กลุ่มทะลุฟ้าค้านทุบตึกสถาบันปรีดี พนมยงค์ สร้างอาคาร 7 ชั้น อ้างเอื้อประโยชน์นายทุน ผิดวัตถุประสงค์จากพินัยกรรมของครูองุ่น มาลิก แต่เจอคอมเมนต์ถามกลับ ทำไมกลุ่มการเมืองดูเป็นห่วงเป็นใย ชี้อาคารเดิมเสื่อมโทรม เหตุคนเก่าขาดความสามารถบริหารจัดการ ทายาทสายตรงปรีดีต้องมาดูแลเอง ตั้งแต่ปี 62 ชี้รีโนเวตไปไม่คุ้มค่า เลยให้เอกชนลงทุนภายใต้เงื่อนไขมูลนิธิฯ
วันนี้ (25 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าทะลุฟ้า แนวร่วมม็อบราษฎร หรือม็อบสามนิ้ว ที่ก่อตั้งโดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อขอให้มีการชะลอรื้อถอนสถาบันปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่เลขที่ 65/1 ถนนสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์จากพินัยกรรมของครูองุ่น มาลิก ผู้บริจาคที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ
เนื้อหาในจดหมายระบุว่า สืบเนื่องจาก มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้เผยแพร่เอกสาร "สารอวยพรปีใหม่ 2565" ลงในหน้าเฟซบุ๊กเพจ "สถาบัน ปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute" เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ระบุก่อนย่อหน้าสุดท้ายว่า "ในการพัฒนาองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้สอยพื้นที่และการดำเนินงานที่ยั่งยืน ทางสถาบันปรีดีฯ ได้ตกลงเซ็นสัญญาให้เช่าที่ดินกับ บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด เพื่้อพัฒนาโครงการอาคาร 7 ชั้น บนที่ดินเดิมซึ่งจะประกอบไปด้วยโชว์รูมและสำนักงานให้เช่า โดยพื้นที่ของสถาบันปรีดีฯ จะตั้งอยู่บนอาคารชั้น 6 และ 7 สามารถรองรับการจัดกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ได้หลากหลาย เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านประชาธิปไตยและศิลปวัฒนธรรมเพื่อมวลชนของประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดดำเนินงานภายในปี 2568"
ทางกลุ่มทะลุฟ้านั้นเล็งเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์ของครูองุ่น มาลิก ซึ่งเป็นผู้เขียนพินัยกรรมมอบที่ดินให้ก่อตั้งสถาบันฯ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์อุดมการณ์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ โดยในพินัยกรรมส่วนหนึ่งระบุว่า "ข้าพเจ้าหวังว่าบุคคลรุ่นหลังผู้มีจิตใจเสียสละเพื่อสังคม จะเข้ารับภาระสืบทอดดำเนินการกิจกรรมในที่ดินแห่งนี้ จักมีความคิดก้าวไกล สามารถขยายงานรับใช้สังคมได้ในวงกว้างยิ่งขึ้นสืบไป และถือเป็นภาระหมายเลขหนึ่ง ในอันที่จะสงวนรักษาผืนแผ่นดินแห่งนี้มิให้ตกไปเป็นที่รับใช้กิจการอย่างอื่นในเชิงธุรกิจเต็มรูปแบบเช่นให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลมาลงทุน"
แต่ผู้บริหารและคณะกรรมการชุดปัจจุบัน มิได้สานต่อเจตนารมณ์ของครูองุ่น มาลิก อีกทั้งยังจะแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนให้มีการเช่าพื้นที่กับ บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ เข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร กลุ่มทะลุฟ้าได้ติดต่อไปถึงคณะกรรมการสถาบันฯ แต่ก็เป็นการโยนกันไปโยนกันมา ไม่ตอบให้ชัดตรงประเด็น อ้างแต่เรื่องการไม่มีเงินบริหารถาบันฯ ทำให้ต้องเอาบริษัทเอกชนฯ มาลงทุนในที่ดินผืนดังกล่าว เพื่อให้สถาบันฯ มีเงินดำเนินการต่อได้ ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่เพียงเหตุผลด้านการเงินด้านเดียวเท่านั้น แต่มีอะไรแอบแฝงอยู่ในเหตุผลนี้ เช่นความพยายามอ้างเหตุผลนี้เพื่อเอื้อบริษัทเอกชน หรือการพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร อาจารย์ปรีดี และครูองุ่น
เมื่อเราตรวจสอบว่าบริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร พบว่าเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับออกแบบเฟอร์นิเจอร์ มีการโฆษณาว่ากำลังเนรมิตอาณาจักรเฟอร์นิเจอร์ อาคารสูง 5 ชั้น บนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ใจกลางทองหล่อ ซึ่งเราสงสัยว่าใช่ที่ดินผืนดังกล่าวหรือไม่
หากมีการดำเนินการดังกล่าวจริง คำถามสำคัญคือ พื้นที่สำหรับใช้สอยของสถาบันฯ จะเป็นอย่างไร ซึ่งอ้างว่าอยู่ชั้น 6 และ 7 ในเมื่อวัตถุประสงค์ของสถาบันฯ คือ 1. ดำเนินกิจการในรูปองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร 2. เผยแพร่ความรู้ อุดมการณ์ และจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ 3. ค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ให้เป็นประชาธิปไตย 4. จัดกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น สัมมนา ปาฐกถา เสวนา มอบทุนการศึกษา ฯลฯ 5. ให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่ทำงาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงาน 6. สนับสนุน ส่งเสริม กิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การละคร และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งพื้นที่เพียงแค่ 2 ชั้นเพียงพอหรือไม่ สำหรับทำตามวัตถุประสงค์ ในเมื่ออาคารเดิมของสถาบันสามารถรองรับกิจกรรมน้อยใหญ่ได้ และสามารถใช้ได้เต็มพื้นที่
กลุ่มทะลุฟ้าขอคัดค้านการรื้อถอนอาคารของสถาบันฯ และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ ออกมาชี้แจงต่อสาธารณะ ดังนี้ 1. ให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรื้อถอนอาคารโครงสร้างของตึกสถาบันปรีดี ว่ามีเหตุผลอย่างไร และให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบประมาณของสถาบันปรีดีได้อย่างชัดเจน 2. ให้คณะกรรมการต้องชี้แจงเหตุผลที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ไม่สามารถบริหารต่อไปได้ในรูปแบบอาคารเดิม 3. ขอให้เปิดเผยสัญญาระหว่างสถาบันฯ กับ บริษัท ยูโรครีเอชั่นส์ จำกัด ว่ามีเงื่อนไขอย่างไร ผลประโยชน์ของสถาบันฯ จะเป็นอย่างไรหากจัดสร้างพื้นที่และให้ภาคประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพิจารณาผ่านการตั้งโต๊ะร่วมระหว่างคณะกรรมการฯ ภาคประชาชนและประชาชนที่สนใจ
นี่คือข้อเรียกร้องของทางกลุ่มทะลุฟ้าที่ยื่นต่อคณะกรรมการฯ ชุดปัจจุบัน และขอให้ทางคณะกรรมการชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดอย่างชัดเจนภายในเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของครูองุ่น มาลิก และปรีดี พนมยงค์ หากไม่ดำเนินการกลุ่มทะลุฟ้าจะเปิดโปงเรื่องนี้ต่อไป"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งคอมเมนต์ถึงกลุ่มทะลุฟ้า ระบุว่า "น่าแปลกใจที่จู่ๆ กลุ่มทะลุฟ้าก็เข้าร่วมขบวนการปั่นป่วน แบบเดียวกับที่เคยเป่าหูสิงห์สนามหลวงเมื่อ 4 ปีก่อน เช่น ปล่อยข่าวลือว่ามูลนิธิปรีดีฯ จะยกที่ให้ มธ.บ้าง อยู่ใต้อำนาจเผด็จการ นายทุนบ้าง ฯลฯ จนประธานมูลนิธิฯ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเป็นที่กระจ่าง ... นี่คือขบวนการของผู้ไม่หวังดี ยุยงปั่นกระแสให้เกิดความแตกแยก จึงขอเล่าเท่าที่ทราบอีกครั้ง เผื่อผู้ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุจะได้ไม่หลงผิดเป็นเครื่องมือสร้างความเสียหายให้ผู้อื่น
1. มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งเมื่อปี 2526 เพื่อสืบสานอุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทยอันเป็นปณิธานของนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีท่านผู้หญิงพูนศุขฯ และลูกศิษย์ลูกหาเป็นผู้หาทุนดำเนินงาน ต่อมาครูองุ่น มาลิก ได้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินซอยทองหล่อ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง ”สถาบันปรีดีฯ” เมื่อปี 2538 สำหรับดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิปรีดีฯ โดยทุนก่อสร้างสถาบันปรีดีฯ มาจากเงินบริจาคของท่านผู้หญิงพูนศุขและครอบครัวพนมยงค์ ฉะนั้น การดำเนินงานของมูลนิธิและสถาบันปรีดีฯ จึงเป็นเรื่อง “ภายในองค์กร” ไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
2. เหตุที่ต้องปิดปรับปรุง เพราะตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่เปิดดำเนินงานมา ได้มีกลุ่มบุคคลเข้ามาควบคุมการดำเนินงาน โดยขาดความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ และใช้สอยทุนทรัพย์ที่ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ และครอบครัวมอบไว้ หมดไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ ไร้ระบบระเบียบ ส่งผลให้สถาบันฯ เสื่อมโทรมลงทุกด้านจนไม่สามารถเปิดให้บริการต่อไปได้ ทิ้งไว้เพียงซากอาคารทึ่ทรุดโทรม ดังที่สาธารณชนได้พบเห็น
3. คณะกรรมการชุดปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยทายาทสายตรงของท่านปรีดีและท่านผู้หญิงฯ ต้องเข้ามาช่วยดูแลการดำเนินงานด้วยตัวเอง ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้สถาบันฯ ดำเนินงานต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอพัฒนาพื้นที่อย่างถูกต้องตามขั้นตอน จากการศึกษาพบว่าตัวอาคารมีสภาพทรุดโทรมต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุง ไม่คุ้มค่า จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างอาคารใหม่ 7 ชั้นโดยมีเอกชนเป็นผู้ลงทุนภายใต้เงื่อนไขของมูลนิธิฯ สุดท้ายก็ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดให้สาธารณชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม ยังมีสถาบันปรีดีฯ ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์เหมือนเดิม
4. ขอตั้งข้อสังเกตว่า…กลุ่มทะลุฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง เหตุใดจึงดูเป็นห่วงเป็นใยเรื่องที่ดินของครูองุ่น มาลิก จนออกนอกหน้า มากกว่าจะสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันฯ ปรีดีที่มุ่งมั่นดำเนินตามเจตนารมณ์เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นสาระสำคัญ ?"
อนึ่ง สำหรับประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ คนปัจจุบันคือ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการชื่อดัง