xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงยุติธรรมฉาว ผู้ค้าขายอาหาร-น้ำถูกเอาเปรียบ แถมขายไม่คุ้มค่าเช่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ค้าอาหารและเครื่องดื่มกระทรวงยุติธรรมร้องเรียนเพจสายดาร์ค ถูกบริษัทที่จัดการพื้นที่ศูนย์อาหารเอาเปรียบ ข้าราชการมาทำงานแค่ 15% ขายของไม่คุ้มค่าเช่า เผยร้องเรียนกระทรวงกลับปัดไม่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (29 เม.ย.) เฟซบุ๊ก "อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น part 3" ได้ลงเรื่องราวร้องเรียนจากผู้ค้าในกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ระบุว่า "เช่าพื้นที่ในกระทรวงยุติธรรมขายของ แต่ถูกเอาเปรียบโดยคนที่ดูแลจัดการ ร้องเรียนเงียบ คนในกระทรวงปัดไม่เกี่ยวข้อง ที่ขายในกระทรวงแต่ไม่รู้เรื่อง ฝากสื่อสังคมช่วยตรวจสอบด้วย

มีการขายพื้นที่ซับซ้อนค่ะ และกระทรวงบอกว่าไม่รู้เรื่อง เอาตรงๆ คือทางออแกไนซ์กับทางกระทรวงรู้กันเพราะว่ากินกันอยู่ แต่พอพวกเราเดือดร้อนทางกระทรวงปัดความรับผิดชอบค่ะ

Timeline วันพุธที่ 24 มีนาคม 2564 จองพื้นที่ขายด้วยเงินสดจำนวน 50,000 บาท

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 ทำสัญญาเช่าและชำระเงินส่วนที่เหลือด้วยเงินสดจำนวน 250,000 บาท รวมชำระทั้งสิ้น 300,000 บาท

วันศุกร์ที่ 23 เมษายน 2564 มีประกาศจากกระทรวงเลื่อนเปิดศูนย์อาหารเป็นวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2564 ส่งรายการสินค้าและชื่อร้านเพื่อให้บริษัททำป้ายร้าน

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 มีประกาศจากกระทรวงเลื่อนเปิดศูนย์อาหารเป็นวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2564

ในวันเดียวกันนี้บริษัทแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ทำงานร้อยกว่าคน จึงได้สอบถามว่าทางร้านพร้อมเปิดหรือไม่ ผมสอบถามแล้วร้านอื่นเลื่อนเปิดทั้งหมด จึงได้เลื่อนเปิดร้านตามร้านค้าอื่นไปด้วย

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2564 บริษัทแจ้งว่าวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 ศูนย์อาหารจะเปิดเต็มพื้นที่ ให้ร้านค้าขนของเข้าพื้นที่ได้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2564

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม 2564 บริษัทยืนยันว่าศูนย์อาหารเปิดตามกำหนด และจะมีเจ้าหน้าที่ทำงาน 20% เมื่อผมมาเปิดร้านพบว่าในโซน A มีเพียงร้านอาหารตามสั่งมาเปิดเพียงร้านเดียว และในล็อกขายน้ำของผมยังไม่ได้มีการตกแต่งและติดป้ายร้านค้าพร้อมราคาสินค้าตามที่บริษัทตกลงไว้

วันที่ 12-16 กรกฎาคม 2564 ผมได้เปิดร้านพบว่าจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อยมาก ขายสินค้าไม่ได้จึงปรึกษาทางบริษัทเพื่อพิจารณาให้หยุดขายไปก่อนจนกว่าทางศูนย์อาหารจะเปิดทั้งหมด พร้อมกันนั้นได้ขอให้บริษัททำการติดไฟส่องสว่างเพิ่ม พร้อมกันนี้ทางบริษัทแจ้งว่าตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 จะเปิดขายทุกร้าน

