มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ให้การต้อนรับแก่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา แห่งประเทศไทย ด้วยพิธีการระดับหรู เดอะดิโพลแมทดอทคอม (thediplomat.com) สื่อเจ้าใหญ่แห่งแวดวงการวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศ ระบุอย่างนั้น
เดอะดิโพลแมทบอกว่า ขณะที่การไปเยือนของนายกรัฐมนตรีไทย ถือว่าเป็นการผ่าทางตันครั้งใหญ่ แต่การเดินทางมาถึงซาอุดีอาระเบียอย่างระมัดระวังของเขาก็สื่อเป็นนัยถึงความตึงเครียดที่ยังคงค้างคาอยู่ น่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ระดับค่อนข้างต่ำ คือรองผู้ว่าราชการของกรุงริยาด เป็นผู้ไปต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทยที่สนามบิน รวมทั้งไม่มีการรายงานสดทางทีวีอย่างที่ธรรมดาแล้วมักจะมี
อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เมื่อนายกรัฐมนตรีไทยมาถึงสำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย มกุฎราชกุมาร เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ก็ให้การต้อนรับอย่างใหญ่โต
ภาพที่ได้เห็นจากการเผยแพร่โดยสำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย มีตั้งแต่ที่เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เสด็จออกมาต้อนรับนายกรัฐมนตรีชาวไทย ผู้ซึ่งก้าวออกจากรถสถานทูต และยกมือไหว้องค์มกุฎราชกุมารด้วยอิริยาบถสุภาพ ขณะที่เจ้าชายผู้ทรงอิทธิพลมหาศาล ทรงรับด้วยรอยพระสรวลเต็มพระเนตรอบอุ่น ไปจนภาพที่พระองค์เสด็จพระดำเนินนำนายกรัฐมนตรีไทยเข้าสู่สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย พระราชวังอัลยะมามะฮ์ โดยจัดเตรียมลาดพระบาทเป็นพรมสีม่วงลาเวนเดอร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศขั้นสูง
เดอะดิโพลแมทอธิบายถึงลาดพระบาทพรมสีม่วงลาเวนเดอร์นี้ ซาอุดีอาระเบียเคยใช้ต้อนรับการเยือนของอาคันตุกะครั้งสำคัญๆ ระดับ State visits พร้อมกันนี้ รายงานของเดอะดิโพลแมทเขียนระบุด้วยคำว่า Gave a royal welcome กันเลยทีเดียว
ในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และได้เข้าเฝ้าเพื่อหารือข้อราชการในช่วงบ่ายวันอังคารที่ 25 มกราคม 2022 นั้น สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบียได้เผยแพร่ให้เห็นบรรยากาศอบอุ่น ซึ่งองค์มกุฎราชกุมารทรงมอบเกียรติใหญ่หลวงแก่ประเทศไทย
อันที่จริง การพบปะในครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก โดยในส่วนที่ปรากฏเป็นภาพข่าวสู่ความรับรู้ของสาธารณชนอย่างกว้างขวาง คือ ในช่วงการประชุมสุดยอด G20 Osaka Summit ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นสมาชิกกลุ่มจี 20 และประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่มอาเซียน เป็นตัวแทนกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมประชุม
ในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ไทย ได้มีการประชุมทวิภาคีกับหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และได้ทักทายสนทนาและถ่ายภาพกับบุคคลสำคัญของชาติต่างๆ บริเวณห้องโถงรับรองด้านหน้าหอประชุมใหญ่ เช่น ประธานาธิบดีจีน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
ในโอกาสดังกล่าว เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ผู้ทรงเป็นรองนายกรัฐมนตรีและพระราชโอรสแห่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ได้ทรงให้เกียรติแก่ประเทศไทยเป็นที่ยิ่ง โดยทรงมีพระปฏิสันถารกับนายกฯ ไทยอย่างเป็นกันเอง ทรงปล่อยพระหัตถ์ขวาไว้ในสองมือของนายกฯ ไทย ขณะอธิบายเรื่องราวบางสิ่งอย่างตั้งอกตั้งใจ
ยิ่งกว่านั้น ในการถ่ายภาพที่ระลึก มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ ทรงจับกระชับมือนายกฯ ไทยอย่างไม่ถือพระองค์ และแย้มพระสรวลเต็มพระทัย
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุฯ เป็นที่ทราบกันดีว่าชะงักงันต่อเนื่องมากกว่า 3 ทศวรรษด้วยพิษแห่งความบาดหมายจากคดีปล้นเพชรซาอุฯ อันเป็นมหากาพย์ที่แสนจะอื้อฉาว และส่งผลกระทบเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวเงินถุงเงินถัง และเม็ดเงินมหาศาลที่แรงงานไทยในซาอุฯ เคยส่งกลับบ้านก็เหือดหายไปหมดสิ้น
ฝ่ายไทยได้แต่รอปาฏิหาริย์ที่จะบันดาลให้ฟ้าเปิด เพื่อจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองขึ้นใหม่
ด้านรายงานของเดอะดิโพลแมทให้อรรถาธิบายถึงแนวนโยบายต่างประเทศของเจ้าชายผู้ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีซาอุฯ ว่า ขณะที่ทรงให้ความสำคัญแก่การสร้างพันธมิตรในประเทศต่างๆ นั้น นโยบายสร้างความทันสมัยให้แก่ราชอาณาจักร และนโยบายเพิ่มแหล่งรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่รายได้จากการขายน้ำมัน เป็นสองนโยบายสำคัญของเจ้าชายมกุฎราชกุมาร ผู้ทรงเร่งรัดการปฏิรูปพระราชอาณาจักร เช่น การดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้าประเทศ
สิ่งที่คนไทยหมดหวังกันไปนานแสนนาน ได้ผงาดขึ้นมาในที่สุด
ทางการซาอุฯ ได้เผยแพร่เอกสารแถลงผลการหารือระหว่างนายกฯ ไทย กับมกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ ซึ่งเป็นที่ทราบกันมาเนิ่นนานแล้วว่า ในทางปฏิบัตินั้นทรงเป็นผู้บริหารประเทศ และทรงเป็นผู้กำหนดนโยบายภายใต้ “วิสัยทัศน์ซาอุดี 2030” โดยในแถลงการณ์ดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ผ่านสำนักข่าวซาอุดีอาระเบีย (SPA) เมื่อค่ำวันที่ 25 มกราคม 2022 ระบุว่า จะมีการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมืองในระหว่างกัน
โดยทั้งสองฝ่ายจะปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้เป็นปกติ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต อันเป็นกลไกสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในการขับเคลื่อนความร่วมมือ
ที่สำคัญคือจะมีการส่งเสริมการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไปจนถึงการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคบริการ ซึ่งไทยมี Know-how ที่ทรงคุณค่าสำหรับซาอุฯ ในการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการภายในราชอาณาจักร
ข่าวดีสุดๆ สำหรับผู้ประกอบการไทยในภาคท่องเที่ยวผุดขึ้นก่อนเรื่องอื่น โดยจะประเดิมการฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้วยกลไกที่สำคัญยิ่ง คือ เที่ยวบินตรงระหว่างไทยกับซาอุฯ จะเปิดให้บริการกันในเดือนพฤษภาคมศกนี้ นับเป็นนิมิตหมายดีเยี่ยมสำหรับการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้ขยายตัว หลังจากเผชิญผลกระทบมหาศาลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กว่า 2 ปี
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา : เดอะดิโพลแมทดอทคอม เอพี)