ในจำนวนรัฐมนตรีไทย ๒๙ คน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๑ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ ถึงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ เป็นเวลา ๔ ปี ๓๐๒ วัน และเป็นนายกรัฐมนตีคนเดียวที่อสัญกรรมขณะอยู่ในตำแหน่ง นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดทั้งในด้านดีและด้านตรงกันข้าม มีอำนาจเด็ดขาดถึงขนาดสั่งประหารชีวิตคนได้โดยไม่ต้องผ่านศาล แต่ตอนอสัญกรรมกลับมีข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก จนฝรั่งร้องว่า Oh My God!
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นบุตรคนที่ ๓ ของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๕๑ ที่บ้านท่าโรงยา ปากคลองตลาด ซึ่งตอนนั้นเป็นอำเภอพาหุรัด จังหวัดพระนคร
ตอนที่จอมพลสฤษดิ์อายุได้ ๓ ขวบ นางจันทิพย์ซึ่งเป็นคนมุกดาหารอยากจะกลับไปเยี่ยมพ่อหลังจากไม่ได้กลับไปบ้านเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี แต่หลวงเรืองเดชฯไม่อนุญาต นางจันทิพย์จึงพาลูกชาย ๒ คน คือ เด็กชายสวัสดิ์ อายุ ๕ ขวบ กับเด็กชายสฤษดิ์ อายุ ๓ ขวบ หนีไป โดยมีเด็กหญิงประเทียบซึ่งต่อมาก็คือ คุณหญิงประเทียบ ชลทรัพย์ แม่ยายของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นลูกของพี่สาวนางจันทิพย์ติดตามไปด้วย
การเดินทางไปมุกดาหารต้องเริ่มต้นด้วยรถไฟไปลงโคราช แล้วต่อด้วยเกวียนเป็นขบวนจนถึงอุบลราชธานีและมุกดาหาร ต้องผ่านป่าซึ่งชุกชุมด้วยไข้ป่า ปรากฏว่าเด็กสายสวัสดิ์เป็นไข้ป่าตายระหว่างทาง
เด็กชายสฤษดิ์เติบโตอยู่ที่มุกดาหารถึง ๔ ปี จนปลายปี ๒๔๕๘ ขณะที่อายุ ๗ ขวบ บิดาจึงมารับกลับไปกรุงเทพฯ ให้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม จนอายุ ๑๑ ขวบจึงไปเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกระดับประถม ศึกษาอยู่ ๑๐ ปีสำเร็จหลักสูตร ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในกองพันที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์
ในการสอบผ่านการอบรมเข้าติดยศนายร้อยตรีนั้น ร.ท.ขุนสนิทยุทธการ นายทหารพี่เลี้ยงของนักเรียนทำการนายร้อย ได้รายงานความประพฤติตลอด ๖ เดือนไว้ว่า เรียบร้อย สุภาพอ่อนโยน รักสวยรักงาม ล้างหน้าวันละหลายๆครั้ง หวีผมเรียบอยู่เสมอ แต่งตัวสะอาดหมดจด เสื้อกางเกงเรียบ รองเท้ามันปลาบอยู่เสมอ ช่างพูด พูดเก่ง มีคารมคมคาย และมีวิธีหว่านล้อม
ร.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ออกสนามครั้งแรกในการปราบกบฏบวรเดช โดยมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวด เข้าเผชิญหน้ากับฝ่ายกบฏที่สมรภูมิบางเขน จนรุกเข้ายึดดอนเมืองได้ และรุกต่อไปถึงอยุธยา
เมื่อเหตุการณ์สงบ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม ผู้บังคับการกองผสมปราบกบฏ ได้ไปแสดงความขอบใจทหารในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยนี้ และได้จับมือกับ ร.ต.สฤษดิ์ แต่ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก และไม่อาจรู้เลยว่า ต่อไปอีก ๒๔ ปี นายร้อยตรีหนุ่มคนนี้คือคนที่ทำรัฐประหารขับไล่เขาออกจากทำเนียบรัฐบาลกลางดึก จนต้องไปอสัญกรรมในต่างประเทศ
หลังจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชสงบ ร.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เลื่อนยศขึ้นไปร้อยโท ต่อจากนั้นเพียงปีเดียวก็ได้ขึ้นเป็นร้อยเอก ต่อมาอีก ๔ ปี ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองโรงเรียนนายสิบพลรบ ซึ่งตั้งอยู่ในค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลพบุรี ได้เลื่อนขึ้นเป็นพันตรี หลังจากนั้นไม่กี่เดือนญี่ปุ่นก็ยกพลเข้าไทยเปิดฉากสงครามมหาเอเซียบูรพา พ.ต.สฤษดิ์ได้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการกองพลทหารราบซึ่งตั้งขึ้นใหม่ที่พิษณุโลก และเมื่อกองทัพไทยบุกเข้าไปในรัฐฉาน กองพันทหารราบในบังคับบัญชาของ พ.ต.สฤษดิ์ก็บุกเข้าไปด้วย และแสดงฝีมือตีเมืองมะที่ทหารจีนยึดอยู่จนแตกพ่าย ซึ่งกองพันอื่นตีไม่ได้
ในระหว่างสงครามนี้ ผู้บังคับบัญชาเหล่าทหารได้รับพระราชทานเลื่อนยศกันทั่วหน้า พ.ต.สฤษดิ์ได้เลื่อนยศเป็นพันโท และได้รับคำสั่งให้มารับตำแหน่งผู้บังคับกองพันปืนกลที่ลำปางซึ่งตั้งขึ้นใหม่ นัยว่าเพื่อเตรียมทำศึกกับญี่ปุ่นมหามิตร ต่อมาได้เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง และเลื่อนยศเป็นพันเอกเมื่ออายุ ๓๗ ปี
เมื่อสงครามสงบ กลุ่มเสรีไทยเข้าครองอำนาจ ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ ว่างลง ตำแหน่งนี้มีความสำคัญในการค้ำบัลลังก์รัฐบาลมาก เพราะคุมกำลังในกรุงเทพฯ ต้องหาคนที่ไว้วางใจมารับบตำแหน่ง ผู้บังคับการกองพลที่ ๑ จึงเลือก พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์มาจากลำปาง ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่ทำให้เขาเดินไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอีก ๑๓ ปีต่อมา
ในคืนวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ พลโทผิน ชุณหะวัณ นายทหารกองหนุน ได้ทำรัฐประหารเพื่อนำจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งพ้นคดีอาชญากรสงครามกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่ทหารของกองบังคับการกรมทหารราบที่ ๑ ซึ่งเป็นกองกำลังหลักของการทำรัฐประหาร เข้ายึดจุดสำคัญต่างๆแล้ว ปรากฏว่าพลเอกหลวงอดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกตระเวนไล่ทหารกลับเข้ากรมกอง ทำเอาแผนเกือบพัง
พ.อ.สฤษดิ์คนมีคารมคมคายและหว่านล้อมเก่ง ได้รีบไปพบกับผู้บังคับการหน่วยทหารเหล่านั้น แล้วบอกว่า
“ลื้อจะกลับเข้ามาตายรังหรือจะไปตายดาบหน้า ชัยชนะอยู่ในมือของลื้อแล้ว จะปล่อยให้ชัยชนะหลุดลอยไปเช่นนั้นหรือ เมื่อลื้อถอยกลับเข้าในที่ตั้งทั้งๆที่ลื้อก้าวออกมาเช่นนี้แล้ว ลื้อนึกหรือว่าลื้อจะไม่เข้าคุก”
ผู้บังคับบัญชาทหารเหล่านั้นจึงนำทหารกลับเข้ายึดจุดต่างๆอีก จนการทำรัฐประหารครั้งนั้นสำเร็จลง
รุ่งขึ้นในวันที่ ๙ พฤศจิกายนนั้น พ.อ.สฤษดิ์ก็ได้รับตำแหน่งใหม่ทันที เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑ พร้อมกับได้เลื่อนยศเป็นพลตรี ขณะที่อายุย่างเข้าปีที่ ๔๐ เท่านั้น
เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แม้ยังไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็เป็นที่เกรงใจของนักการเมืองทั้งหลาย เพราะรู้กันดีว่า เขาคือผู้ค้ำบัลลังก์จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ตอนนั้นชีวิตราชการและชีวิตส่วนตัวสดใสขึ้นทั้ง ๒ ด้าน วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ ได้เข้าพิธีสมรสอีกครั้งกับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ บุตรีของเด็กหญิงประเทียบ ที่ติดตามคุณแม่จันทิพย์ตอนหนี พ.ต.หลวงเรืองเดชอนันต์ไปมุกดาหารขณะที่เจ้าบ่าวอายุ ๓ ขวบนั่นเอง
