xs
xsm
sm
md
lg

"ทูตนอกแถว" ชี้ถ้ารัฐบาลประชาธิปไตย ฟื้นสัมพันธ์ซาอุฯ จะสง่างามกว่านี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าของเพจ "ทูตนอกแถว" เผยการเยือนซาอุฯ ของนายกฯ ประยุทธ์ถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ภาพที่ออกมา และพิธีการต้อนรับต่ำกว่ามาตรฐาน ถือว่าเป็นผลงานของนายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน เป็นไปได้ว่าทุกอย่างมันมาช่วงนี้พอดี แต่ถ้าเกิดกับรัฐบาลประชาธิปไตยจะสง่างามกว่านี้

วันนี้ (28 ม.ค.) นายรัศมิ์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns และอดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "มีอะไรเบื้องหลังการเยือนซาอุดีอาระเบีย? (2)

ความจริงไม่ได้ตั้งใจจะเขียนต่อ แต่โพสต์ก่อนหน้าได้รับ feedback เยอะมาก ทั้งบวกและลบ ตลอดจนข้อสังเกตและท้วงติงอื่นๆ ที่น่าสนใจซึ่งผมขอน้อมรับด้วยดี พอดีกับมีประเด็นอื่นๆ ที่นึกได้อีก เลยอยากนำมาคุยกันต่อนะครับ

ดังที่ได้เขียนไปแล้วก่อนหน้า และผมขอย้ำอีกครั้งว่า จะอย่างไรเรื่องการเปิดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทย ถือเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเป็นเรื่องน่ายินดี

ที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไปว่านายกรัฐมนตรีของไทยควรได้พบกษัตริย์ นายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบียด้วย (ซึ่งมีคนแย้งว่ามกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีคือคนที่มีอำนาจทั้งหมด พบแค่นี้จึงเท่ากับให้เกียรติแล้ว) อันนี้ผมก็พูดตามธรรมเนียมหลักปฏิบัติสากลทางทูตตามปกตินะครับ ซึ่งการพบปะหารือกับมกุฏราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีนั้นก็ถูกแล้ว แต่ปกติถ้าจะให้เกียรติตามธรรมเนียมปฏิบัติกันจริงๆ ก็ควรต้องพบผู้นำสูงสุดของเขาด้วย

ภาพที่อออกมา ซึ่งรวมทั้งพิธีการต้อนรับต่างๆ ที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียจัดให้ แลดูอยู่ในสเกล รูปแบบที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานการเยือนอย่างเป็นทางการทั่วไปมาก เช่นไม่มีการตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ พรมแดง ฯลฯ หลายๆ คนรวมทั้งผมจึงอดมองไม่ได้ว่าเขาไม่ได้ให้เกียรติเราเท่าใดนัก

แต่เรื่องนี้มันก็มองได้อีกว่าเพราะความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ณ ขณะการเยือนยังไม่ได้ถือว่าอยู่ในขั้นปกติ พิธีการต่างๆ จึงถูกลดทอนลงไปมาก ซึ่งก็ทำให้คิดได้อีกว่าถ้าเราส่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศไป ซึ่งก็คือระดับเดียวกับฝ่ายของเขา จะเหมาะสมกว่าไหม เมื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ปกติระหว่างกันเรียบร้อยแล้วค่อยให้นายกรัฐมนตรีไปเยือนอย่างสมเกียรติ

แต่ก็เข้าใจล่ะว่าเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีต้องการไปเองเพื่อสร้างผลงาน และแม้จะดูไม่สมเกียรตินักแต่ถ้าไปแล้วมีส่วนช่วยให้การเดินหน้ารื้อฟื้นความสัมพันธ์เป็นไปได้ด้วยดี ก็เอาเถอะครับ และก็ถือได้ว่านี่เป็นผลงานหนึ่งของนายกรัฐมนตรี แม้ว่าคงไม่ใช่ของแกเพียงคนเดียวล้วนๆ อย่างที่มีผู้พยายามบอก

ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมผมก็เห็นข้อความที่ระบุว่าในข้อ 4. ว่า “ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนานเพื่อฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกัน” ซึ่งผมทราบว่าได้มีความพยายามดำเนินการในเรื่องนี้มาหลายยุค ทั้งในระดับกระทรวงการต่างประเทศ และโดยหลายรัฐบาลที่ผ่านมา

