xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 ก.พ.-5 มี.ค.2565

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.“แม่แตงโม” ยัน ไม่ได้เห็นแก่เงิน 30 ล้านแค่สมมุติ อยากให้รักแม่เหมือนเดิม ชี้ ให้อภัย “ไฮโซปอ” เพราะสุภาพ-เป็นคนดี!

ความคืบหน้ากรณีแตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ ดารานักแสดงชื่อดัง ตกจากเรือสปีดโบ๊ทกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงใต้สะพานพระราม 7 ระหว่างล่องเรือกับเพื่อนเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 24 ก.พ. ก่อนจะพบร่างช่วงบ่ายวันที่ 26 ก.พ.หลังศพลอยขึ้นจากน้ำนั้น

ตำรวจ สภ.นนทบุรีได้ออกหมายจับนายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือไฮโซปอ เจ้าของเรือ ข้อหาฝ่าฝืนใช้เรือที่มิได้รับใบอนุญาตใช้เรือ หรือที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือผิดไปจากเขตหรือตำบลในการเดินที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต, กระทำการโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พร้อมออกหมายจับนายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือโรเบิร์ต ที่ถูกระบุเป็นคนขับเรือขณะเกิดเหตุ ข้อหากระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ฝ่าฝืนใช้เรือที่มิได้รับใบอนุญาตใช้เรือ หรือที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือผิดไปจากเขตหรือตำบลในการเดินที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต นอกจากนี้ยังออกหมายเรียกสอบบุคคลที่เหลือซึ่งอยู่บนเรือขณะเกิดเหตุ ประกอบด้วย น.ส.อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือกระติก ผู้จัดการส่วนตัวของแตงโม นายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือแซน นายนิทัศน์ กีรติสุทธิสาธร หรือจ๊อบ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.

ซึ่งต่อมา ทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอประกันตัวไฮโซปอและโรเบิร์ต ก่อนที่ทางตำรวจจะอนุญาตให้ประกันตัว ในวงเงินคนละ 2 แสนบาท

ด้านกระติกและแซนได้ร่วมกันแถลงข่าวหลังให้ปากคำตำรวจ โดยยืนยันว่า แตงโมเดินไปปัสสาวะที่ท้ายเรือ โดยแซนบอกว่า ตนกำลังนอนเล่นมือถืออยู่ท้ายเรือ แล้วแตงโมเดินไปแล้วบอกว่าจะปัสสาวะ พร้อมนั่งลงและขับขาของแซนทั้งสองข้าง โดยยืนยันว่า ขณะนั้นเรือขับไม่เร็ว แต่จังหวะแตงโมลุกขึ้น เสียหลักตกน้ำ ตนจึงตะโกนว่า โมตกน้ำ แล้วคนขับเรือก็รีบวนกลับมาช่วย แซนบอกด้วยว่า ตอนที่แตงโมตกน้ำ เอื้อมไปช่วยไม่ถึง เพราะหน้าทิ่มไปด้วย ตนยังทรงตัวลำบากเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อนักข่าวถามว่า แตงโมใส่ชุดบอดี้สูท แล้วใช้มือทั้งสองข้างจับขาแซน แล้วจะใช้มือที่ไหนแหวกชุดเพื่อนั่งปัสสาวะ แซนกล่าวว่า “พี่ไม่เคยเหรอคะ ไม่เคยต้องปัสสาวะแบบรีบๆ ในชุดบอดี้สูทเหรอคะ...”

ขณะที่กระแสสังคมและดาราหลายคน ได้ออกมายืนยันว่า การจะปัสสาวะที่ท้ายเรือในชุดบอดี้สูท ทำไม่ได้แน่นอน อย่าว่าแต่ผู้หญิง ผู้ชายหลายคนยังยืนยันว่า ต่อให้เป็นตนเองก็ไม่กล้ายืนปัสสาวะที่ท้ายเรือแบบนั้นแน่นอน เพราะอันตรายมาก

