xs
xsm
sm
md
lg

บพข.? และ? สกสว.ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบไร้คาร์บอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บพข.​ และ​ สกสว.ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวและต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบไร้คาร์บอน และบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อให้เกิดผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ หนุนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และ Happy Model

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมในงาน Amazing New Chapters, Amazing “BALANCE” Tourism ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และพันธมิตร

งานดังกล่าวมุ่งนำเสนอสินค้าคุณภาพ (เส้นทางท่องเที่ยว ที่พักและกิจกรรม) ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG และ Happy Model สู่กลุ่มเป้าหมายชาวต่างประเทศที่พำนักอยู่ในประเทศไทย (Expatriate) มุ่งสู่ตลาด Inbound เป็นการส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้าคุณภาพดังกล่าวสู่กลุ่มตลาดเป้าหมายให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยมุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวแบบ BGC in Tourism ในพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต และเชียงใหม่ งานนี้จัดขึ้น ณ บริเวณ Helix Garden ชั้น 5 อาคาร A ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวบนเวทีการสัมมนา BGC in Tourism Talks ว่า บพข.มีแผนงานรวมถึงการต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบไร้คาร์บอน และบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อให้เกิดผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงยังเป็น 1 ใน 8 หน่วยงานที่ทำความตกลงร่วมมือในโครงการคาร์บอนบาลานซ์ (Carbon Balance Scheme) ท่องเที่ยวอย่างสมดุล ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อตอบโจทย์การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดภาวะโลกร้อนและมลภาวะอีกด้วย  

งาน Amazing New Chapters, Amazing “BALANCE” Tourism นี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยคำนึงถึงการนำเสนอการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เช่น การนำวัตถุดิบท้องถิ่นที่หลากหลายมาสร้างสรรค์เป็นเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การออกแบบที่ประหยัดวัสดุและเลือกวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ ภายหลังเสร็จสิ้นการจัดการวัสดุเหล่านี้จะถูกนำไปบริจาคให้แก่สถานศึกษาต่างๆ และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เช่น เลือกสถานที่จัดงานกลางแจ้งไม่มีเครื่องปรับอากาศ เวลาปิดงานเร็วขึ้นเพื่อลดการใช้พลังไฟฟ้า ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และรณรงค์ให้ผู้จัดแสดงงานและผู้ร่วมงานลดการก่อเกิดขยะ เป็นต้น

งาน Amazing New Chapters, Amazing “BALANCE” Tourism  คือการเปิดบทใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยได้ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และ โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข (Happy Model)  ผ่านท่องเที่ยวสมดุล ใส่ใจ ไร้คาร์บอน เกิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) มุ่งสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูงและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) 

โมเดลการท่องเที่ยวบทใหม่ใน BCG in Tourism เช่น นวัตกรรมท่องเที่ยวหลากชีวภาพสู่สุขสมดุล (Bio Innovative Tourism) เป็นการท่องเที่ยวที่นำความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น พืช สัตว์ ภูมิปัญญา มาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agrotourism) การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะ (Wellness Tourism) นับเป็น “การก่อเกิด” ของการออกแบบแผนการท่องเที่ยว

ท่องเที่ยววิถีเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างคืนธรรมชาติ สู่ความยั่งยืน (Circular Lifestyle Tourism) เป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่มีการออกแบบ “กระบวนการ” ในการใช้ทรัพยากรของห่วงโซ่อุปทานอย่างคุ้มค่า และลดปริมาณ ของเสียให้มากที่สุด (การจัดการและลดขยะ การใช้ซ้ำใช้วน การสร้างคืนทรัพยากรและระบบนิเวศเดิม) 

ท่องเที่ยวสมดุล ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน (Green Tourism) การเดินทางท่องเที่ยวที่รักษาสิ่งแวดล้อม ออกแบบให้เป็นการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) และนำเสนอแนวคิดการท่องเที่ยวลดโลกร้อนที่มีการ “วัด” ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การ ”ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการ “ชดเชย” คาร์บอนเครดิต (Carbon Offsetting) ให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) นับเป็น “การปกป้อง” ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ก่อนหน้านี้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำและการพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564  และต่อมามีการลงนามบันทึกข้อตกลง ได้แก่  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564 เกิดเป็นเครือข่ายองค์กรขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่คำนึงความสมดุลของการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นภาระต่อโลก 











กำลังโหลดความคิดเห็น