xs
xsm
sm
md
lg

เตือนคนรักสัตว์! "บอนสี" มีพิษ เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังเจอเหตุการณ์สุนัขกินใบต้นบอนสีแล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนี้ น.สพ.พีรสุทธิ์ เพียรพิจิตร สัตวแพทย์คลินิกโรคหัวใจและทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 ได้เคยออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้หลากหลายชนิดที่เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยง แนะควรจัดให้อยู่ห่างกัน

จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความเตือน หลังต้องสูญเสียเพื่อนรักสี่ขาเนื่องจากไปกิน "ต้นสาวน้อยประแป้ง" แต่พบว่าต้นไม่ดังกล่าวไม่ใช่สาวน้อยประแป้ง แต่เป็นต้นบอนสี โดยสาเหตุของการเสียชีวิตของสุนัขในครั้งนี้เกิดจากต้นบอนสีมีสารพิษ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. เพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" ของ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความอธิบายถึงสาเหตุดังกล่าวว่า

"ต้นบอนสีก็เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้ เหมือนกับต้นสาวน้อยประแป้งครับ"

มีคำถามจากทางบ้านมา พร้อมรูปจากเพจของกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยง ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับกรณีที่สุนัขของเขาเสียชีวิตไป เนื่องจากน่าจะไปกิน "ต้นสาวน้อยประแป้ง" มา พร้อมคำอธิบายเรื่องพิษจากสารแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) ที่อยู่ในต้นสาวน้อยประแป้ง !!
แต่คำถามของเขาก็คือ รูปต้นไม้ที่ประกอบโพสต์นี้มันเป็นรูป "ต้นบอนสี" ไม่ใช่เหรอครับ? ไม่น่าใช่ต้นสาวน้อยประแป้งนะ

ใช่ครับ ต้นไม้ตามรูปนั้นคือต้นบอนสี และสุนัขก็คงเสียชีวิตจากการกินต้นบอนสีมา เพราะมันก็มีสารพิษเช่นเดียวกับต้นสาวน้อยประแป้ง !!

ตามบทความของ น.สพ.พีรสุทธิ์ เพียรพิจิตร สัตวแพทย์คลินิกโรคหัวใจและทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 (ดูลิงก์ด้านล่าง) ระบุว่า บอนสีก็มีสารแคลเซียมออกซาเลตอยู่ และความเป็นพิษนั้นสามารถพบได้ทุกส่วนของต้นบอนสี ถ้าหากสัตว์เลี้ยงกินไปจะระคายเคืองช่องปาก ลำคอ และระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดน้ำลายไหล อาเจียน กลืนลำบาก !!

นอกจากต้นบอนสีและต้นสาวน้อยประแป้งแล้ว ยังมีต้นไม้อีกหลายชนิดที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงของท่านได้ถ้ามันเผลอกินเข้าไป ลองอ่านดูด้านล่างนะครับ

ปล. ต้นสาวน้อยประแป้งกับต้นบอนสีเป็นพืชคนละสปีชีส์กันครับ ต้นสาวน้อยประแป้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dieffenbachia seguine (Jacq.) Schott. ส่วนต้นบอนสี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caladium bicolor แต่พืชทั้งสองนี้อยู่ในวงศ์ Araceae เหมือนกัน

ว่านหางจระเข้ เมื่อสัตว์เลี้ยงกินวุ้นเข้าไป จะได้รับสารที่ชื่อว่า ซาร์โปรนิน (sarpronin) จะทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร อาเจียน ท้องเสีย ตัวสั่นเกร็ง ปัสสาวะเปลี่ยนสีได้

ดอกลิลลี หากสุนัขหรือแมวได้กินเข้าไปเพียงนิดเดียว แม้เพียงกลีบดอกหนึ่งกลีบหรือสองกลีบ รวมทั้งการกลืนเกสรดอกไม้ หรือเลียน้ำจากแจกัน ก็เพียงพอทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้

ไฮเดรนเยีย มีสารไซยาโนเจนิก ไกลโคไซด์ (cyanogenic glycoside) ซึ่งเป็นพิษต่อสุนัขและแมว หากกินเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร อาเจียน ท้องเสียได้

ต้นชวนชม มักพบสารที่ชื่อว่า ไกลโคไซด์ (glycoside) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุนัขและแมว หากได้เผลอกินดอกเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร อาเจียน ปวดท้อง กล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจเต้นช้าลง ซึ่งอาจเสียชีวิตได้

พลูด่าง พิษในพลูด่างสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองที่รุนแรง ถ้าเผลอกินเข้าไป เพราะมีการเผาไหม้อย่างรุนแรง เกิดภาวะน้ำลายหลั่งมากผิดปกติ อาเจียน และกลืนอาหารลำบาก"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น