อดีตทนายความคดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ชี้ ความกล้าเปิดเผยตัวตน คือชัยชนะของผู้เสียหายที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ซึ่งสังคมต้องช่วยเสริมพลัง
รายงานพิเศษ
“เราควรเรียกผู้หญิงที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่เขาถูกกระทำความรุนแรงทางเพศว่า "ผู้เสียหาย" แทนคำว่า "เหยื่อ" เพราะเป็นคำที่มีความหมายมากกว่าผู้อ่อนด้อยที่ไร้พลัง ผู้หญิงเหล่านี้เขาต้องใช้พลังอย่างมากในการก้าวข้ามมายาคติของสังคมจึงจะออกมาเปิดเผยตัวเอง คำว่า "ผู้เสียหาย" จึงหมายความว่า เขายังกลับมาเข้มแข็งได้ หลังจากที่เคยพลาดไปแล้ว”
กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม อดีตทนายความคดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก กล่าวถึงหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สื่อมวลชนและสังคม จะต้องช่วยกันสร้างกระบวนการในเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่กล้าหาญออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่เคยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมาก่อน เพื่อให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำไม่ย่อท้อ เข้มแข็ง และสามารถเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเองได้ ซึ่งจะช่วยให้ทั้งตัวผู้หญิงเองและสังคมก้ามข้ามมายาคติเดิมๆ ที่เชื่อกันว่า ผู้หญิงต้องไม่มีความด่างพร้อยเกี่ยวกับเรื่องทางเพศมาก่อนได้
ในฐานะนักต่อสู้ในประเด็นสิทธิสตรีและอดีตทนายความที่ทำคดีเกี่ยวกับความผิดทางเพศมามาก กรวิไล แสดงความเห็นว่า ผู้กระทำความผิดทางเพศต่อผู้หญิงมักจะมีเทคนิคที่ทำให้ตัวเองลอยนวล คือ
1. ทำให้เรื่องเงียบ ปิดปากผู้เสียหาย (Silence the survivors)
2. ตำหนิผู้เสียหาย (Blame the survivors)
3. ปลอมหรือปกปิดข้อเท็จจริง (Fake or conceal the facts)
4. ฟอกตัว (Wash his hands)
5. ยุยงให้เกลียดผู้หญิง (Incite misogyny)
โดยมีรูปแบบที่พบเห็นได้เป็นส่วนใหญ่ของผู้กระทำ เช่น ยืนยันว่าไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักผู้หญิง, แต่งงานแล้ว เป็นพ่อที่ดี สามีที่ดี ตระกูลดี การศึกษาดี อาชีพดี ร่ำรวย หน้าตาดี ประวัติดีไม่เคยด่างพร้อย, ผู้หญิงมีปัญหาเรื่องการเงิน, มีพูดคุยกัน เพราะทำงานด้วยกัน แต่ไม่สนิท ไม่เคยชวน, อ้างว่าเคยไปด้วยกันจริง แต่ผู้หญิงไปเอง ไม่ได้บังคับ, อ้างว่าผู้หญิงไม่พอใจ กลั่นแกล้งต้องการเงิน, อ้างว่าผู้หญิงมีพฤติกรรมเสียหาย ไปสืบประวัติเขาได้, บอกว่าผู้หญิงมีส่วนผิด สมยอม, หลังจากข่มขู่ หรือจ่ายเงินแล้ว จะบอกว่า เห็นไหมล่ะ เขาถอนฟ้องแล้ว บอกแล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง
ซึ่งต่างจากฝ่ายหญิงที่ถูกกระทำ แม้จะเป็นผู้เสียหาย แต่ก็จะมีผลกระทบอื่นๆตามมาหากออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกกระทำ ทั้งถูกสังคมตีตราว่าด่างพร้อย ถูกวิจารณ์ว่าไม่รักนวลสงวนตัว ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการค้นหาความจริงที่ทั้งสื่อมวลชน สังคม และกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความสำคัญ โดยมีหลักว่า ต้องไม่ทำให้ผู้เสียหายที่กล้าออกมาเปิดเผยตัวตน ตกไปอยู่ในสถานะที่ถูกวิจารณ์เสียเอง เพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าออกมาเปิดเผยอีกต่อไป
“ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ มักจะมีปัญหาสภาพจิตใจร่วมอยู่ด้วย ต่อให้ต้องการจะเล่าบางเรื่องเขาก็อาจจะจำไม่ได้ บางทีไปให้การที่ศาลก็จำรายละเอียดไม่ได้ แต่บางเรื่องที่ต้องการจะลืมก็มักจะกลับมาหลอกหลอนอยู่บ่อยๆ พอต้องเล่าก็จะร้องไห้ออกมา ดังนั้นในกระบวนการยุติธรรมจึงมักไม่ถามซ้ำในบางคำถาม เปลี่ยนไปใช้คำถามที่เปิดกว้าง รวมทั้งสื่อมวลชนก็ไม่ควรถามคำถามที่ให้ร้ายผู้เสียหาย เช่น ทำไมไปอยู่ในที่แบบนั้น แต่ควรใช้คำถามกว้างๆ เช่น เปิดให้ผู้เสียหายเล่าเฉพาะในส่วนที่เขาสบายใจที่จะพูดออกมาได้เท่านั้น ก็จะทำให้ผู้เสียหายเข้มแข็งพอที่จะเปิดเผยเรื่องราวได้”
