ททท.ตั้งธงภารกิจหลัก เร่งยกระดับสินค้าท่องเที่ยว “เฮลท์ แอนด์ เวลเนส” รับเทรนด์ใหม่ ผลักดันประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ผู้นำด้านบริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ภายหลังกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง หวังตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางบริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพระดับโลก
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกยิ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผลการสำรวจและข้อมูลวิจัยมากมายคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจะยิ่งเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับประเทศไทยที่มีสินค้าบริการในระบบเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ Wellness Economy ที่หลากหลาย ทั้งโรงแรม รีสอร์ตเพื่อสุขภาพ สปา น้ำพุร้อน น้ำแร่ ร้านอาหารสุขภาพ ศูนย์ลดน้ำหนัก ศูนย์ความงาม การชะลอวัย การแพทย์เชิงป้องกัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และล่าสุด กัญชา กัญชง กระท่อม ที่ประเทศไทยเปิดให้บริการเพื่อรักษาและเพื่อส่งเสริมสุขภาพ
ขณะที่เดสติเนชันซึ่งให้บริการด้าน Health and Wellness ในประเทศไทยมีความหลากหลาย นักท่องเที่ยวสามารถเลือกโปรแกรมได้ตามสไตล์ความชอบของตัวเอง หากชอบชีวิตในเมืองแบบซิตีไลฟ์ สามารถเลือกบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา หากชอบทะเล สามารถเดินทางไปที่ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เกาะช้าง หากไม่ต้องการเดินทางไกล ทะเลใกล้กรุงเทพฯ ก็มีให้เลือกอย่างชะอำ หัวหิน หรือหากชอบป่าเขา ให้ขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ เชียงราย หรือใกล้ๆ ก็มีอย่างเขาใหญ่
รองผู้ว่าการ ททท.เปิดเผยว่า จากการติดตามเทรนด์ตลาดสินค้าบริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพทั่วโลก เห็นได้ชัดเจนว่ารูปแบบและแนวคิดของสินค้าบริการเปลี่ยนไปมากมาย พฤติกรรมความสนใจของนักท่องเที่ยวยุคใหม่มีความต้องการเชิงลึกที่หลากหลาย ได้แก่
1. เทรนด์ Sustainable wellness holiday การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่เน้นความยั่งยืน เวลเนสทัวริสต์ยุคนี้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น เลือกพักรีสอร์ตสุขภาพที่เป็น Eco-friendly hotels เลือกทำกิจกรรมที่รักษ์โลก เลือกกินอาหารจากวัตถุดิบในพื้นที่เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน
2. เทรนด์ Beyond wellness โปรแกรมเวลเนสที่ผสานรวมกับกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นที่น่าสนใจ
เช่น โปรแกรม Cultural Wellness Holiday ของอิตาลี มีทัวร์ไร่ไวน์ ขี่จักรยานชมมิวเซียมอาณาจักรโรมัน ปิดท้ายด้วยการทำทรีตเมนต์สปา และดีท็อกซ์ในรีสอร์ตหรู
3. เทรนด์ Food & Herbal Immune booster ชูอาหารและสมุนไพรพื้นถิ่นที่มีสรรพคุณทางยา เช่น สปาหรูในเกาหลีใต้ นำเสนอทรีตเมนต์ด้วยโสมแดงแท้และซุปไก่ตุ๋นโสมเกาหลี ชูจุดขายเพิ่มภูมิคุ้มกัน Immune booster ซึ่งเป็น keyword สุขภาพของโลกยุคหลังโควิดที่ทุกคนมองหาการเสริมภูมิ
4. เทรนด์ Science Based Wellness โปรแกรมเวลเนส ที่อ้างอิงผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รับรอง เช่น รีสอร์ตสปาริมทะเลในอเมริกา นำเสนอโปรแกรม Ocean therapy คือการบำบัดโดยการโต้คลื่น (surf) ในทะเล ซึ่งมีผลการวิจัยของนักจิตวิทยาชื่อดัง Mihaly Csikszentmihalyi พบว่าสามารถบำบัดอาการซึมเศร้าได้
“ที่ยกตัวอย่างมานั้น ประเทศไทยมีสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวตลาดความสนใจพิเศษยุคใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการเชิงลึกที่หลากหลายได้ทุกเทรนด์ ซึ่งในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ ททท.จะใช้โอกาสนี้เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสุขภาพ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์รูปแบบของสินค้าบริการ และกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่มีอยู่เดิมให้มีความแปลกใหม่ ตรงตามกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 อีกทั้งผสานจุดแข็งของเอกลักษณ์ของวัฒนธรรม Wellness ในพื้นที่ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่แตกต่างและหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของเวลเนสทัวริสต์ยุคนี้ ตลอดจนการพัฒนาความพร้อมของผู้ประกอบการและบุคลากรด้านท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายร่วมกัน คือ การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของภูมิภาค”
อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ (Global Health Security Index : GHS) อันดับที่ 5 ของโลก จาก 195 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย จากการประเมินความพร้อมของประเทศในการรับมือการแพร่ระบาดโรคติดต่อปี 2564 โดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ไทยได้ยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialized Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ชูภาพลักษณ์อันดีในการเป็นศูนย์กลาง Medical Hub นำเสนอศักยภาพความพร้อมด้านการสาธารณสุขของการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในเรื่องนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ประเทศไทยได้หมายมั่นปั้นมือสู่การชิงตำแหน่งผู้นำในภูมิภาค