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564 ได้นัดทางบริษัทและเจ้าหน้าที่จากโค้กมาติดตั้งเครื่องขายน้ำอัดลม เจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้ามาล่าช้าและไม่มีอุปกรณ์ต่อท่อน้ำมาด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่โค้กไม่สามารถติดตั้งเครื่องขายน้ำอัดลมให้เสร็จสมบูรณ์ได้

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2564 มีใบแจ้งหนี้ค่าเช่าพื้นที่เรียกเก็บ 50% เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ผมจึงได้ต่อรองบริษัทเนื่องจากได้เข้ามาขายเพียง 5 วัน และขายสินค้าไม่ได้ เจ้าหน้าที่บริษัทแนะนำให้เขียนแจ้งไปในไลน์ผมจึงได้เขียนคำร้องไป ทางบริษัทจึงอนุมัติงดเว้นค่าเช่า

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 ได้เปิดร้านขายอีกครั้งพบว่ายังไม่มีป้ายร้านและไฟส่องสว่างเพิ่มให้ ทางบริษัทได้ทำป้ายรายการสินค้ามาติดให้หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ และเพิ่มไฟส่องสว่างให้ในอีก 2 สัปดาห์หลังจากเปิดร้าน

ประมาณกลางเดือนตุลาคมได้มีการรวมตัวของร้านค้าเพื่อขอต่อรองค่าเช่าพื้นที่ ผมได้ขอต่อรองเรื่องค่าเช่าพื้นที่และขอให้ลดค่าทำสัญญาด้วย ซึ่งทางบริษัทได้ปฏิเสธจะพิจารณาเพียงเรื่องค่าเช่าที่เป็นรายเดือนไป

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2564 ได้เข้าปรึกษากับทางบริษัทซึ่งทางบริษัทมี 3 ตัวเลือกให้ 1. เซ้งพื้นที่ 2. ย้ายพื้นที่ 3. ปรับปรุงร้านให้โดดเด่นขึ้นโดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดทางร้านต้องเป็นผู้ออก

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564 ได้โทรศัพท์ปรึกษาทางบริษัทเรื่องเซ้งพื้นที่ ทางบริษัทยินดีจะดำเนินการให้และแนะนำให้ทำเป็นหนังสือคืนพื้นที่ก่อนเพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดชอบค่าเช่าในระหว่างรอผู้เช่ารายใหม่ และจะทำให้ได้เงินค่าทำสัญญาคืนได้เร็วกว่า โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ผมจึงได้ตอบตกลง

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2564 บริษัทได้สรุปยอดค่าเช่าเดือนตุลาคมของร้านที่ได้ขอลดหย่อนเพิ่มเติมจากที่เรียกเก็บ 10,000 บาท โดยบริษัทลดให้เพิ่ม 3,000 บาท เหลือจ่าย 7,000 บาท จึงได้โอนเงินค่าเช่าไป

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ได้สอบถามถึงเรื่องค่าเซ้งพื้นที่ทางไลน์ บริษัทแจ้งว่าเร่งดำเนินการอยู่

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564 ได้สอบถามถึงเรื่องค่าเซ้งพื้นที่ทางไลน์ บริษัทแจ้งว่าเร่งดำเนินการอยู่หากมีความคืบหน้าจะรีบแจ้งทันที

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 ได้สอบถามถึงเรื่องค่าเซ้งพื้นที่ทางไลน์ บริษัทแจ้งว่ายังไม่มีผู้เช่าใหม่ แต่เดือนหน้าคงแล้วเสร็จเพราะเปิดพื้นที่ใหม่ขึ้นมา

ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ผมได้เข้าไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ฝ่ายไกล่เกลี่ยของกระทรวงยุติธรรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายไกล่เกลี่ยได้โทร.สอบถามทางบริษัท ทางบริษัทตอบว่าในเดือนกุมภาพันธ์นี้น่าจะแล้วเสร็จ หากไม่แล้วเสร็จจะแบ่งจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้ก่อน เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่าให้รอบริษัทดำเนินการในเดือนนี้ก่อน หากไม่มีความคืบหน้าทางเจ้าหน้าที่จะให้ดำเนินการร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรตามขั้นตอนต่อไป

