xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ" แนะวิธีสกัด 'โอมิครอน' เน้นป้องกันการแพร่เชื้อ ย้ำอย่าขายฝันให้คนถอดหน้ากาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอธีระแนะวิธีสกัดโอมิครอน เน้นการติดเชื้อแพร่เชื้อ ลดพฤติกรรมเสี่ยง ย้ำไม่ใช่สร้างภาพฝันที่เป็นไปไม่ได้ในเวลาอันสั้น เช่น วางแผนการถอดหน้ากาก หรือโปรโมตว่าจะเสรีการใช้ชีวิตโดยปราศจากการป้องกัน จะเฮโลสาระพาประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ทั้งๆ ที่องค์ประกอบต่างๆ ไม่มีทางเป็นไปได้ในเวลาไม่กี่เดือน

วันนี้ (6 เม.ย.) เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า ทะลุ 493 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,218,635 คน ตายเพิ่ม 3,382 ราย รวมแล้วติดไปรวม 493,743,100 คน เสียชีวิตรวม 6,182,672 ราย สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก บทเรียนจากหมู่เกาะฟาโร หากจำกันได้ ต้นเดือนธันวาคม 2564 มีรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่หมู่เกาะฟาโร เกิดขึ้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มารวมตัวกันแบบส่วนตัว (private gathering) จำนวน 33 คน พบว่าเกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 กันมากถึง 21 คน หรือ 64% ทั้งนี้ ทุกคนที่ติดเชื้อล้วนมีอาการป่วย แต่ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีการตรวจสอบสายพันธุ์ไวรัสพบว่าเป็นสายพันธุ์ Omicron ถึง 13 คน ที่สำคัญคือ ทุกคนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาเรียบร้อยแล้ว (fully vaccinated and boosted) และได้มีการตรวจคัดกรองโรค 36 ชั่วโมงก่อนจะมาเจอกัน

เหตุการณ์ข้างต้นนำไปสู่การสอบสวนโรคและกักตัวคนที่สัมผัสใกล้ชิดรวม 70 คนในเวลาต่อมา เรื่องที่เล่ามานั้น สะท้อนความจริงที่เราเห็นในสถานการณ์ปัจจุบันคือ ฉีดวัคซีนครบแล้ว ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว ก็ยังติดเชื้อได้ และแม้จะตรวจคัดกรองมาก่อน ก็อาจตรวจไม่พบเพราะคนใดคนหนึ่งอาจเพิ่งรับเชื้อมา ยังอยู่ในช่วงระยะเวลาฟักตัวของโรค หรืออาจติดเชื้ออยู่ แต่ปริมาณเชื้อยังไม่มากพอที่จะตรวจพบจากวิธีตรวจคัดกรองที่ใช้ และยังไม่มีอาการให้เห็น
บทเรียนจากหมู่เกาะฟาโรนั้น หากทั่วโลกรวมถึงไทยเราได้ติดตามรายละเอียด และนำมาใช้วางแผนรับมือ อาจทำให้ลดผลกระทบ ไม่ให้เกิดการติดเชื้อมาก และมีป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นดังที่กำลังประสบอยู่ขณะนี้
เพราะสะท้อนให้เห็นว่า

หนึ่ง วัคซีนน่าจะเป็นอาวุธเพื่อใช้หวังผลในแง่ลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต แต่ยากที่จะหวังผลหลักในการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการป่วย

ยิ่งหากสัดส่วนของประชากรในประเทศ ยังได้วัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย ก็ยิ่งต้องระวังมาก ไม่ผลีผลามกระโจนตามประเทศอื่นที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมา ผลกระทบจะเกิดขึ้นมากและยาวนาน

สอง ยุทธวิธีหลักในการควบคุมการระบาดของ Omicron ที่ควรทำคือ การเน้นย้ำเรื่องการป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อ ลดพฤติกรรมเสี่ยงให้แก่ประชาชนทุกคนในประเทศ ไม่ใช่สร้างภาพฝันที่เป็นไปไม่ได้ในเวลาอันสั้น เช่น วางแผนการถอดหน้ากาก หรือโปรโมตว่าจะเสรีการใช้ชีวิตโดยปราศจากการป้องกัน จะเฮโลสาระพาประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ทั้งๆ ที่องค์ประกอบต่างๆ ไม่มีทางเป็นไปได้ในเวลาไม่กี่เดือน

เหนืออื่นใด ปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากคือ ผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นได้หลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 คือ Long COVID ที่จะทำให้ประชากรจำนวนมากในประเทศตกอยู่ในภาวะที่บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมถึงทำให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมาในระยะยาว

หัวใจสำคัญของการประคับประคองให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ระบาดระยะยาวนั้นคือ การนำเสนอสถานการณ์จริงให้คนในสังคมรู้เท่าทัน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ทำให้เกิดข้อกังขา, การจัดหายาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีปริมาณเพียงพอ เป็นที่ยอมรับและเป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์สากล, การจัดระบบบริการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพเพื่อรองรับปัญหาปัจจุบัน (COVID-19) และอนาคต (Long COVID) อย่างครอบคลุม ทั่วถึง เข้าถึงได้ง่าย และมีความเพียงพอ

และที่สำคัญที่สุดคือ การกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมทราบความจริงว่า การป้องกันตัวระหว่างดำเนินชีวิตประจำวัน เรียน ทำงาน ค้าขาย พบปะสังสรรค์ต่างๆ นั้นยังจำเป็นต้องทำไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าการระบาดของโรคนั้นจะดีขึ้น โดยยากที่จะกำหนดเงื่อนเวลาแบบฟันธงได้ในเร็ววัน ไม่ล่อด้วยกิเลส แต่ยืนบนพื้นฐานความจริง นี่คือสิ่งที่จะทำให้เรารอดชีวิตท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต"



กำลังโหลดความคิดเห็น