เอาเป็นว่าส้มมาหล่นเอาในยุคนี้ ก็ไม่ว่ากันนะครับ เพราะจะอย่างไรก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

อีกเรื่องที่มีผู้ทักท้วงมา คือเรื่องนายกรัฐมนตรีไทยยกมือไหว้มกุฎราชการ รองนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการทักทายในยุคโควิด และตามมารยาทของไทย ซึ่งตรงนี้ผมก็เห็นว่ามีประเด็นอยู่ แต่เท่าที่ผมเคยเห็นที่เขาปฏิบัติในยุคโควิดถ้าไม่จับมือ บางทีก็เอาข้อศอกแตะกัน หรือบางทีผมเห็นหลายประเทศใช้มือขวาทาบอกซ้ายก็มี

และเท่าที่ได้ยินมาเหมือนว่ามกุฎราชกุมารเขายื่นมือออกมาจะจับแล้ว ก็น่าจะจับมือกับเขาได้ แต่ฝ่ายเราเลือกยกมือไปไหว้แทน ซึ่งจะว่าไปในยุคโควิดนี้ก็โอเคและไม่ใช่สาระสำคัญนัก แต่เรื่องนี้ในการเตรียมการการเยือน ทางฝ่ายพิธีการน่าจะควรแจ้งและตกลงกันก่อนว่าจะใช้วิธีทักทายกันแบบไหนแน่ ก็จะช่วยให้ดูราบรื่นไม่เคอะเขินนัก

*** (ขอแก้ไขเพิ่มเติมตามที่เพิ่งได้รับแจ้งมาว่าเรื่องไหว้ เราแจ้งฝ่ายซาอุฯ แล้วครับว่าจะให้ นรม.ไหว้ แต่ทางสำนักพระราชวังคงไม่ได้ไปบรีฟมกุฎฯ เอง ส่วนกองทหารเกียรติยศ ตกลงกันทั้งสองฝ่ายจะเป็นตรวจแถวและเคารพเพลงชาติทั้งสองฝ่ายกัน)

ท้ายสุด เมื่อนั่งอ่านแถลงการณ์ และใช้เวลาตรองมากขึ้น ก็มาคิดได้ว่า ที่พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุเบื้องหลังว่าทำไมจู่ๆ มันจึงเกิดขึ้น และมันน่าจะมีอะไรมากกว่าที่เห็นไหมนั้น เอาเข้าจริง มันก็อาจเป็นอย่างที่เห็นนั่นแหละ คือมันก็เป็นไปได้ว่าทุกอย่างมันมาอย่างพอเหมาะพอเจาะช่วงนี้พอดี ไม่ได้มีอะไรเบื้องหลังหรือลึกอะไรมากไปกว่าที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียซึ่งปัจจุบันเป็นอีกสายกับราชวงศ์เดิมและเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ยึดติดกับอดีตนัก ต้องการขยายความร่วมมือใหม่ๆ รวมทั้งกับไทยด้วย

จึงกลายมาเป็นการเยือนครั้งนี้ และแม้ว่าในแง่ภาพลักษณ์ระหว่างประเทศที่ทั้งสองประเทศต่างมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ซึ่งสิ่งนี้คงไม่ได้ช่วยอะไรในแง่นี้ แต่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ได้ย่อมมีผลดีทางเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน และแม้มันก็เหมือนส้มหล่น แต่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งผลงานของรัฐบาลปัจจุบันอยู่ดี

แต่ผมก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นในยุคที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้มีที่มาอย่างชอบธรรม มีความสง่างามเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (ไม่ใช่บนกฎกติกาที่แสนจะเขย่ง มี ส.ว. 250 ที่แต่งตั้งเองมาโหวตให้ รวมทั้งการแจกกล้วยต่างๆ ที่ผมมองว่านี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือความชอบธรรมที่สง่างามแต่อย่างใด)

เชื่อว่าประชาชนชาวไทยทั่วไปคงจะดีใจกว่านี้อีกมาก"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่


กำลังโหลดความคิดเห็น