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัทได้ไลน์มาบอกว่าได้ขึ้นพื้นที่ใหม่แล้วจะเร่งปล่อยพื้นที่ให้

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2565 ผมได้ขอให้บริษัทแบ่งจ่ายเงินค่าสัญญาให้บางส่วนก่อนเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท บริษัทได้ตอบข้อความกลับในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2565 ว่าจะดูให้ ผมจึงได้ถามอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2565 ก็ยังไม่ได้รับคำตอบเพิ่มแต่อย่างใด

* นอกจากทวงถามทางไลน์ได้มีการโทรศัพท์สอบถามด้วยแต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้

เคสคุณ อาร์ม ประเด็นเดียวกันค่ะ คือได้อ่านทางโซเชียลไม่ว่าจะเป็นทาง facebook แล้วก็ LINE แล้วก็หลงเชื่อให้มาขายของที่นี่เพราะมาขายของแล้วก็ไม่ตรงกะไม่ตรงตามที่เขาโฆษณาไว้ หนูกว่าจะได้เข้าขายก็ประมาณ 4 เดือน จ่ายเงินไปแล้ว 80,000 บาท (ณ ตอนนี้ได้เข้าขายแล้ว) แต่ว่ามีคนซื้อในกระทรวงยุติธรรมไม่ตรงตามที่ออแกไนซ์แจ้งมา เขาแจ้งมา 2,000-4,000 คนต่อวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว 100-200 คนต่อวัน ไม่ตรงตามที่บอกไว้ เขาบอกหนูว่าร้านหนูเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในกระทรวง ไม่จริงเลย หนูก็เชื่อเขา มาขายปรากฏว่า ร้านน้ำ 5 ร้าน ปัจจุบันขายน้ำเปล่าได้วันหนึ่งไม่เกิน 15 ขวด น้ำอัดลมไม่เกิน 10 ขวด น้ำปั่นไม่เกินวันละ 20 แก้ว ไม่คุ้มกับค่าเช่าเดือนละ 2 หมื่นบาท (ช่วงนี้เขา Work from Home เขาเลยเก็บแค่ 9,000 บาทต่อเดือน ซึ่งขายได้แค่วันที่ข้าราชการมาทำงานเท่านั้น ไม่รวมวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์)

ข้อเรียกร้องหรือความต้องการของหนูในตอนนี้ก็คือให้เขาคืนเงินที่หนูจ่ายไปให้เขาจำนวน 95,000 บาท แต่ยังคงสภาพร้านไว้อยู่ เนื่องจากถ้าหนูไปเขาก็จะเอารถไปขายต่อแล้วคนอื่นก็จะมาเป็นแบบหนูขายน้ำเปล่าได้วันหนึ่งไม่กี่ขวด หนูต้องการคงสภาพไว้จนกว่าพนักงานจะมาทำงานเกิน 90% เพราะ ณ ปัจจุบันพนักงานมาทำงานแค่ 15% มันไม่เหมาะสมกับจำนวนร้านน้ำที่มีทั้ง 7-eleven และอีก 3 ร้านค้า

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

พร้อมกันนี้ เพจดังกล่าวได้แนบเอกสารจากผู้ร้องเรียน กรณีแรก ผู้ค้าได้ข้อมูลการเช่าล็อกศูนย์อาหารมาจากกลุ่มเฟซบุ๊ก โดยมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทที่บริหารงานศูนย์อาหารในกระทรวงยุติธรรม ให้ติดต่อผ่านไลน์เพียงช่องทางเดียว จึงได้นัดดูสถานที่ที่จะขายพร้อมสอบถามรายละเอียดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ก่อนจะโอนเงินมัดจำเพื่อจองพื้นที่เช่างวดแรกจำนวน 10,000 บาท โดยให้โอนเงินไปยังบัญชีบุคคลรายหนึ่งซึ่งเป็นคนละคนกับในสัญญาเช่า

