xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” หวังไทยกลับไปครองตลาดแรงงานซาอุฯ หลังฟื้นสัมพันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผศ.ดร.มาโนชญ์” ชี้ ปัจจัยทำไทยฟื้นความสัมพันธ์ซาอุฯ สำเร็จ มาจากแผน Vision 2030 ที่ซาอุฯ ต้องเร่งสร้างมิตร บวกกับไทยเองก็พยายามอย่างต่อเนื่อง ทำงานกันอย่างหนัก ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญ หวังกลับไปครองตลาดแรงงานได้อีกครั้ง โกยรายได้เข้าประเทศ เชื่อฟื้นสัมพันธ์ครั้งนี้ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี



วันที่ 27 ม.ค. 2565 ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญโลกมุสลิมและตะวันออกกลาง ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ไทย-ซาอุฯ ฟื้นสัมพันธ์ โอกาสและความท้าทาย ?”

โดย ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า 30 ปีที่ผ่านมา ไทยก็พยายามที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียมาตลอด แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จเท่าไหร่ จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ทุกอย่างลงตัว แล้วก็กลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กันอีกครั้งหนึ่ง

จากการเยือนของ พลเอก ประยุทธ์ ในครั้งนี้ มันเป็นสัญญาณที่ชัดเจนของการเดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบเต็มรูปแบบแล้วก็กลับไปสู่ระดับปกติอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่น่าสังเกตและก็น่าสนใจ พลเอก ประยุทธ์ ไปแค่วันเดียว แต่วันนึงมันได้อะไรกลับมาแบบเต็มที่เลย แปลว่า ก่อนหน้านี้ เขาได้มีการหารือพูดคุยทำงานกันมาแล้วอย่างหนัก แล้วการไปครั้งนี้ก็ไปเป็นพิธีการเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

ถือว่าเป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่สำคัญของของกระทรวงการต่างประเทศ แล้วก็เจตจำนงของของรัฐบาลไทยที่สืบเนื่องกันต่อมาว่าต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ทั้งๆ ที่ปัญหาทุกอย่างมันยังคาราคาซังอยู่ มันยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่เราก็สามารถที่จะฟื้นความสัมพันธ์ระดับปกติ มันไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตนคิดว่ามันประกอบด้วยปัจจัยทั้งทางเราและทางเขาด้วย

จากการติดตามข่าวจากทางซาอุดีอาระเบีย แล้วก็สอบถามพูดคุยกับเพื่อนที่โน่น เขาบอกว่า ก่อนที่นายกฯ ไทยจะเดินทางไปก็ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โตอะไรมากมาย ก็เพราะว่าซาอุดีอาระเบียไม่ได้มีวัฒนธรรมของการนำเสนอข่าวให้มันเกิดใหญ่โตเป็นปกติอยู่แล้ว อันที่สอง คือ เขาไม่ค่อยพูดกันถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านมา ทั้งในระดับประชาชนและเจ้าหน้าที่ ตนคิดว่า เขาเห็นถึงความความตั้งใจของกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาลไทย ที่พยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ แล้วเขาก็คงพูดคุยและเคลียร์เรื่องพวกนี้กันก่อนหน้านี้ไปแล้ว

พอมาวันนี้เขาก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องปัญหาในอดีต แต่เลือกที่จะมองไปข้างหน้า โดยเน้นไปที่เรื่องของการพาณิชย์ ต้องการค้าขาย การลงทุนมากกว่า ซึ่งมันสอดคล้องกับ Vision 2030 ของทางซาอุดีอาระเบีย

มกุฎราชกุมาร มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน มีแนวคิดคนรุ่นใหม่มองไปในอนาคตที่ต่างไปจากคนในอดีต เป็นที่มาของ Vision 2030 ที่เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจและขยายความร่วมมือแสวงหามิตรภาพที่มาภายนอกให้ได้มากที่สุด อันนี้คือปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่หันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ระยะหลังซาอุดีอาระเบีย มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาด้านความมั่นคงในหลายเรื่อง เช่น พลังงาน ที่ต่อไปน้ำมันอาจจะหมด พลังงานทดแทนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก็เริ่มสั่นคลอน จึงต้องหาแนวทางในการเอาตัวรอดโดยการมองมาที่ประเทศในกลุ่มเอเชีย

นอกจากนี้ ยังมีการปรับความสัมพันธ์กับกาตาร์ อิหร่าน ตุรกี และประเทศไทย ก็อาจจะได้อานิสงส์ของการเมืองโลกที่มันเปลี่ยนไป ในขณะที่ฝั่งเรานะก็มีความต่อเนื่องในความพยายามที่จะฟื้นความสัมพันธ์ แล้วก็มาประจวบเหมาะในวันนี้

ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวอีกว่า ผลประโยชน์ที่เราจะได้จากซาอุฯ แต่ก่อนนี้เราครองตลาดแรงงานที่โน่น 2-3 แสนคน ตอนนั้นซาอุฯ เป็นประเทศที่ร่ำรวยแบบหาที่หาคู่แข่งได้ยาก แรงงานไปทำงานคนเดียวสามารถหาเลี้ยงได้ทั้งครอบครัว และยังหอบเงินกลับมาตั้งตัวได้อีกด้วย เราต้องกลับไปทวงตลาดแรงงานของเราคืน ปัจจุบันแม้ซาอุฯ ไม่ได้อู้ฟู่เหมือนในอดีต แต่เขาพร้อมที่จะลงทุน

ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากอาหรับมีกำลังเที่ยวกำลังซื้อเยอะ การปรับความสัมพันธ์กันในระดับปกติ ซาอุฯ จะมาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก

ที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้ากับซาอุฯ เพราะเราเข้านำน้ำมันมหาศาล ขณะเดียวกัน เราก็มีการส่งออกสินค้า เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนแอร์ การส่งแรงงานกลับไปจำนวนมาก เพื่อไปครองตลาดอีกครั้ง เราจะได้เงินมหาศาลที่จะมาทดแทน เชื่อว่า การฟื้นความสัมพันธ์จะสามารถพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี

ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวต่ออีกว่า มีเรื่องที่ต้องระวังอยู่พอสมควรแล้วก็อ่อนไหว ก็คือ ปัญหาการเมืองในตะวันออกกลาง ที่มันอาจจะลุกลามแล้วมากระทบกระเทือนในบ้านเราเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เรามีประสบการณ์แล้วอย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย รวมถึงกรณีอื่น ๆ ด้วย ถ้ามีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของต่างประเทศ ต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่อย่างนั้นมันจะส่งผล 20-30 ปี

อีกเรื่องที่น่าห่วง ก็คือ องค์ความรู้ของเราเกี่ยวกับประเทศซาอุดีอาระเบียที่อาจจะคลาดเคลื่อน ยกตัวอย่างเช่น เวลาพูดถึงพูดซาอุฯ ก็คิดถึงเรื่องแนวคิดแบบสุดโต่ง เรื่องพวกนี้ต้องระวัง ถ้ามีการพูดมีการสื่อสาร มีการดึงมาเป็นประเด็นทางการเมือง มันจะกลับไปกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เสรีภาพในงานวิชาการมันมี แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น