xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนอย่างยั่งยืนกับ ESG Stock แนวโน้มการลงทุนให้ความสำคัญต่อ ESG มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนวคิดการลงทุนแบบยั่งยืน คือ การลงทุนที่คำนึงถึงมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม (E:Environmental) สังคม (S:Social) และธรรมาภิบาล (G:Governance) หรือ ESG ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว และลดผลกระทบเชิงลบที่อาจสร้างขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ESG ก้าวเข้ามาเป็น “เมกะเทรนด์” จากการตื่นตัวของสังคมโลกที่เริ่มตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ทั้งในเชิง 1) นิเวศวิทยา เช่น อากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ภูเขาน้ำแข็งในเขตพื้นที่ขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นส่งผลให้เกิดภาวะอุทกภัยใหญ่ในหลายๆ ประเทศ และ 2) เศรษฐกิจ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกัดกร่อนชายฝั่งทะเล ส่งผลให้อุตสาหกรรมประมง และทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลต้องประสบปัญหา ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าประเด็นด้าน ESG ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2021 ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties : COP) ครั้งที่ 26 ที่มีเป้าหมายหลักให้ประเทศต่างๆ ต้องมีแผนระยะยาวร่วมกันในการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030 และคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050

ในมิติของภาคธุรกิจและด้านการลงทุน ประเด็นด้าน ESG เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องกลับมานั่งคิดทบทวนหาทางออกให้ภาคธุรกิจผ่านพ้นทั้งผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 และการ Disruption ที่เกิดขึ้น รวมถึงสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่นเดียวกับมุมมองของนักลงทุนที่ก็เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยผลการศึกษาจาก GIIN : Global Impact Investing Network ในปี 2020 ที่สำรวจมุมมองของนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ของโลก จำนวน 300 ราย พบว่าส่วนใหญ่ประมาณ 68% ระบุว่าได้นำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามามีส่วนในการพิจารณาประกอบกับการตัดสินใจลงทุน โดยมีสาเหตุหลักมาจากแรงผลักดันของกระแสสังคมโลก และการพยายามลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น ในขณะที่ผลการศึกษาของ Royal Bank of Canada ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ (45% ของกลุ่มตัวอย่างมีสินทรัพย์สูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) พบว่ามีมุมมองเชิงบวก และแนวโน้มส่วนใหญ่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น (ปี 2020 เทียบกับปี 2018-2019) จากการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญต่อ ESG

ESG ที่จับต้องได้ในมุมมองด้านการลงทุน
แม้ว่าการวิเคราะห์ปัจจัยด้าน ESG ส่วนหนึ่งจะเป็นปัจจัยที่เป็นนามธรรม แต่ก็มีอยู่หลายปัจจัยที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ด้านการเงินและธุรกิจได้เช่นกัน ดังนี้

1) ต้นทุนทางการเงิน: บริษัทที่ให้ความสำคัญต่อ ESG จะมีโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Funding) ได้มากกว่าบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญต่อ ESG ในเชิงเปรียบเทียบ เช่น การเข้าถึงเงินกู้สีเขียว (Green Loan) เนื่องจากการให้ความสำคัญของสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า มีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ และหากนำไปใช้ในการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมด้วยการใช้วิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow : DCF) สมมติฐาน อัตราคิดลดจะถูกปรับให้ต่ำลง (ส่งผลให้มูลค่าหุ้นสูงขึ้น)

2) การประเมินมูลค่าด้าน ESG ให้เป็นตัวเลข หรือ กระแสเงินสดในอนาคต : ในการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ เราอาจจะเปลี่ยนตัวแปรเชิงคุณภาพด้าน ESG ให้เป็นตัวเลขกระแสเงินสดโดยตรง ถือว่าเป็นอีกวิธีที่ตรงไปตรงมา บนสมมติฐานที่ว่า บริษัทที่มี ESG จะมีความเสี่ยงต่ำ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีธรรมาภิบาล ย่อมมีความเสี่ยงการถูกฟ้องร้องต่ำกว่าบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาล เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดดัชนีชี้วัด หรือคะแนนด้าน ESG (ESG Scoring) อาจสามารถทำได้หลายวิธี และยังคงมีข้อโต้เถียง รวมทั้งยังไม่มีงานวิจัยทางวิชาการใดที่มีบทสรุปและแนวทางการนำไปใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างชัดเจน

อาจกล่าวได้ว่าเราคงเห็นถึงทิศทางและแนวโน้มในระยะยาวต่อกระแสการให้ความสนใจเกี่ยวกับ ESG ที่เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน อีกทั้งในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ที่จะถูกบังคับใช้เป็นบรรทัดฐานในสังคม ทั้งการใช้ชีวิต และการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น การลงทุนที่เกาะไปกับกระแสหลักของโลกดังกล่าว จึงคงจะไม่เกินไปนักที่จะกล่าวได้ว่าเป็น “การลงทุนอย่างยั่งยืน”
------------------------------------------------------------------------
โดย คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
 
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น