ททท.เล็งส่งเสริมการจัดอีเวนต์และเทศกาลใหญ่ ขยายผลจากความสำเร็จของมาตรการ New Normal ที่เน้นความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมดึงผลการศึกษาการจัดกิจกรรมในต่างประเทศด้วยโมเดลสายกรีนที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแนวทาง
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ททท.ได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพและอนามัยของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และได้เห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทรนด์การท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ (New Normal) ที่นอกจากจะเน้นเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยแล้ว ยังมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของชุมชนรอบด้านมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญในการยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทย และสร้างมิติการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่มีการบูรณาการทุกภาคส่วนให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น
“ที่ผ่านมา ททท.เคยจัดกิจกรรมที่มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานด้วยมาตรฐานการจัดงานแบบ New normal ผู้ร่วมงานและเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ โดยการเว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มาอย่างต่อเนื่อง เช่น งาน Amazing Thailand Countdown 2022 - Amazing New Chapters ใน 5 พื้นที่ทั่วประเทศไทย ซึ่งมีการใช้พลุที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อสะเก็ดพลุตกลงสู่ทะเลจะเป็นอาหารปลาและสัตว์น้ำได้ สอดคล้องกับแผน BCG ของรัฐบาล งานมากินกัญ ใช้วัสดุธรรมชาติในการจัดกิจกรรม เช่น ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดทำเมนูอาหารโดยใช้วัตถุดิบในครัวเรือน เพื่อลดการทิ้งวัตถุดิบเหลือใช้ งานเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565 ใช้วัสดุธรรมชาติในการจัดกิจกรรม เช่น ใบตอง จานกระดาษ ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ใช้ QR Code เพื่อสแกนข้อมูลกิจกรรม และการร่วมกิจกรรมต่างๆ ลดการใช้กระดาษ ส่งของที่ระลึกไปให้ผู้ร่วมเล่นเกมถึงที่บ้าน เพื่อลดการมารวมตัวมารับของภายในงาน ฯลฯ การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวต้นแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งประสบความเสร็จเป็นอย่างดี และตอบโจทย์การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Footprint) ภายใต้กิจกรรม “Care the Bear” ที่ ททท.นำมาใช้เป็นหมุดหมายหนึ่งในการวัดความสำเร็จของแต่ละอีเวนต์”
และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและการเปิดเสรีด้านการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรม เทศกาลต่างๆ มากขึ้น ททท.จึงเห็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมและเทศกาลต่างๆ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ควบคู่มาตรฐาน New Normal โดยศึกษาการจัดงานเทศกาลในต่างประเทศ และพบว่าเทรนด์การจัดงานที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ใส่ใจชุมชน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ อย่างรอบด้านทั้งในเรื่องของอาคารสถานที่ การคมนาคมขนส่ง การใช้พลังงาน มลภาวะ ขยะ ฯลฯ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น
“เทรนด์จัดงานภายใต้แนวคิด Sustainability Management ในต่างประเทศเห็นได้จากเทศกาลดนตรีหลายๆ งาน เช่น การส่งเสริมเทรนด์การเดินทางมาร่วมงานให้กับรถที่มีเพื่อนร่วมทาง 4 คนขึ้นไปสามารถลุ้นรับรางวัลตั๋วฟรี หรืออัปเกรดเป็นตั๋ว VIP ของแคมเปญ Carpoolchella ในงาน Coachella เทศกาลดนตรีและศิลปะที่โด่งดังของแคลิฟอร์เนีย การให้บริการจอดรถจักรยานฟรีและมีระบบแชร์จักรยานของเทศกาล Lollapalooza ในชิคาโก การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ (Reduce, Reuse, Recycle) ของเทศกาล Bonnaroo Music and Arts Festival รัฐเทนเนสซี ที่ผู้จัดงานเปลี่ยนขยะและของเสียจากพลาสติกกว่า 351 ตันกลับมาใช้ใหม่ เทศกาล Shambala Festival ประเทศอังกฤษ ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 100% และเทศกาล NorthSide @ Aarhus มีจุดเด่นคือ ไม่มีที่จอดรถ เพื่อส่งเสริมให้คนใช้ขนส่งสาธารณะ มีเจ้าหน้าที่ Trash Talkers คอยคัดแยกขยะในงาน และให้บริการอาหารที่เป็น Organic 100%”
“การดำเนินการของผู้จัดงานถือว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม โดยหลายๆ งานผู้จัดงานได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างจุดเด่นด้านการอนุรักษ์ พยายามลดผลกระทบที่ตามมา ด้วยการวางแผนการจัดงานอย่างบูรณาการ พิจารณาถึงค่านิยมและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลดผลกระทบด้านลบ และดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยผู้จัดงานในประเทศไทยสามารถดึงเอาตัวอย่างของงานที่ประสบความสำเร็จอย่างแพร่หลายมาปรับใช้ในการจัดงานในประเทศไทยในหลายๆ มิติเช่น การเลือกจัดงานในสถานที่ที่เข้าถึงง่ายด้วยขนส่งสาธารณะเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือการบริหารจัดการขยะและของเสียจากพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว เพื่อสร้างโมเดลการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน”