xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมยก "แยกอโศกโมเดล" หวังแก้พฤติกรรมผู้ขับขี่ เพิ่มวินัยจราจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร ชี้ ต้อง “จับ” “ปรับ” ถึง "เปลี่ยน" พฤติกรรมคนได้ เตรียมยก "แยกอโศกมนตรี" เป็นโมเดล บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพิ่มวินัยจราจร

จากกรณีเหตุการณ์แพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประสบอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย โดยในเวลาต่อมามีการเผยข้อมูลผู้ขับขี่รถบิ๊กไบค์คันดังกล่าว พบเป็นตำรวจยศสิบตรี สังกัดตำรวจควบคุมฝูงชน และบริเวณที่เกิดเหตุชนคือทางข้ามทางม้าลาย หน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท ขาออก ใกล้หน้าสำนักงานเขตราชเทวี จนทำให้แพทย์หญิง วราลัคน์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชวิถีในเวลาต่อมา จนกลายเป็นที่วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อย่างมาก จนเกิดแฮชแท็ก ตำรวจมีไว้ทำไม ขึ้นในทวิตเตอร์

จนกลายเป็นปรากฏการณ์ "วัวหายล้อมคอก" เมื่อหลายหน่วยงานได้ออกมาปรับปรุงทางม้าลาย ปรับปรุงผิวถนน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก "เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang" เตรียมแก้ไขทางม้าลายให้สะดวก ปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก พร้อมยก แยกอโศกมนตรี ที่มีการปรับปรุงทางกายภาพแล้ว โดยโฆษกของ กทม.ได้ระบุข้อความว่า

"ต้อง “จับ” “ปรับ” ถึง "เปลี่ยน" พฤติกรรมคนได้ (วินัยจราจร)

ความสูญเสียเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้และไม่ควรเกิดขึ้นกับชีวิตของคนที่เดินข้ามทางม้าลาย กทม.จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

การแก้ไขทางม้าลายให้สะดวก ปลอดภัย จะต้องแก้ด้วย 2 วิธีหลักๆ
คือ 1. การแก้ไขทางกายภาพ ด้วยการออกแบบเชิงโครงสร้างเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม
และ 2. การแก้ไขพฤติกรรมวินัยจราจร ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน

ทางม้าลายที่ดี ต้องมีความชัดเจน มีสัญญาณไฟ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ในหลายๆ ที่ในประเทศไทยที่ทางม้าลายสภาพดีแล้วก็ยังมีปัญหา ยังมีคนใช้รถที่ฝ่าฝืนกฎจราจรจำนวนมาก เกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะขาด “วินัยจราจร”

อย่างเช่น แยกอโศกมนตรี แยกขนาดใหญ่ที่ กทม.ได้ปรับปรุงทางกายภาพแล้ว ทั้งขยายทางม้าลายให้กว้างขึ้น ทาสีแดง-ขาว ระบุข้อความ “พื้นที่จับปรับ” ไม่ให้รถจอดคร่อมทางม้าลาย และทำเนินหลังเต่าตรงทางม้าลายที่เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด รวมทั้งติดตั้งไฟส่องสว่างและไฟจราจรข้ามถนนแบบมีปุ่มกด เพื่อให้คนเดินข้ามทางม้าลาย ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัยไปด้วยกัน

แต่ภายหลังจากที่ดำเนินการแล้ว ก็ยังมีผู้ฝ่าไฟแดง จอดคร่อมทางม้าลาย ยังทำผิดในลักษณะเดิม เพียงเดือนมกราคมเดือนเดียวพบการกระทำผิดกว่า 25,000 ครั้ง!! ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการตามกฎหมาย เตรียมรอรับใบสั่งที่บ้านได้เลยครับ

เพราะในแยกอโศกเราได้นำกล้อง ai มาใช้ จากเดิมตำรวจตั้งด่านจับปรับมุมหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งก็ทำการฝ่าฝืน และด้วยความที่เป็นแยกขนาดใหญ่ และมีแยกลักษณะนี้อีกหลายแยก จำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอที่จะจับปรับทุกคนที่ทำความผิดได้ แต่การใช้กล้องระบบ ai เก็บข้อมูลจะช่วยทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ออกใบสั่งได้ครอบคลุมผู้กระทำผิดได้ทุกคน

การเปลี่ยน “วินัยจราจร” ที่แยกอโศกแยกเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่นเดียวกันกับแยกนี้ในทุกๆ แยก ทุกๆ ทางม้าลาย ผู้ที่ชอบฝ่าฝืนก็จะโดน “ปรับ” ทุกๆ ครั้ง และปรับพฤติกรรมตนเอง

ขอขอบคุณ สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ที่ร่วมกันริเริ่มโครงการแยกอโศก และ กทม.จะทำทุกวิถีทางเพื่อเร่งผลักดันให้ทุกแยก ทุกทางม้าลาย และทุกสถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ “จับ ปรับ” อย่างจริงจัง เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายด้วยการใช้เทคโนโลยีครับ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น