อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ข้องใจ "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แนะนำหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของ ณัฐพล ใจจริง ถามกลับทราบหรือไม่มีปัญหาในการนำเสนอข้อเท็จจริงทางวิชาการ
วันนี้ (5 พ.ค.) เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า "ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กับการเสนอแนะนำหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของ ณัฐพล ใจจริง
“ในงานเทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 Summer Book Fest 2022 ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มี “เวที” การเมืองเล็กๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และอาจจะมีนัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นในอีกราว 2 สัปดาห์กว่าๆ จากนี้ ...
... ส่วนคุณวิโรจน์นั้น มาในแนวอุดมการณ์ที่เป็นนามธรรมและคุณค่า คือการนำเสนอในแง่มุมที่ว่า การสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้แข็งแรงนั้น จะต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ผู้คนมีเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการเลือกหาเลือกอ่าน เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ได้อ่านไป ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ถูกต้องทีเดียว ในการพูดรอบนี้ คุณวิโรจน์ได้เอ่ยชื่อหนังสือหลายเล่มที่เป็นหนังสือขายดีและเป็นที่นิยมของคนรุ่นหนุ่มสาวฝั่งฝ่ายประชาธิปไตย เช่น “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง ...
... การสร้างพื้นที่ซึ่งจะมี “เสรีภาพ” ในการอ่าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น มันยังอยู่ในกรอบขอบอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. หรือจะต้องผ่านการขับเคลื่อนผ่านอำนาจรัฐในระดับที่ใหญ่ไปกว่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม โครงการ “คูปองตาสว่าง” ที่จะเป็นบัตรแทนเงินสดที่ กทม.จะแจกให้เด็กๆ นำไปใช้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเพื่อส่งเสริมประสบการณ์ชีวิตเชิงวัฒนธรรม เช่น ไปเข้าพิพิธภัณฑ์ ซื้อหนังสือที่ชอบ หรือลงเรียนกีฬา ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมอื่นๆ ที่ตนเองสนใจได้ตามใจชอบนั้นก็น่าสนใจมาก”
จากคอลัมน์ “คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.’ บนเวทีหนังสือฤดู‘ร้อน’” ของ กล้า สมุทวนิช ใน มติชน 4 พ.ค. 2565
ผมเชื่อว่า สิ่งที่คุณกล้าเขียน เป็นความจริง และผมอยากถามคุณวิโรจน์ว่า คุณไม่ทราบว่า หนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของ ณัฐพล ใจจริง มีปัญหาในการนำเสนอข้อเท็จจริงทางวิชาการหรือครับ?
ถ้ายังไม่ทราบ ผมจะนำบางตัวอย่างมาใส่ไว้ในคอมเมนต์นะครับ แล้วหวังว่าจะให้ความสำคัญกับชาว กทม. อย่างผม ด้วยการตอบข้อสงสัยของผมนะครับ ขอบคุณครับ"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
พร้อมกันนี้ นายไชยันต์ยังได้ยกตัวอย่างปัญหาในการนำเสนอข้อเท็จจริงทางวิชาการของหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” จำนวน 10 ประเด็น