ในคืนวันวิวาห์นั้นได้เกิด “กบฏเสนาธิการ” และมีแผนจะเข้าจับเจ้าบ่าวในงานด้วย แต่ความแตกเสียก่อน ทำให้เจ้าบ่าวต้องออกจากงาน นำทหารไปล้อมจับกบฏที่กำลังวางแผนอยู่ในกระทรวงกลาโหมได้ทั้งหมด
ต่อมาในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ ได้เกิด “กบฏแมนฮัตตัน” ฝ่ายกบฏจับจอมพล ป.ไปคุมตัวไว้ใน ร.ล.ศรีอยุธยา พลโทสฤษดิ์เป็นผู้บัญชาการปราบกบฏอีกครั้ง และมีการปราบปรามอย่างเด็ดขาด ใช้ระเบิดจากเครื่องบินทิ้งลงใส่ ร.ล.ศรีอยุธยา จนทหารเรือต้องพาจอมพล ป.ว่ายน้ำหนีขึ้นฝั่ง นับเป็นการปราบกบฏที่รุนแรงที่สุด จนเรือรบต้องกลายเป็นเศษเหล็กไป ๑ ลำ
หลังจากนั้นพลโทสฤษดิ์ได้ก้าวเข้าสู่การเมืองเป็นครั้งแรก โดยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะที่จอมพล ป.นายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ
ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕ ขณะที่อายุ ๔๔ ปีกับ ๑ เดือนเศษ พลโทสฤษดิ์ก็ได้เลื่อนยศอีกครั้งเป็นพลเอก ซึ่งนับว่าเป็นพลเอกที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทัพไทย
ต่อมาในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๙๗ จอมพลผิน ชุณหะวัณได้ถ่ายโอนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้พลเอกสฤษดิ์ โดยมีคำมั่นสัญญากันว่า จะไม่วัดรอยเท้าจอมพล ป.
ดวงดาวแห่งความรุ่งโรจน์ของคนชื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๙ ก็ได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพล ซึ่งเป็นจอมพลที่อายุน้อยที่สุดในระบอบประชาธิปไตย
ในระยะนั้นจอมพล ป.รู้ตัวแล้วว่าจะหวังพึ่งกองทัพช่วยค้ำบัลลังก์ไม่ได้เสียแล้ว เพราะจอมพลสฤษดิ์ที่ปั้นมากับมือดึงอำนาจทางการทหารไปคุมไว้หมด จึงหันเข้าหาการสนับสนุนจากอเมริกา ส่งทหารไปช่วยรบที่เกาหลี จัดตั้งองค์การซีอาโต้เพื่อยับยั้งการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ จนอเมริกามีส่วนอย่างมากในการกำหนดนโยบายทางการเมืองของไทย แต่แล้วจอมพล ป.ก็พบว่าสหรัฐให้การช่วยเหลือทุกฝ่ายที่เป็นประโยชน์แก่ตน ให้เงินสนับสนุนทั้ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์และจอมพลสฤษดิ์ จอมพล ป.จึงหันเข้าหาประชาชน เปิดให้มีการพูดไฮด์ปาร์คกลางสนามหลวง จัดการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๐๐ และนำทีมลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯเอง จนเกิดกรณี “การเลือกตั้งสกปรก” จอมพล ป.เกรงว่าเหตุจะบานปลายจึงประกาศกฎอัยการศึก ตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาความสงบฝ่ายทหาร แต่เมื่อนิสิตนักศึกษาเดินขบวน จอมพลสฤษดิ์แทนที่จะยับยั้ง กลับไปหาเสียงกับนิสิตนักศึกษา บอกว่า
“หากท่านเดินไปทางซ้าย ข้าพเจ้าก็จะไปทางขวา”
และเปิดทางให้นิสิตนักศึกษาผ่านสะพานมัฆวานเข้าไปพังประตูทำเนียบ เมื่อจอมพล ป.ออกมาพบ นิสิตนักศึกษาก็ตะโกนว่า
“ต้องการให้ท่านแม่ทัพสฤษดิ์พูด”
จอมพล ป.ต้องถอยไปยืนข้างหลังจอมพลสฤษดิ์