เมื่อเรื่องราวการถูกกระทำรุนแรงทางเพศถูกเปิดเผยออกไปในโซเชียลมีเดีย กรวิไล เปิดเผยว่า เป็นดาบสองคมเช่นเดียวกัน โดยมีงานวิจัยขององค์การสหประชาชาติที่สำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า แม้ในโลกออนไลน์จะมีเทรนด์ของการที่สังคมออกมาสนับสนุนให้ผู้หญิงกล้าออกมาเปิดเผยเรื่องนี้มากขึ้น แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งที่ตามมาคือ มีรูปแบบการใช้ถ้อยคำที่แสดงถึงความเกลียดชังผู้หญิงเหล่านี้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่ทำงานด้านผู้หญิง จึงควรประสานกับสื่อมวลชนกระแสหลัก ให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าต้องนำเสนอข้อความที่สร้างพลังเชิงบวกให้พวกเธอ เพราะข้อความที่คนทั่วไปจะแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ ก็มักจะมีจุดตั้งต้นที่มาจากข้อมูลผ่านการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนกระแสหลัก พร้อมยกตัวอย่างการออกมาเปิดเผยตัวว่าเป็นผู้ถูกกระทำรุนแรงทางเพศของ “แอนนา” หทัยรัตน์ ธนากิจอำนวย (วิทยพูม) ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สื่อมวลชน หน่วยงานรัฐ และสังคม จะสามารถช่วยกันสร้างพลังเชิงบวกให้เกิดความกล้ากับผู้เสียหายรายอื่นๆ ไปด้วยได้
“กรณีของผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ต่างจากกรณีของเด็ก ถ้าเป็นเด็กมีประเด็นที่อ่อนไหวเยอะ มีกฎหมายคุ้มครองเด็กเยอะ แต่ผู้หญิงที่บรรลุนิติภาวะแล้ว อย่างคุณแอนนา ที่เธอออกมาแสดงออกว่าเธอเข้มแข็งแล้ว เธอมีความเต็มใจที่จะเปิดเผยเรื่องของตัวเอง ก็ไม่จำเป็นต้องปิดบังหรือเบลอหน้าของเธอในสื่อ เพราะการปิดบังใบหน้าอาจทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นตกอยู่ในสถานะความเป็นเหยื่อตลอดไป ดังนั้น สื่อมวลชนควรจะเปิดเผยใบหน้าของเธอด้วยภาพที่สวยงาม เป็นภาพของคนๆหนึ่งที่เข้มแข็ง พร้อมออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ต้องชื่นชมสามีของคุณแอนนาด้วย”
“นั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้คำว่า ผู้เสียหาย ต่างจากคำว่า เหยื่อ และจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ผู้เสียหายคนอื่นๆในกรณีอื่นๆ กล้าที่จะออกมาเปิดเผยตัวตน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกสังคมตีตราในเชิงลบด้วย” กรวิไล กล่าว
กรวิไล อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีกระบวนการทางสังคมสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศกล้าเปิดเผยตัว เพราะมันจะมีผลต่อการเก็บหลักฐานในทางคดี หากผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย จะทำให้พวกเธอกล้าไปแจ้งความดำเนินคดี กล้าไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายตั้งแต่แรก และนั่นจะทำให้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้ง่าย รวมทั้งจะทำให้หน่วยงานต่างๆสามารถนำผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพจิตใจได้เร็วขึ้นมากอีกด้วย
กรวิไล ยังมีข้อเสนอต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับการทำคดีล่วงละเมิดทางเพศด้วยว่า คดีเหล่านี้ ผู้ก่อเหตุที่เป็นฝ่ายชาย มักอยู่ในสถานะที่มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายผู้เสียหาย และมักมีข้ออ้างต่างๆที่จะทำให้ตนเองพ้นผิดได้ ดังนั้นหากหน่วยงานในกระบวรนการยุติธรรม ตัดสินใจ “ส่งฟ้อง” ก็ต้องมีกระบวนการในการปกป้องผู้เสียหายที่กล้าออกมาให้ข้อมูลด้วย โดยการทำให้หน่วยงานรัฐที่ส่งฟ้อง มีสถานะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงทางคดี ไม่ปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหา มีช่องทางที่สามารถย้อนกลับไปดำเนินคดีกับผู้เสียหายได้อีก
“ไม่ว่าผลของคดีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร แต่สำหรับเราที่ทำงานด้านผู้หญิงมานาน เราถือว่า ฝ่ายผู้หญิงชนะแล้ว เพราะอย่างน้อยความกล้าหาญที่พวกเธอออกมาพูด จะช่วยระงับยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีกมาก” กรวิไล กล่าวทิ้งท้าย