต่อีกฝ่ายก็กลับลุกยืนขึ้นมา
เอาเข้าจริงๆ ต่อให้ตัดประเด็นที่โฆษณาชิ้นนี้มีความจงใจจะกระทบกระทั่งไปยังสถาบันฯ ตามที่เป็นกระแสอยู่ในตอนนี้แล้ว...คำถามก็คืองานชิ้นนี้มีคุณภาพอะไรพอที่จะเรียกว่าเป็นงานโฆษณาที่ "สร้างสรรค์" บ้างมั้ย?
คำตอบคือนอกจากจะไม่มีแล้ว มันยังเป็นโฆษณาที่มีคุณภาพที่ดูกระจอกมากๆ ชนิดที่ว่างานฝีมือของเด็กประถมที่ทำส่งครูอาจารย์ยังจะดูดีมีความตั้งใจกว่าเสียอีก
ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอที่ไร้ซึ่งชั้นเชิง ไม่มีเหตุผล ไม่มีอะไรที่แสดงถึงความเชื่อมโยงกันเลยระหว่างเรื่องราวตัวละครกับสาระที่ต้องการจะสื่อออกมา แถมยังมีเรื่องของคำหยาบ การใช้ความรุนแรงแบบไร้เหตุผลอีกต่างหาก
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนที่เกี่ยวข้องปล่อยให้งานไร้ราคาแบบนี้ออกมาได้อย่างไร ทั้งที่จะว่าไปแล้วแอพฯ ขายของแอพฯ นี้ก็เป็นแอพฯ ใหญ่ มีศิลปินดาราคนดังเป็นพรีเซ็นเตอร์มากมาย งานนี้ใครที่รับผิดชอบก็คงจะต้องไปตรวจสอบกันแล้วแหละว่ามันมีนอกมีในอะไรหรือไม่อย่างไร? ทำไมเอเยนซีผลงานห่วยๆ แบบนี้ถึงได้งานไปทำ
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสมเพชที่สุดจากงานชิ้นนี้ก็เห็นจะเป็นการนำเอาความพิการไม่สมประกอบของบุคคลอื่นมาล้อเลียนทำเป็นมุกตลก โดยที่ระยำกว่าเป็นสองเท่าก็คือคนที่เอาเรื่องนี้มาล้อเลียนกลับเป็นคนที่มักจะออกมาโอดครวญขอความเห็นใจในฐานะที่ตนเองตกเป็นเหยื่อพร้อมเรียกร้องให้ตัวเองได้รับการปกป้องจากเรื่องเหล่านี้อยู่ปาวๆ นั่นเอง
เอาเป็นว่าถ้าจากนี้ไปคนอื่นเค้าจะเอาเพศสภาพกับความไม่สมบูรณ์ของร่างกายตนเองไปล้อเลียน หรือหยิบเอาเล่นเป็นมุกตลกขำๆ บ้างก็อย่าได้ออกมาตัดพ้ออะไรก็แล้วกัน