การไม่ยอมยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นไม่ใช่เพิ่งมีปัญหาในสมัยนี้ แต่มีมานานแล้ว เพราะยังมีคนที่ไม่เข้าใจ การกำหนดให้ทุกคนต้องยืน “เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการ ในงานสังคม หรือโรงมหรสพ” มีมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะราษฎร ซึ่งได้ออก “พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕” กำหนดให้ทุกคนจะต้องเคารพตามระเบียบหรือตามประเพณี ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ ๑๐๐ บาท หรือจำคุก ๑ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในปี ๒๕๕๓ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ออกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมใหม่ ยกเลิกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมเก่า โดยพระราชบัญญัติใหม่นี้ไม่กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน
ม.จ.หญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ธิดากรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ถึงที่มาของเพลงสรรเสริญพระบารมีและความหมายของเพลงนี้ไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ มีความว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ เป็นเวลา ๑๐๔ ปีมาแล้วนี้ มีนายร้อยเอกทหารอังกฤษที่มาอยู่ในอินเดียคนหนึ่ง ชื่อ อิมเปย์ ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่จะทรงจัดการบ้านเมืองใหม่ จึงเข้ามารับอาสาฝึกทหารอย่างอังกฤษ โปรดเกล้าฯให้จ้างไว้เป็นครูในกองทัพบก และในไม่ช้าก็มีนายร้อยเอก น็อกซ์ อีกคนตามเข้ามาเป็นครูทหารทางพระราชวังบวรสถาน แต่นั้นมากองทัพไทยก็จัดแบบใหม่เรียกว่าทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป มีนายร้อย นายสิบ เป็นหมวดหมู่ เข้าแถวแต่งตัวตามแบบและความรู้ของครูทุกประการ จนในที่สุดตั้งกองเกียรติยศมีเพลงสรรเสริญก็ใช้แบบอังกฤษ
ทางเราก็ยังไม่มีใครค่อยสนใจกับเพลงแตรนัก และยุ่งอยู่ในทางแก้ไขสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า จนถึงรัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นเสวยราชย์ได้ ๒ ปี เสด็จไปประพาสประเทศใกล้เคียงเพื่อทอดพระเนตรการปกครองแบบฝรั่ง จึงได้ทรงจ้างครูแตรชื่อ ฮุยเซน ชาวโปรตุเกสมาจากปัตตาเวีย แล้วโปรดให้ครูดนตรีทั้งไทยและฝรั่งรวมกันคิดเพลงสรรเสริญไทยขึ้น
ทางฝ่ายไทยมีพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี) ครูดนตรีสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้แต่งทำนองเพลงเป็น ๒ ชั้นก่อน โดยเอาทำนองแตรงอนประโคมในเวลาเสด็จออก ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าจนบัดนี้ คือ แอ่ แอ๊ แอ แอ่ แอ้ แอ แอ๊ ส่วนเนื้อร้องของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้แต่งในตอนแรกว่า
ความ สุขสมบัติ บริวาร
เจริญ พระปฏิภาณ ผ่องแผ้ว
จง ยืนพระชนมาน นับรอบ ร้อยแฮ
มี พระเกียรติเพริดแพร้วเล่ห์เพียงจันทร
เสด็จพ่อทรงเล่าว่า เมื่อทรงพระเยาว์ก็ทรงร้องเนื้อเพลงนี้ และร้องให้ฟังด้วย ข้าพเจ้ายังจำติดหู ต่อมาถึง พ.ศ.๒๔๓๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากระพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดเล่นมโหรี ชนิดคอนเสิต ขึ้นในงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่หน้าศาลายุทธนาธิการ (กระทรวงกลาโหมบัดนี้) เมื่อวันจันทร์ เดือนกันยายน แรม ๔ ค่ำ ปีชวด ในคอนเสิตนั้นทรงพระนิพนธ์บทเพลงสรรเสริญว่าดังนี้
๐ ข้าวรพุทธเจ้าเหล่าพิริย์ผลผลา
สมสมัยกาละปิติกมล
รวมนรจำเรียงพรรค์สรรดุริยพล
