xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อหรือไม่..คนกรุงเทพฯใช้น้ำเปลืองที่สุดในโลก!สถิติหลายอย่างที่น่าสนใจใน “วันน้ำโลก” ๒๒ มีนา !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต เพราะชีวิตย่อมขาดน้ำไม่ได้ การสำรวจดาวเคราะห์ต่างๆในวันนี้ว่ามีดาวดวงไหนที่มนุษย์จะไปอยู่ได้บ้าง สิ่งแรกที่ต้องสำรวจก็คือมีน้ำหรือไม่ เพราะมนุษย์เราเก่งผลิตอะไรก็ได้ แต่ยังไม่สามารถผลิตน้ำได้ อย่างเก่งก็แค่ทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด จึงต้องใช้น้ำจากธรรมชาติเท่านั้น

ความจริงโลกเรามีน้ำปกคลุมถึง ๒ ใน ๓ แต่เป็นน้ำเค็มในทะเลและมหาสมุทร ส่วนน้ำจืดมีอยู่แค่ร้อยละ ๑ และส่วนใหญ่จะอยู่ที่บริเวณขั้วโลกและธารน้ำแข็ง หรือซึมอยู่ใต้ผิวดินลึกจนเอามาใช้ไม่ได้ มีเพียงร้อยละ ๐.๒๕ เท่านั้นที่ได้จากแม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำใต้ดิน แต่ก็ยังมีปนเปื้อนมลพิษต่างๆอีก ทำให้น้ำที่ใช้ได้มีปริมาณลดลงทุกปี ด้วยเหตุนี้จึงมีตัวเลขว่า พลเมืองโลกที่มีกว่า ๖,๐๐๐ ล้านคนในวันนี้ ราว ๒,๔๐๐ ล้านคนยังขาดแคลนน้ำ

นอกจากนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังสำรวจพบว่า ประเทศไทยติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ประเทศที่ใช้น้ำมากที่สุด รองจากอินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และญี่ปุ่น และผลสำรวจยังพบอีกว่า ในการใช้น้ำนั้น คนกรุงเทพฯใช้น้ำเปลืองมากที่สุดในโลก เฉลี่ยใช้น้ำราว ๒๖๕ ลิตรต่อคนต่อวัน ขณะที่คนฮ่องกงใช้น้ำน้อยที่สุด เพียง ๑๑๒ ลิตรต่อคนต่อวัน ไม่ถึงครึ่งของคนกรุงเทพฯ เพราะประเทศเรามีน้ำอุดมสมบูรณ์จนไม่ค่อยคิดกันเรื่องขาดน้ำ กลัวแต่น้ำท่วมเท่านั้น

น้ำไม่มีทางไหลออกไปนอกโลกได้ก็จริง แต่ประชากรของโลกก็เกิดมาใช้น้ำกันมากขึ้น ทั้งยังมีน้ำที่ซึมลึกลงไปในดินจนยากที่เอาขึ้นมาใช้ ปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที อาจถึงขั้นเปิดศึกแย่งชิงน้ำในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ ในปี ๒๕๓๕ สมัชชาสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๒ มีนาคมของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” “World Water Day” ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของมวลมนุษยชาติ เพราะน้ำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการอนุรักษ์น้ำและพัฒนาแหล่งน้ำ พร้อมทั้งจัดตั้งองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติขึ้นด้วย

ส่วนไทยเรา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระราชดำรัสการเปลี่ยนแปลงของโลกและภาวะขาดแคลนน้ำของประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ก่อนหน้านั้นแล้วว่า
 
“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”

และ “...น้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ....”

โครงการพระราชดำริจึงมีโครงการเกี่ยวกับน้ำมากมาย เช่น โครงการแก้มลิง โครงการเขื่อนต่างๆ โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย การบำบัดน้ำด้วยผักตบชวา โครงการฝนหลวง โครงการคลองลัดโพธิ์ และโครงการฝายทดน้ำต่างๆ เป็นต้น เพื่อคนไทยจะได้มีน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ขาดแคลนน้ำ

ผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเมืองต่างๆกว่า ๕๐๐ เมืองทั่วโลก คาดการณ์ว่า ในปี ๒๕๗๓ หรือ ๘ ปีข้างหน้า จากพฤติกรรมของมนุษย์ การเติบโตของประชากร และสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ ๑๑ เมืองมีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ ด้วยเหตุต่างๆกัน คือ

๑. เซาเปาโล ประเทศบราซิล ๑ ใน ๑๐ เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ประชากร ๒๑.๗ ล้านคนมีน้ำประปาใช้ไม่ถึง ๒๐ วันใน ๑ เดือน ถึงขนาดปล้นรถขนน้ำที่รัฐบาลส่งไปช่วย และเกิดขึ้นบ่อยจนต้องมีตำรวจคุ้มกันรถขนน้ำ