ด้านรายการโหนกระแสได้เชิญผู้เกี่ยวข้องบนเรือไปออกรายการเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งขาดเพียงโรเบิร์ตที่ไม่ได้ออกรายการด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า วันดังกล่าว นักข่าวช่อง 3 ได้เห็นรอยช้ำและรอยข่วนตามร่างกายของจ๊อบ ขณะเปลี่ยนเสื้อ เพื่อใส่เสื้อตัวที่ใส่ในวันเกิดเหตุ เมื่อนักข่าวถามถึงรอยดังกล่าว จ๊อบบอกว่า เกิดจากการล้มบนเรือหลังเกิดเหตุแตงโมตกน้ำ แต่เมื่อนักข่าวซักว่า ล้มจุดใด ล้มอย่างไร ทำให้จ๊อบไม่พอใจ และไปบอกไฮโซปอ กระทั่งไฮโซปอได้บอกให้นักข่าวลบภาพรอยที่ร่างกายจ๊อบ พร้อมทั้งฟอร์แมตการ์ด หากไม่ยอม จะนำการ์ดกลับไป ด้านนักข่าวไม่อยากมีปัญหา จึงต้องยอมลบภาพและฟอร์แมตการ์ด อย่างไรก็ตาม ภายหลังทางสถานีมีภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์และรอยแผลของจ๊อบไว้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ตำรวจได้มีการเรียกผู้เกี่ยวข้องบนเรือไปจำลองสถานการณ์ โดยใช้เรือสปีดโบ๊ท แต่ไม่ใช่ลำเกิดเหตุตามคำให้การของแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีการเก็บหลักฐานจีพีเอสเรือ เครื่องยนต์ของเรือลำเกิดเหตุ

สำหรับบาดแผลลึกที่ต้นขาซ้ายของแตงโม ที่บางฝ่ายสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการถูกใบพัดเรือนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคน มองว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะหากเป็นแผลจากใบพัดเรือ รอยแผลจะต้องไม่เรียบแบบที่พบที่ร่างกายแตงโม นอกจากนี้หากใบพัดเรือบาดขาแตงโมจริง สามารถตรวจใบพัดเพื่อหาดีเอ็นเอได้ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชและอดีตตำรวจยังมองว่า จุดที่แตงโมจมน้ำ ไม่น่าจะใช่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความลึกประมาณ 18 เมตร อย่างที่เพื่อนบนเรือให้การ เพราะการที่ศพมีดินและทรายในปอดและกระเพาะ แสดงว่าไม่ใช่จมน้ำลึก

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ สภ.เมืองนนทบุรี ไฮโซปอ โรเบิร์ต และกระติก ได้นำพวงมาลัยกราบขอขมานางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาของแตงโม โดยทั้งไฮโซปอและโรเบิร์ต ได้กล่าวกับมารดาแตงโมโดยแสดงความเสียใจ พร้อมขอเป็นลูกของแม่อีกคน สัญญาว่าจะดูแลแม่ให้ดีเหมือนที่แตงโมดูแล ซึ่งภายหลัง มารดาแตงโมเผยว่า ให้อภัยไฮโซปอและโรเบิร์ต แต่ไม่ให้อภัยกระติก เพราะกระติกไม่โทรแจ้งให้แม่ทราบหลังเกิดเหตุ และไม่ดูแลไม่ช่วยเหลือแตงโมหลังเกิดเหตุ...

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 มี.ค. พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1 ได้นำทีมตำรวจเข้าจำลองเหตุการณ์ที่เกิดเหตุอีกครั้ง โดยใช้เรือสปีดโบ๊ทลำที่เกิดเหตุจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำใบพัดเรือที่ถูกถอดไปตรวจและเก็บหลักฐานก่อนหน้านี้ มาประกอบเข้ากับเรือลำเกิดเหตุ แต่หลังจากนำเรือลงน้ำเพื่อจำลองเหตุการณ์ ปรากฏว่า ใบพัดดังกล่าวได้หล่นน้ำหายไป จึงต้องนำใบพัดสำรองมาใช้แทน ซึ่งวันต่อมา กู้ภัยได้ลงค้นหาใบพัดเรือลำเกิดเหตุที่หล่นน้ำ ก่อนจะงมขึ้นมาได้ และส่งให้เจ้าของอู่เก็บเรือ เพื่อให้เจ้าของอู่มอบให้กับตำรวจต่อไป ท่ามกลางกระแสสงสัยของสังคมอย่างมากว่า เหตุใดใบพัดเรือจึงหล่นน้ำอย่างง่ายดาย ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง ซึ่งทางตำรวจยืนยันว่า ใบพัดดังกล่าว ได้มีการเก็บหลักฐานไปก่อนหน้าแล้ว

ต่อมา วันที่ 3 มี.ค. พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1 แถลงความคืบหน้าของคดีนี้ว่า แผลบนร่างของแตงโมได้ส่งใบพัดเรือให้นิติเวชไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับบาดแผลแล้ว ส่วนรายละเอียดของโทรศัพท์ของผู้อยู่บนเรือทั้ง 5 คนได้ถูก ปอท.เก็บหลักฐานหมดแล้ว และว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจวิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมด คาดว่า ช่วงที่แตงโมพลัดตกเรือ อยู่ในช่วงเวลา 22.29-22.34 น.