สฤติมณฑลทำสดุดีแด่นฤบาล
ผลพระคุณะรักษาพละนิกายะสุขสานต์
ขอบันดาลธ ประสงค์ใด
จงสิทธิ์ดังหวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชยฉนี้ ฯ
แต่บทนี้ทรงแต่งเฉพาะให้ข้าราชการทหารบกและเรือเล่มรวมกัน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชได้ทรงขอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงประพันธ์ใหม่ให้ใช้ได้ทั่วไป จึงทรงแก้และทูลเกล้าฯถวายใหม่ในงานพระราชพิธีสรงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ดังนี้
๐ ข้าวรพุทธเจ้า
เอามโนและสิรกราน
นบพระภูมิบาลบุญดิเรก
เอกบรมจักริน
พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง
เย็นศิราเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา
ปวงประชาเป็นศุขสานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิ์ดังหวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ฉนี้ ฯ
ถึงรัชกาลที่ ๖ เด็กๆมักจะร้อง...ฉนี้...ชะนี ไปโดยมาก จึงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนคำท้ายเป็น...ไชโย มาตั้งแต่บัดนั้น
เพลงสรรเสริญพระบารมีนี้ จะมีได้แต่เมืองที่มีเอกราชสมบูรณ์เป็นของตัวเอง ถ้าเป็นเมืองขึ้นของใครก็ต้องเล่นเพลงของนาย เพราะอยู่ในปกครองของเขา ด้วยเหตุฉะนี้ เพลงสรรเสริญพระบารมีจึงทำให้เราเต็มใจจะกระโดดขึ้นยืนให้โลกเห็นว่าเรามีเอกราช โดยเฉพาะในเวลาอยู่ต่างประเทศด้วยแล้ว จะยิ่งรู้สึกภาคภูมิใจเสียนี่กระไรเลย
บัดนี้เป็นอย่างไร? ข้าพเจ้าได้เห็นในโรงหนังถึงมีประกาศขอให้ยืนเวลามีเพลงสรรเสริญพระบารมี นึกเสียใจว่าเราคนไทยไม่มีการศึกษาพอที่จะรู้สึกภูมิใจในเอกราชของตัวทีเดียวหรือ? ได้คำตอบจากบางคนว่า เขาประกาศให้พวกต่างชาติรู้เท่านั้น เพราะเขาอาจจะไม่รู้จักเพลงได้ ข้าพเจ้าก็เบาใจ แต่เคยเห็นบางคนลุกหนีก่อนหนังจบ ถึงยอมไม่ดูให้จบ เมื่อถามดูถึงเหตุแล้ว มักจะได้คำตอบ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งว่านั่งนานแล้วอยากจะรีบกลับบ้าน อีกอย่างหนึ่งว่า...ในหลวงท่านไม่เห็นดอก คำตอบทั้ง ๒ ข้อนี้ยังไม่ตรงประเด็นนัก เพราะข้อหนึ่งนั้น ที่จริงเป็นเพราะไม่มีการศึกษา จึงไม่รู้ว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นคือ...เอกราชสมบูรณ์ หรือเพราะตัวเองไม่นิยมยินดีในการเป็นเอกราช ไม่มีข้อแก้ตัวเป็นอย่างอื่น เพราะการยืนช้าหรือเร็วอยู่ที่ผู้เล่นเพลงจะทำให้ช้าหรือเร็ว ถ้าเขารู้จักทำให้ดีพอแล้ว จะยืนอย่างนานก็เพียง ๕ นาที ซึ่งไม่นานถึงจะให้ความภาคภูมิใจไม่ได้ ข้อ ๒ ที่ว่าในหลวงท่านไม่ทรงเห็นนั้นก็ไม่ถูกอีก เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนพระองค์ แม้ในเนื้อเพลงก็บอกอยู่แล้วว่า ถวายพระพรแด่พระผู้เป็นประมุขแห่งชาติ ไม่มีพระปรมาภิไธยเจาะจงว่าพระองค์หนึ่งพระองค์ใด เป็นเรื่องของชาติเป็นส่วนรวม แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงยืนในเวลาเล่นเพลงสรรเสริญพระบารมี ถ้าเป็นเรื่องส่วนพระองค์ก็จะประทับได้พระองค์เดียว เช่นเราดื่มให้พรกัน
“ฉะนั้น ผู้ที่รังเกียจเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ดี ผู้เล่นไม่เป็นก็ดี จึงเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาด้วยประการฉะนี้”
นี่คือเรื่องราวที่มาและความสำคัญของเพลงสรรเสริญพระบารมี แม้บางคนยังไม่เข้าใจ และทุกวันนี้ก็ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่การกระทำที่ขัดความรู้สึกหรือย่ำยีความรู้สึกของคนที่เขาเข้าใจและซาบซึ้ง ซึ่งให้ความเคารพและเทิดทูนของอย่าง ทั้งยังเป็นคนส่วนใหญ่ จึงนับเป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่ง