เมื่อจอมพล ป.จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จอมพลสฤษดิ์ก็เรียกร้องขอนั่งว่าการกระทรวงกลาโหมที่จอมพล ป.นั่งมาตลอด และให้ ๒ ลูกน้องคู่ใจ คือ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ให้ พล.ต.ประภาส จารุเสถียร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เงากับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ ทำงานด้วยกันไม่ได้แน่
จอมพล ป.รู้ว่าถูกเล่นเกมวัดรอยเท้าแล้ว โดยอาศัยการเป็นขวัญใจประชาชน จึงประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการฝ่ายทหาร ไม่ให้จอมพลสฤษดิ์มีโอกาสแสดงบทบาทเด่นได้ จอมพลสฤษดิ์ได้กล่าวอำลาตำแหน่งทางวิทยุ และทิ้งท้ายด้วยประโยคว่า
“พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”
จอมพลสฤษดิ์ได้เดินเกมอีกก้าวโดยรวบรวม ส.ส.อิสระและสังกัดพรรคต่างๆ รวมทั้งพรรคมนังคศิลาของจอมพล ป.ด้วย ตั้งเป็นพรรคสหภูมิ เปิดไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมี พล.ต.อ.เผ่าโดนหนักกว่าใคร ทั้งอื้อฉาวในการโกงการเลือกตั้ง ใช้อันธพาลข่มขู่ประชาชน และทุจริตเงินช่วยเหลือจากอเมริกา แต่เมื่อลงคะแนนรัฐบาลก็เป็นฝ่ายชนะ
จอมพล ป.จึงคิดดัดหลังจอมพลสฤษดิ์บ้าง ออกคำสั่งให้รัฐมนตรีทุกคนถอนตัวออกจากการค้า เพราะรู้ว่าทั้งจอมพลสฤษดิ์และลูกน้องต่างมีตำแหน่งอยู่ในบริษัทการค้ามากมาย จอมพลสฤษดิ์เองนอกจากจะคุมกองสลากไม่ยอมปล่อย คุมองค์กรทหารผ่านศึกแล้ว ยังมีตำแหน่งอยู่ในบริษัทไม่ต่ำกว่า ๒๒ แห่ง แต่แทนที่จอมพลสฤษดิ์จะวางมือ กลับนำทีมพลพรรคทั้งหมด ๔๖ คน เป็นทหาร ๔๔ คน พลเรือน ๒ คนลาออกจากรัฐบาลและพรรคเสรีมนังคศิลาด้วย
จอมพลสฤษดิ์เดินหมากอีกขั้น นำนายทหาร ๕๘ คนลงนามเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกทันที และให้ พล.ต.อ.เผ่าเดินทางออกให้พ้นประเทศ ข้อเรียกร้องนี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรฝ่ายค้าน และนักพูดไฮด์ปาร์คกลุ่มหนึ่งรับแผนเดินทางจากสนามหลวงไปพบจอมพลสฤษดิ์ที่บ้านสี่เสา เรียกร้องให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ทั้ง ๓ เหล่า และจัดตั้งรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ก็ตอบรับว่ายินดีจะปฏิบัติตาม “คำเรียกร้องของประชาชน”
ถึงขั้นนี้แล้ว จอมพล ป.จึงประชุมบุคคลสำคัญของคณะรัฐบาลในบ่ายวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ ลงมติจะจับจอมพลสฤษดิ์ในเวลา ๓ น.ของคืนนั้น แต่จอมพลสฤษดิ์รู้ข่าวจึงชิงตัดหน้ายึดอำนาจในเวลา ๒๓ น. ทำให้จอมพล ป.ต้องเผ่นออกจากทำเนียบกลางดึก ควบรถสปอร์ตธันเดอร์เบิร์ดคู่ใจไปลงเรือประมงที่จังหวัดตราดเข้ากัมพูชา ไม่มีโอกาสกลับเข้าเมืองไทยจนไปอสัญกรรมที่ญี่ปุ่น
เมื่อยึดอำนาจ ล้มรัฐธรรมนูญยุบสภาแล้ว จอมพลสฤษดิ์ก็ยังไม่กล้าเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกรงว่าจะไม่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ จึงไปเคี่ยวเข็ญนายพจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การซีอาโต้ให้มานั่งขัดตาทัพ ๑๐๒ วัน แล้วให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร ขึ้นแทนขณะที่ตัวเองต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลวอลเตอร์รีด สหรัฐอเมริกา แต่ พล.ท.ถนอมไม่สามารถจะควบคุม ส.ส.ได้ ส.ส.