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ยังยืนยันว่า กระแสข่าวที่ว่ามีการให้เงิน 3 ล้านกับ ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ไม่เป็นความจริง ขอให้คนปล่อยข่าวอย่าทำอีก

ต่อมา วันที่ 4 มี.ค. นางภนิดา มารดาของแตงโม ได้ไปออกรายการ โหนกระแส อีกครั้ง พร้อมเผยว่า ตอนนี้ตนได้เป็นผู้จัดการมรดกของลูกสาวเรียบร้อยแล้ว พร้อมเผยว่า ให้อภัยไฮโซปอและโรเบิร์ตแล้ว 100% เนื่องจากเห็นว่าไฮโซปอมีความสม่ำเสมอ โทรหาแม่ตลอด เป็นผู้ชายที่สุภาพที่สุดที่แม่เคยเจอมา และพร้อมรับผิดชอบชดใช้ค่าปลงศพให้ตามที่แม่เรียกร้อง ให้แม่คูณได้เลย ซึ่งตนประเมินว่า หากแตงโมยังมีชีวิตอยู่อีก 30 ปี เล่นละครเรื่องละ 8 แสน-1 ล้าน 30 ปี ประมาณ 30 ล้าน นอกจากนี้มารดาแตงโมยังบอกด้วยว่า ให้อภัยฮิปโป เพื่อนแตงโมแค่ 50% และให้แอนนา เพื่อนแตงโม อยู่เฉยๆ เพราะให้ข่าวเกี่ยวกับแตงโมโดยไม่บอกแม่ก่อน

ทั้งนี้ คำพูดของนางภนิดา ทั้งในแง่เงิน 30 ล้าน และให้อภัยไฮโซปอและโรเบิร์ต 100% ขณะเดียวกันกลับไม่พอใจเพื่อนของแตงโมอย่างแอนนาและฮิปโป และให้อภัยแค่ 50% ส่งผลสะเทือนถึงความรู้สึกของผู้คนในสังคม ที่ต่างผิดหวังและเสียความรู้สึกกับผู้เป็นแม่เป็นอย่างมากที่ทำเหมือนเห็นเงินสำคัญกว่าการเสียชีวิตของลูก ขนาด “ดายศ เดชจบ” พี่ชายของแตงโม ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หลังจากมารดาออกรายการดังกล่าว โดยระบุว่า “ผิดหวัง” พร้อมพร้อมอิโมติคอนรูปหัวใจที่แตกสลาย ซึ่งระหว่างขึ้นรถจะเดินทางกลับจากการออกรายการ โหนกระแส นางภนิดาไม่ยอมให้สัมภาษณ์นักข่าวถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมยืนยันว่า “ไม่เครียด สบายมาก”

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด (5 มี.ค.) นางภนิดา ได้เผยอีกครั้งว่า อยากให้รักแม่เหมือนเดิม “เรื่อง 30 ล้านเป็นข้อสมมุติ ไม่ได้สนใจ สนใจแต่เรื่องคดี เราสนใจลูก ไม่ได้สนใจเงิน อย่ามองว่าแม่เห็นแก่เงิน...”

นางภนิดา กล่าวด้วยว่า คำพูดของ ปอ ที่อยากกราบเท้า อยากขอโทษ อยากดูแลแม่ เป็นเรื่องที่สุภาพกับเรามากๆ พูดกับเราเพราะมาก ...คนคิดว่าเราเข้าข้าง ในความรู้สึก เขาเป็นคนดี เขาเป็นคนสุภาพจะบวชให้แตงโม เป็นการบวชครั้งที่ 5 แล้ว ความสม่ำเสมอทำให้อภัยให้ 100%

2.ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก “วัฒนา เมืองสุข” 99 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ให้ร่วมชดใช้ 89 ล้าน!


เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อายุ 65 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และพวกรวม 14 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11

ทั้งนี้ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษาเเก้โทษริบทรัพย์นายวัฒนา จำเลยที่ 1, 4, 5, 6, 7, 8 เเละ 10 ร่วมชดชดใช้เงิน 89 ล้าน ในส่วนอาญา อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนจำคุก 99 ปี

สำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ เป็นหนึ่งในโครงการประชานิยมยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทร

เมื่อ คตส.ทำงานจนครบวาระ ได้ส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนต่อ จากนั้น ปี 2560 ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมจำเลยคนอื่น ๆ อีก 14 คน กรณีทุจริตเรียกรับสินบนจากบริษัท พาสทิญ่า จำกัด ผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร ผ่านบริษัทและลูกจ้างบริษัท เพรซิเด้นท์เทรดดิ้ง จำกัด จำนวนเงิน 82.6 ล้านบาท

สำหรับจำเลยทั้ง 14 คน ประกอบด้วย นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลทักษิณ นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548–19 ก.ย. 2549 นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด

บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ

ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157 เป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91

จากนั้น (24 ก.ย. 2563) ศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินจำคุกนายวัฒนา ในฐานะผู้กำกับดูแลพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำเลยที่ 1 ตามความผิดตามมาตรา 148 ของประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี

ส่วนนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือจำเลยที่ 4 มีความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปี จำคุกจริง 50 ปี นอกกจากนี้ ยังจำคุก จำเลยที่ 5 น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง เป็นเวลา 20 ปี, จำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว เป็นเวลา 44 ปี, จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 32 ปี ,จำเลยที่ 8 ปรับ 2 แสนกว่าบาท, และจำเลยที่ 10 นายอริสมันต์ เป็นเวลา 4 ปี

ส่วนจำเลยที่ 2 นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จำเลยที่ 3 นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บมจ. ปริญสิริ (PRIN), จำเลยที่ 9 บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด, จำเลยที่ 11-14 บริษัท พาสทิญาไทย จำกัด, บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พรินชิพเทค ไทย จำกัด และ น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มี อำนาจทำการแทน ศาลมีคำสั่งยกฟ้องฯ

แม้ขณะนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุด คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีกครั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิทธิคู่ความในการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน

จากนั้น นายวัฒนาได้ยื่นอุทธรณ์และขอประกันตัวตามสิทธิ ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต

ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความ กล่าวว่า หลังศาลพิพากษายืนจำคุกนายวัฒนา ทีมทนายความต้องกลับมาคิดทบทวนว่าเรามีประเด็นการดำเนินการที่ผิดพลาดตรงไหนหรือไม่ เเต่จากที่คุยกับนายวัฒนา เรายอมรับคำพิพากษา เพราะเป็นกติกาของกระบวนการยุติธรรม เเต่การยอมรับในคำพิพากษาไม่ได้หมายความว่านายวัฒนายอมรับว่าได้กระทำผิด นายวัฒนาฝากตนมาว่า การที่ได้ต่อสู้คดีมาตั้งเเต่ปี 2549 จนถึงวันนี้เป็นการเเสดงเจตนาให้เห็นว่าตนเองบริสุทธิ์ และว่า คดีนี้นายวัฒนาว่าความด้วยตนเองมาตลอด ตนเป็นคนสนับสนุนเรื่องพยานหลักฐานเเละกระบวนการต่างๆในชั้นศาลด้วยความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์

นายนรินท์พงศ์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ต้องยอมรับว่านายวัฒนาเป็นมนุษย์ประหลาด มีจิตใจที่เข้มเเข็งไม่กระทบกระเทือนเเละไม่พูดจาก้าวล่วงต่อศาล เเต่ขอให้นายวัฒนาได้ตั้งหลักนิดหนึ่ง วันนี้ก็มียาลดความดัน ยาโรคหัวใจ เเละโรคเกี่ยวกับตับ หลังจากนี้ก็จะประสานความเป็นอยู่ของการรับการรักษาพยาบาลตามกระบวนการของราชทัณฑ์ ในกรณีผู้ต้องขังสูงอายุ ส่วนเรื่องจะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่นั้น ค่อยพิจารณาต่อจากนี้ หลังจากนี้จะต้องเข้าไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยต้องกักตัวตามมาตรการโควิด-19 จำนวน 21 วัน

3. ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำขอ "คมนาคม-รฟท." รื้อฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านใหม่!


เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ขอให้พิจารณาคดีจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านใหม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า จากคำพิพากษาในคดีดังกล่าวที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย ) จำกัด รู้ว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 อันเป็นวันที่ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม เมื่อสัญญาระหว่างคู่พิพาทไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงกระทำได้ภายในอายุความการฟ้องคดีต่อศาล เมื่อข้อพิพาทได้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลปกครองเปิดทำการ การนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค.2544

เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 อันเป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาโดยชอบแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถึงที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยตรง แต่ก็เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตามที่กำหนดในมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545

ซึ่งต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มติของที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ฯ เกี่ยวกับการเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษา โดยเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตามแนวทางที่กำหนดโดยมติที่ประชุมใหญ่ฯ แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงชอบที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรา 212 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ จะบัญญัติไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว เว้นแต่ในคดีอาญา ให้ถือว่า ผู้ซึ่งเคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยมาตรา 5 นั้น เป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิดดังกล่าว หรือถ้าผู้นั้นยังรับโทษอยู่ก็ให้ปล่อยตัวไป แต่ทั้งนี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใดๆ

ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ได้มีผลเป็นการห้ามไม่ให้คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในคดี นำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาใช้เป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ไว้พิจารณา

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทาน จำนวน 2,850,000 บาท คืนหนังสือค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท กับเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ในการก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

แต่กระทรวงคมนาคมและ รฟท. เห็นว่า ประเด็นปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องของการนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ถือเป็นหลักฐานใหม่ที่สามารถยื่นร้องให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ได้ เพื่อที่อาจทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯ จึงได้มีการยื่นฟ้องของรื้อฟื้นคดีดังกล่าว

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำ
สั่งรื้อคดีโฮปเวลล์ว่า ต้องขอบคุณคณะผู้พิพากษา และศาลปกครองสูงสุด และว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่จบกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ดำเนินการต่อสู้คดีใหม่

นายศักดิ์สยาม เผยด้วยว่า ประเด็นที่จะนำมาต่อสู้คดีหลังจากนี้ ประกอบด้วย เรื่องอายุความของคดี, มติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) การจดทะเบียน และวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรื่องการลงนามในสัญญา ที่ผู้ลงนามไม่ใช่บริษัทที่ได้รับสัมปทาน

4. 141 ประเทศ รวมไทย ลงมติประณามรัสเซียรุกรานยูเครน จี้ถอนทหาร หันสู่โต๊ะเจรจา ขณะที่คนไทยในยูเครนทยอยกลับประเทศ!


จากกรณีที่รัสเซียได้รุกรานและโจมตียูเครนมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ (ยูเอ็นจีเอ) ได้หารือถึงเรื่องดังกล่าว ก่อนลงมติประณามการกระทำของรัสเซีย โดยมีประเทศสมาชิกยูเอ็นลงมติสนับสนุนการประณามรัสเซีย 141 ประเทศ คัดค้าน 5 ประเทศ และงดออกเสียง 35 ประเทศ

ขณะที่ในส่วนของไทย ได้ลงมติสนับสนุนการประณามรัสเซียเช่นกัน สำหรับประเทศที่คัดค้าน ได้แก่ รัสเซีย ซีเรีย เกาหลีเหนือ เบลารุส และเอริเทรีย ส่วนประเทศที่งดออกเสียง ได้แก่ จีน อินเดีย อิหร่าน อิรัก ปากีสถาน แอฟริกาใต้ เป็นต้น

สำหรับการลงมติประณามการกระทำของรัสเซียครั้งนี้ มีการเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารทั้งหมดออกจากดินแดนของยูเครนและโดยปราศจากเงื่อนไข ขณะที่นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวหลังที่ประชุมลงมติว่า นี่เป็นการส่งสารที่ดังและชัดเจนว่า ให้ยุติความรุนแรงในยูเครนทันที เสียงปืนต้องเงียบลงทันที และเปิดประตูสำหรับการเจรจาและการทูตทันที บูรณภาพและอธิปไตยเหนือดินแดนของยูเครนต้องได้รับการเคารพ ซึ่งสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ

ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ได้กล่าวต่อที่ประชุมยูเอ็นว่า ไทยมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในยูเครนและผลกระทบด้านมนุษยธรรม รวมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติวิธี ไทยสนับสนุนความพยายามในกาทางยุติสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสันติผ่านการเจรจาและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยธำรงไว้ซึ่งหลักการว่าด้วยอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และสนับสนุนการเรียกร้องของเลขาธิการยูเอ็นในการหาทางยุติเรื่องนี้อย่างสันติวิธี รวมถึงความพยายามของยูเอ็นและกลไกในระดับภูมิภาค

นายธานี ยังกล่าวด้วยว่า “ไทยชื่นชมเพื่อนบ้านของยูเครนและชาติอื่นๆ สำหรับการระดมความช่วยเหลือไปสู่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยจะทำอย่างสุดความสามารถ โดยจะส่งความช่วยเหลือโดยตรงและผ่านความร่วมมือกับชาติต่างๆ ที่เห็นตรงกัน ไทยสนับสนุนการหยุดยั้งการใช้กำลังหรือการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังต่อรัฐอื่น ดังนั้น เราเรียกร้องขอให้ยุติความรุนแรงและการใช้อาวุธทันที”