๒. บังคาลอร์ เมืองที่มีประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย และถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยี ทำให้น้ำในแม่น้ำและทะเลสาบของเมืองปนเปื้อนสารเคมี แม้จะมีการบำบัดแล้วยังพบว่า ๘๕ เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำที่ใช้ได้เฉพาะการชลประทานและระบายความร้อนในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่เหมาะแก่การเป็นน้ำดื่มและน้ำใช้

๓. ปักกิ่ง ประเทศจีน ประเทศที่มีประชากรเกือบ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่มีน้ำเพียง ๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และมีปัญหามลพิษมาก ตัวเลขอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ผิวน้ำของกรุงปักกิ่ง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ สกปรกขนาดที่ไม่สามารถใช้ในการเกษตรหรืออุตสาหกรรมได้ ทางการจึงเร่งแก้ด้วยการผันน้ำขนาดใหญ่ เอาน้ำดีไล่น้ำเสีย

๔. กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ มีแม่น้ำไนล์เป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีการทำเกษตรกันมาก แต่ไม่มีการบำบัดน้ำเสียหรือลดการทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำ องค์การอนามัยโลกพบว่าผู้เสียชีวิตของประเทศอียิปต์ที่เกิดจากมลพิษทางน้ำสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก และอาจขาดแคลนน้ำในปี ๒๕๖๘ เพราะแหล่งน้ำไม่อาจใช้อุปโภคบริโภคได้

๕. กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดเนเซีย มีประชากรในเมืองราว ๑๐ ล้านคน แต่มีเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เข้าถึงน้ำประปาได้ จึงมีการลักลอบขุดน้ำบาดาลกันมากจนแผ่นดินกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ทรุดลงอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแล้ว ทั้งเวลาฝนตกน้ำซึมลงใต้ดินได้น้อย เพราะถนนในเมืองเต็มไปด้วยถนนคอนกรีตและยางมะตอย

๖. มอสโค ประเทศรัสเซีย แม้แหล่งน้ำจืด ๑ ใน ๔ ของโลกอยู่ที่รัสเซีย แต่ประสบปัญหามลพิษที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคสหภาพโซเวียด น้ำประปากว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ต้องใช้น้ำจากผิวดินที่ปนเปื้อนเป็นแหล่งผลิต การประปาเองก็ยอมรับว่าน้ำดื่มของรัสเซียที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย มีเพียง ๓๕-๖๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

๗. อิสตันบูล ประเทศตุรกี รัฐบาลยอมรับเมื่อปี ๒๕๕๙ ว่าประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ และอาจทวีความรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติในปี ๒๕๗๓ อิสตันบูลมีประชากร ๑๔ ล้านคนได้เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงต้นปี ๒๕๕๗ แล้ว เนื่องจากแหล่งน้ำของเมืองลดระดับลงเหลือไม่ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์

๘. เม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก การขาดแคลนน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ของชาวเม็กซิกัน คน ๒๑ ล้านคนในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ๑ ใน ๕ เท่านั้นที่ได้รับน้ำประปา และมีไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะในเมืองไม่มีแหล่งน้ำ ต้องนำเข้ามาจากแหล่งน้ำที่อยู่ไกลโดยไม่มีการบำบัดน้ำเสีย

๙. ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ ๖๐๐ มิลลิเมตรเท่านั้น แหล่งน้ำใช้ของกรุงลอนดอนจึงมาจากแม่น้ำเทมส์และแม่น้ำลีกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประเมินว่า กรุงลอนดอนจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในปี ๒๕๖๘ และถึงขั้นรุนแรงในปี ๒๕๘๓

๑๐. โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีฝนตกอยู่ในช่วง ๔ เดือนแรกของปีเท่านั้น การทำน้ำประปาจึงต้องพึ่งน้ำผิวดิน เช่นแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือหิมะละลาย รัฐบาลได้แนะนำให้ประชาชนสำรองน้ำฝนไว้ใช้สำหรับครัวเรือน จึงมีถังเก็บน้ำฝนอยู่ทั่วไปในกรุงโตเกียว แสดงให้เห็นถึงการขาดแคลนน้ำใช้ของมหานครแห่งนี้อีกแห่ง

๑๑. ไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นเมืองอยู่ติดชายทะเล มีหนองคลองบึงอยู่มาก และมีพายุฝนกระหน่ำเกือบทุกปี แต่กลับเป็นผลร้าย เพราะน้ำทะเลจะขึ้นสูงเมื่อมีฝนกระหน่ำ ทำให้น้ำเค็มเข้าไปปนเปื้อนน้ำจืดซึ่งเป็นน้ำอุปโภคบริโภคของเมือง เกิดวิกฤตในการกรองน้ำ ทั้งเมืองข้างเคียงอีกหลายแห่งก็ประสบปัญหาเดียวกัน
 
ใครที่ชังชาติ ไม่อยากอยู่เมืองไทย จะย้ายไปอยู่เมืองไหนก็ดูให้ดีเสียก่อนนะ เดี๋ยวจะตายเพราะขาดน้ำ








กำลังโหลดความคิดเห็น