ของพรรคตัวเองยังคัดค้านการตัดงบการศึกษาไปเพิ่มงบทางทหาร ที่สำคัญยังบีบให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมเงินของกองสลากที่จ่ายค่ารักษาให้จอมพลสฤษดิ์ไป ๓ ล้านบาท ซึ่งทำให้จอมพลสฤษดิ์โกรธมาก อีกทั้งการเลือกตั้งซ่อม ๕ จังหวัดในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๐๑ ฝ่ายรัฐบาลก็แพ้ยับเยิน ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์จึงบินกลับมาเงียบๆ นอนที่ดอนเมือง เช้าวันที่ ๒๐ จึงเรียกประชุมขุนศึกที่หอประชุมกองทัพบก แล้วกักตัวทุกคนไม่ให้ออกจากที่ประชุม ตอนค่ำวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ก็ออกข่าวว่า พล.อ.ถนอม กิตติขจรขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วต่อด้วยประกาศของคณะปฏิวัติที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้า
รุ่งขึ้นในวันที่ ๒๑ ได้มีการตรวจค้นโรงพิมพ์ ๕ แห่ง จับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้นำกรรมกร และนักการเมืองมากมายไปคุมขัง โดยไม่มีการสอบสวนหรือส่งฟ้องศาลแต่อย่างใด ทุกคนล้วนเจอข้อหา “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”
ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ถือได้ว่าประชาธิปไตยตายสนิท ไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จอมพลสฤษดิ์ได้ประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๐๒ มีเพียง ๒๐ มาตรา โดยถอดมาจากรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดีเดอโกลด์แห่งฝรั่งเศส มีมาตราที่ลือลั่นคือมาตรา ๑๗ ที่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเสมือนกษัตริย์ในระบอบ
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ สามารถสั่งประหารชีวิตคนได้ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้สั่งประหารไป ๑๑ คน ๕ คนเจอข้อหาวางเพลิง ๑ คนผลิตเฮโรอิน ๔ คนข้อหาคอมมิวนิสต์ และอีก ๑ คนเป็นผีบุญจากอีสาน
“มอสิบเจ็ด” จึงเป็นคำที่สยองขวัญกันทั่วไป เมื่อจอมพลสฤษดิ์ไปสอบสวนผู้ต้องหาแล้วบอกว่า “แบบนี้มันต้องอย่างว่าเสียแล้ว” ก็เตรียมตัวตายได้เลย
ยุคนั้นถือได้ว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่มีใครกล้าออกมาก่อกวนให้นายกรัฐมนตรีเสียอารมณ์ อันธพาลที่ครองเมืองก็ถูกกวาดไปครองคุกหมด
จอมพลสฤษดิ์ได้ชื่อว่าเป็นนายกฯนักพัฒนา มีการสร้างถนน การชลประทานมากมาย สลัมใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯถูกรื้อเป็นกระทรวงต่างประเทศและโรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ไม่ว่าจะมีการพัฒนาที่ไหน จะมีบริษัทของจอมพลสฤษดิ์เข้าไปจัดการ เช่น รัชตการก่อสร้าง รัชตศิลา รัชตประกันภัย รัชตการค้า เป็นต้น เรียกกันว่า “จักรวรรดิรัชตะ” และยังมีบริษัทในชื่ออื่นอีกมาก
เมื่อจอมพลสฤษดิ์อสัญกรรมในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖ แม้จอมพลถนอม กิตติขจรที่เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะพยายามปกป้องรักษาภาพพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ไว้ไม่ให้มัวหมอง แต่ทายาทของจอมพลสฤษดิ์ก็ฟ้องร้องแย่งกันเป็นผู้จัดการมรดกจนเป็นข่าวอื้อฉาว แล้วเลยตามไปขุดคุ้ยเรื่องที่ซุบซิบกันมาถึง “วิมานรักสีชมพู” และ “แม่ม่ายผ้าขาวม้าแดง” จำนวนกว่า ๑๐๐ คน เปิดเผยชื่อคนสวยคนงามและเรื่องราวเป็นข่าวพาดหัวออกมามากมาย จนรวมพิมพ์เป็นหนังสือออกมาได้เล่มหนา ทั้งยังอื้อฉาวไปต่างประเทศ