ต่อมาได้นัดทำสัญญาเช่าพื้นที่ขาย และจ่ายเงินส่วนที่เหลือจำนวน 50,000 บาท และตกลงเข้าขายในวันที่ 1 ก.พ. ปรากฏว่าวันที่ 30-31 ม.ค. สอบถามการเข้าพื้นที่ขายอีกครั้งและเตรียมอาหารสดลงพื้นที่แล้ว ไม่สามารถติดต่อทางไลน์ได้ จึงหาเบอร์โทร.ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อติดต่อพร้อมพูดคุยเพื่อหาความชัดเจน ตัวแทนบริษัทแจ้งว่ากระทรวงยุติธรรมให้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) 15 วัน จึงขอเลื่อนให้เข้าขายเป็นวันที่ 1 มี.ค. ผู้ค้าจึงถามหาเงินชดเชยอาหารสดที่เตรียมไว้ 2,761 บาท เพราะตัวแทนบริษัทไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ทำให้เกิดความเสียหาย โดยได้ทวงถามไป 8 ครั้งแต่ก็เงียบ ระหว่างนั้นได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 15 ก.พ.

ต่อมาวันที่ 24 ก.พ.ผู้ค้าเข้าดูพื้นที่ขายจริงที่กระทรวงยุติธรรม และพูดคุยถามหาความจริงกับร้านหลิวโภชนา และได้โทร.ถามความชัดเจนกับตัวแทนบริษัท ผ่านผู้จัดการสถานที่ กระทั่งวันที่ 28 ก.พ. ได้รับแจ้งว่าจะเคลียร์พื้นที่ขายแล้วจะติดต่อกลับ แต่ก็เงียบ จึงได้ส่งเอกสารร้องเรียนไปยังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และเลขานุการกระทรวงยุติธรรม ปรากฏว่าวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่ตัวแทนบริษัทแจ้งว่าให้เข้าขายได้ พื้นที่ขายเต็มทุกล็อก ไม่มีพื้นที่ว่างตามที่ตัวแทนบริษัทแจ้งไว้ จึงได้ตามเงินคืนจำนวน 60,000 บาท ระหว่างนั้นวันที่ 7 มี.ค. ได้เข้าแจ้งความไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง

วันที่ 8 มี.ค. ตัวแทนบริษัทแจ้งว่าจะคืนเงินให้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ก็เงียบ วันที่ 18 มี.ค. ตัวแทนบริษัทแจ้งว่าจะโอนเงินคืน แต่ก็เงียบอีก วันที่ 25 มี.ค. ตัวแทนบริษัทแจ้งว่าจะโอนเงินวันที่ 30 มี.ค. พร้อมดอกเบี้ย ถ้าไม่โอนให้ดำเนินคดีได้เลย ปรากฏว่าโอนเงินคืนให้แค่ 10,000 บาท วันต่อมาแจ้งว่าเงินอีก 50,000 บาท จะจ่ายคืนทั้งหมดภายในวันที่ 5 เม.ย. แต่กลับโอนเงินคืนให้แค่ 10,000 บาท และวันที่ 19 เม.ย. โอนเงินคืนให้ 5,000 บาท รวม 3 ครั้ง 25,000 บาท ขาดอีก 35,000 บาท รวมระยะเวลาที่แจ้งว่าจะคืนเงินมัดจำทั้งหมด เลื่อนมาแล้วราว 2 เดือน