นายธานี เผยถึงสถานการณ์คนไทยในยูเครนด้วยว่า วันที่ 2 มี.ค. มีคนไทยในยูเครนแสดงความประสงค์กลับไทย 219 คน จากทั้งหมด 256 คน อพยพออกจากยูเครนแล้ว 203 คน เดินทางถึงไทย รวมวันที่ 3 มี.ค. 136 คน รออพยพกลับไทย 59 คน ยังออกจากยูเครนไม่ได้ 8 คน และประสงค์อยู่ในยูเครนต่อไป 31 คน

วันเดียวกัน (3 มี.ค.) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการจัดหางาน ดูแลอำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทยที่ทยอยเดินทางกลับจากกรุงวอร์ซอ โดยในวันที่ 3 มี.ค. กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ ได้ดูแลอำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทย 40 คน ที่เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งทั้งหมดปลอดภัยดี และได้เดินทางด้วยรถบัสของกรมการขนส่งทางบก ไปยังสถาบันบำราศนราดูร เพื่อรอผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ รับช่วงชี้แจงเรื่องสิทธิประโยชน์จากกองทุน ให้แรงงานไทยทราบ พร้อมรับคำร้อง และเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อมอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่แรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุน รายละ 15,000 บาท โดยวันดังกล่าว มีแรงงานเดินทางถึงไทยทั้งสิ้น 40 คน เป็นสมาชิกกองทุน 31 คน

5. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้โอกาส "อานนท์" พ้นคุก 3 เดือน หลังเจ้าตัวเสนอเงื่อนไข 8 ข้อ พร้อมให้คำมั่นจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด!


เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ออกเอกสารข่าวเผยแพร่คำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร โดยระบุว่า นายนรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ1671/2564 และในคดีหมายเลขดำที่ อ1802/2564 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม

ซึ่งคณะผู้บริหารของศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ร่วมกันพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่า แม้จำเลยเคยปฏิบัติผิดเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราวและศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วครั้งหนึ่ง จนจำเลยต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ โดยอ้างเหตุผลและสมัครใจเสนอเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราวมาหลายข้อว่า จำเลยจะไม่กระทำการใดอันทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัดนั้น

การที่จำเลยเสนอเงื่อนไขมา จึงน่าเชื่อว่า เงื่อนไขดังกล่าวน่าจะควบคุมพฤติกรรมของจำเลยได้ว่า หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่ไปก่อภัยอันตรายหรือก่อความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยตัวชั่วคราวอีก ดังนั้น จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาลสักช่วงเวลาหนึ่ง มีกำหนด 3 เดือน (ครบกำหนดวันที่ 28 พฤษภาคม 2565) โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท ยึดหลักประกัน ทำสัญญาประกัน ให้ตรวจคืนหลักประกันเมื่อสัญญาประกันสิ้นสุด

สำหรับเงื่อนไขระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ ประกอบด้วย 1.ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน 2.ห้ามจำเลยกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล 3.ห้ามจำเลยโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือชักชวนให้มวลชนเข้าร่วม 4.ห้ามจำเลยจัดกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดียหรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

5.ห้ามจําเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19.00-06.00 น. ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล 6.ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล 7.ให้จําเลยมารายงานตัวต่อศาลทุกๆ 30 วัน นับแต่วันที่ปล่อยตัวชั่วคราว (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565) 8.ให้จำเลยติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM เพื่อจำกัดระยะเวลาเดินทาง

ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยังชี้แจงต่อสื่อมวลชนด้วยว่า เนื่องจากจําเลยเสนอเงื่อนไข รวมถึงให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนั้น ศาลจึงเห็นควรให้โอกาสจำเลย โดยการปล่อยตัวชั่วคราวอันมีเวลาจำกัดเพียง 3 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้ว นายอานนท์ นำภา ต้องถูกกักขัง ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เว้นแต่จะมีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หากนายอานนท์ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวอันมีเวลาจำกัด และเมื่อครบกำหนดปล่อยตัวชั่วคราวให้ นายอานนท์ มารายงานตัวต่อศาลและให้ผู้ประกันส่งตัวนายอานนท์ ต่อศาลในวันที่ 28 พฤษภาคม เวลา 10.00 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น