ในปี ๒๕๔๔ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดขอนแก่น จะจัดพิมพ์หนังสือตำราท้องถิ่น นำประวัติจอมพลสฤษดิ์ยกย่องเป็น “คนดีศรีสังคม” จึงเกิดเสียงคัดค้านระเบ็งเซ็งแซ่
นายแคล้ว นรปติ ส.ว.ขอนแก่น ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการศึกษาศาสนาและศิลปะวัฒนธรรมของวุฒิสภาให้ทบทวนเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า จอมพลสฤษดิ์ไม่ใช่คนดีศรีสังคม เพราะทำรัฐประหาร ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการ ใช้มาตรา ๑๗ สั่งประหารชีวิตประชาชนโดยไม่ต้องขึ้นศาล เมื่อถึงแก่กรรมญาติๆแย่งชิงมรดกกันจนมีการสอบสวนและยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน มีอนุภรรยานับร้อย คอรัปชั่นใช้เงินกองสลากเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ส่วนที่อ้างว่าสร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นแค่การทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เอาเงินภาษีอากรประชาชนมาสร้าง ไม่ใช่เงินส่วนตัว
ส่วนนายทองใบ ทองเปาด์ ส.ว.มหาสารคาม ซึ่งเคยถูกขังลืมร่วมกับนักเขียนนักหนังสือพิมพ์อีก ๑๒ คนถึง ๘ ปี จากการไปเยือนจีนตามคำเชิญของรัฐบาลจีน ได้กล่าวใน “มติชน”ฉบับ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ว่า
“จอมพลสฤษดิ์มีส่วนดีคือเด็ดขาด แต่พูดถึงจริยธรรมทางการเมืองแล้วน่าคิด เพราะก้าวมาสู่อำนาจโดยยึดอำนาจ ใช้อำนาจเด็ดขาดโดยละเมิดต่อหลักกฎหมาย และละเมิดสิทธิประชาธิปไตยอย่างชัดเจน มีอนุภรรยามากมาย ถูกยึดทรัพย์ จึงไม่ควรยกย่อง แม้จะมีการระบุถึงคุณงามความดีให้คนไทยเลิกสูบฝิ่นโดยไปเผาใหญ่ที่สนามหลวง แต่เมื่อเลิกฝิ่นก็ทำให้ยาเสพติดอื่นแพร่ระบาดเข้ามาแย่กว่าเดิม”
ด้านคุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า หนังสือประกอบการเรียนของแต่ละจังหวัด น่าจะส่งเสริมตัวแทนภูมิปัญญาชาวบ้านในจังหวัดมากกว่าตัวบุคคล เพราะการทำเป็นประวัติบุคคล อาจจะสร้างความแตกแยกทางความคิด
“เท่าที่ได้อ่านหนังสือเหมือนหนังสืองานศพ ซึ่งตามธรรมดาหนังสือประเภทนี้จะไม่เขียนข้อบกพร่องของบุคคลผู้นั้น ความจริง พ่อ แม่ ครู ต้องสอนให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ข้อมูล ไม่จำกัดความคิดหรือให้รู้ด้านเดียว อยากให้รู้ว่าเด็กเขาไม่ได้โง่ เพียงแต่เราทำให้โง่”
ส่วนนายกฯทักษิณ ชินวัตร ให้ความเห็นว่า ไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์ และเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ และกล่าวว่า
“บางครั้งไม่จำเป็นต้องหาตัวบุคคลมายกย่อง เรื่องท้องถิ่นเป็นเรื่องภูมิปัญญามากกว่า...”
ยังมีนักวิชการและบุคคลต่างๆในขอนแก่นเอง และองค์กรเอกชนหลายแห่งคัดค้านเรื่องนี้กันอย่างมาก ในที่สุดหนังสือที่จะยกย่องจอมพลสฤษดิ์เป็น “คนดีของสังคม” ให้เด็กเรียน ก็ต้องระงับไป
นี่ก็เป็นธรรมดาของบุคคลที่มีทั้งความดีความเลวอยู่ในตัวตามสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้ ฉะนั้นการมีอำนาจทางการเมืองมากไปจึงเป็นปัญหา ต้องมีฝ่ายคานอำนาจและตรวจสอบ แต่ไม่ใช่ขัดขาไปทุกเรื่องอย่างในวันนี้ เพื่อไม่ให้ทำดีได้ชื่อล้ำหน้าฝ่ายตัว โดยไม่นึกถึงประเทศชาติและประชาชน ในที่สุดการเมืองก็จะกลับไปเหมือนสมัยอยุธยา ผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่อยู่ได้ คนมีความรู้ มีอุดมการณ์ แค่คุ้มกะลาหัวตัวเองยังแทบไม่รอด