ผู้เสียหายรายถัดมาระบุว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 ได้รับการชักชวนจากตัวแทนบริษัทให้มาเช่าพื้นที่ทำร้านน้ำ (ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม) โดยคิดค่าเช่ารายเดือน 20,000 บาท รวมค่าน้ำ ค่าไฟ คิดค่าแรกเข้าล่วงหน้า 20,000 บาท เงินประกันความเสียหาย 80,000 บาท ค่าส่วนกลาง 200,000 บาท รวม 300,000 บาท สัญญาเช่า 3 ปี อ้างว่าเป็นร้านน้ำใหญ่ ทำร้านพร้อมขาย ขายได้ทุกน้ำ และแจ้งว่าเป็นร้านน้ำใหญ่ ขายได้ทุกน้ำ และจะตกแต่งร้านให้ใหม่ ผู้ค้าได้ขอลดราคาจาก 300,000 บาท เหลือ 280,000 บาท ตัวแทนบริษัทได้ตกลง จึงได้โอนเงินรอบแรก 30,000 บาท เป็นค่าจองล็อก รอบที่ 2 วันที่ 1 พ.ย. 2564 จำนวน 30,000 บาท พร้อมกำหนดวันเปิดร้าน แต่วันที่ 4 พ.ย. 2564 ตัวแทนบริษัทแจ้งว่าจะทำสัญญาให้ และนัดคุยเรื่องร้าน

วันที่ 12 พ.ย. 2564 จ่ายเงินงวดที่ 3 จำนวน 20,000 บาท ตัวแทนบริษัทนัดคุยเรื่องร้านแต่ก็เงียบ กระทั่งวันที่ 19 พ.ย. 2564 ตัวแทนบริษัทนัดสรุปเรื่องการเข้าขายและตกลงว่าจะให้เข้าขายในวันที่ 2 ธ.ค. 2564 ปรากฏว่ามีการเลื่อนเปิดร้านจากวันที่ 15 ม.ค.ออกไป เนื่องจากข้าราชการกระทรวงยุติธรรมมาทำงานแค่ 15% ส่วนที่เหลือคือทำงานที่บ้าน จึงได้ขอให้เลื่อนเปิดร้านออกไปก่อน วันที่ 7 ม.ค. จึงได้ทวงสัญญาเช่า โดยให้คุยกับตำรวจไกล่เกลี่ย ตัวแทนบริษัทจึงติดต่อมาว่าเตรียมพื้นที่ไว้ให้แล้ว ต่อมาวันที่ 14 ก.พ. นำของเตรียมไปจัดร้าน ปรากฏว่าเมื่อไปถึงไม่มีการจัดร้าน ไม่มีการตกแต่งร้านให้ใหม่ตามที่ตกลง และการทำสัญญาเป็นไปอย่างล่าช้า กระทั่งกำหนดเปิดร้านในวันที่ 31 มี.ค.

ก่อนเริ่มขายทางตัวแทนบริษัทระบุว่ามีคนมาใช้บริการประมาณ 2,000-3,000 คน แต่ปรากฏว่ามีมาใช้บริการไม่ถึง 200 คนต่อวัน และที่อ้างว่าเป็นร้านน้ำใหญ่ ปรากฏว่าเป็นร้านเล็กๆ ขายน้ำได้ทุกอย่าง ยกเว้นกาแฟสด ชาไข่มุก และพื้นที่อับมุม ขายไม่ได้ค่าเช่าที่ บางวันขายได้แค่ 500 บาท ไม่ได้หักต้นทุนแต่อย่างใด อีกด้านตัวแทนบริษัทแจ้งว่าจะมีการตกแต่งร้านใหม่และปรับแต่งให้พร้อมเข้าใช้งาน แต่สภาพจริงไม่ต่างจากร้านเดิม ทำให้ต้องเสียเงินในการตกแต่งร้านอีกมาก จึงเรียกร้องให้ทางบริษัทคืนเงินประกันพื้นที่คืน และเงินที่จ่ายไปทั้งหมด 95,000 บาท เนื่องจากบริษัทไม่ได้ทำตามสัญญาหรือข้อตกลง
กำลังโหลดความคิดเห็น