กระทรวงอุตสาหกรรมหนุนอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศนำ BCG Model เข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น นำร่อง 16 จังหวัดภาคกลาง ปั้นผู้ประกอบการ 37 ราย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 12.32 เท่าของมูลค่าโครงการ หรือประมาณ 52 ล้านบาท พร้อมทั้งยังรักษาสิ่งแวดล้อม ลดของเสียได้เป็นจำนวนมาก
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจ BCG Model หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ให้เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเพื่อให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการดำเนินโครงการนำร่องในเขตพื้นที่ภาคกลาง ภายใต้โครงการกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการส่งเสริมและพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 พบว่าได้รับความสนใจจากสถานประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มากถึง 82 กิจการ และได้ดำเนินการคัดเลือกสถานประกอบการฯ ที่มีศักยภาพซึ่งผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จำนวน 37 แห่ง
สำหรับสถานประกอบการมีความหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น ประเภทพลาสติก ปุ๋ยอินทรีย์/อินทรีย์เคมี ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง/เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร และผู้ประกอบการโรงแรม/รีสอร์ต เป็นต้น ใน 16 จังหวัดพื้นที่ภาคกลาง เพื่อเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่สถานประกอบการ โดยการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต และต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการ ภายใต้กรอบแนวคิด BCG Model ให้แก่ SMEs พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ด้าน Bio economy การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มมูลค่าจากวัสดุชีวภาพ ด้าน Circular economy การนำของเสียกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ ด้าน Green economy การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดมลพิษ โดยผลการดำเนินโครงการสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 12.32 เท่าของมูลค่าโครงการ หรือประมาณ 52 ล้านบาท
โดยพื้นที่ 16 จังหวัดภาคกลาง เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม นนทบุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น มีความเหมาะสมในการนำแนวทาง BCG Model เข้าไปประยุกต์ใช้ เพราะมีจุดเด่นทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีภาคการผลิตแปรรูปที่เข้มแข็ง และศักยภาพเชิงพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งการเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และด้านโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างสะดวก จึงได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าไปร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่นำแนวทางเศรษฐกิจ BCG ไปใช้ให้เกิดผลสูงสุด ขณะเดียวกันยังเล็งเห็นโอกาสในการผลักดันและสนับสนุนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในการขอรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ดี และสอดคล้องตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ความตกลงปารีส) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
การจัดกิจกรรมสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการ SMEs ตามกรอบแนวคิด BCG Model ครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย สถานประกอบที่เข้าร่วมโครงการฯ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SMEs บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด และภูมิภาค ไม่น้อยกว่า 150 คน และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟูกุดะ ตัวแทนคณะที่ปรึกษาบรรยายภาพรวมและผลสำเร็จของโครงการฯ และตัวแทนของสถานประกอบการ จำนวน 6 กิจการ ที่มีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จและได้รับคัดเลือกเป็น success case มาเล่าประสบการณ์จริงในการเข้าร่วมโครงการและพัฒนาสถานประกอบการตามแนวทาง BCG Model จนประสบผลสำเร็จเพื่อเป็นแนวทางให้สถานประกอบการอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและต่อยอดต่อไป เพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้มีความยั่งยืนในอนาคต