xs
xsm
sm
md
lg

หมูไทยยกการ์ดสูง ป้อง ASF พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ยกระดับการเลี้ยงทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




โดย ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย


ผ่านมาแล้วกว่า 100 ปี นับตั้งแต่มีการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever (ASF) ที่ประเทศเคนยา ในทวีปแอฟริกา เป็นครั้งแรกของโลก เมื่อปี 2464 แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ปัจจุบันโรคได้เข้าตีโจมตีอุตสาหกรรมหมูใน 35 ประเทศทั่วโลก

ASF เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในหมู ไม่มีการติดต่อสู่คนหรือสัตว์อื่นก็ตาม ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าเนื้อหมูและชิ้นส่วนต่างๆที่จำหน่ายมีความปลอดภัย “สามารถรับประทานเนื้อหมูได้ตามปกติ” ยืนยันด้วยข้อมูลทางวิชาการ ที่สำคัญเนื้อหมูส่วนใหญ่ตามสถานที่จำหน่ายมีความปลอดภัยจากเชื้อ ASF เพราะตาม พ.ร.บ.ควบคุมการสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 โดยโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตต้องเข้มงวดตรวจสอบคัดกรองสุขภาพก่อนฆ่า (Ante-mortem inspection) แหละหลังฆ่า (Post-mortem inspection) ไม่ให้มีสุกรป่วยด้วยโรคระบาดเข้าผลิตและจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นการควบคุมการระบาดของโรคที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม โรคนี้จัดเป็นภัยร้ายแรงของอุตสาหกรรมหมู เพราะเมื่อไปถึงฟาร์มไหนแล้วความสูญเสียต่อฝูงสัตว์สูงถึง 100% หรือเสียหายยกฟาร์ม ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงยังต้อง “ยกการ์ดให้สูง” เพื่อป้องกันโรคอย่างเข้มงวดต่อไป เหมือนที่ร่วมมือกันมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ที่สำคัญต้องมองเรื่องนี้ว่า แม้เป็น “วิกฤติ” แต่ก็ถือเป็น “โอกาส” ที่ประเทศไทยจะได้ยกระดับการเลี้ยงหมูทั้งระบบ ให้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตที่ดี เพื่อเป็นขับเคลื่อนการสร้างอาหารปลอดภัยและสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยอย่างที่เคยทำมาตลอด

หลังจากนี้ รูปแบบการเลี้ยงหมูจะต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบที่มุ่งเน้นทั้งความสะอาด การป้องกันโรค การบริหารจัดการฟาร์มที่เหมาะสม เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคในหมูให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่หยุดเลี้ยงหมูไปก่อนหน้านี้ เพื่อรอดูสถานการณ์ของอุตสาหกรรม และสถานการณ์โรคต่างๆ วันนี้หากพร้อมจะกลับเข้ามาในระบบอีกครั้งดังที่ภาครัฐกำลังเร่งผลักดัน ก็ต้องเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องฟาร์ม เรื่องคน และมาตรฐานการเลี้ยงที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเลี้ยงให้มีน้อยที่สุด

หลักสำคัญคือ ต้องดำเนินการตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยเฉพาะการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity ของฟาร์มหมู ซึ่งเรื่องนี้กรมปศุสัตว์มีนโยบายพร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงทุกๆขนาดการเลี้ยง ทั้งเกษตรกรรายย่อยที่มีหมูน้อยกว่า 50 ตัว เกษตรกรรายเล็กที่มีหมู 50-500 ตัว เกษตรกรรายกลางเลี้ยงหมู 500-5,000 ตัว และรายใหญ่ ที่มีหมูตั้งแต่ 5,000 ตัวขึ้นไป ต่างสามารถนำหมูเข้าเลี้ยงในฟาร์มได้ โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เลี้ยงอย่างเคร่งครัด คือ “ฟาร์มทุกขนาดการเลี้ยงต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงระดับฟาร์ม” และ “ต้องปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบการเลี้ยงที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ” ที่ไม่เพียงช่วยป้องกันโรค ASF ได้เท่านั้น ยังสามารถป้องกันโรคระบาดอื่นๆในหมูได้เป็นอย่างดีด้วย

“ป้องกันดีกว่าแก้” เป็นหัวใจของการเลี้ยงหมู ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการลดความเสียหายและป้องกันโรคเข้าฟาร์มได้ก็คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคในหมู สำหรับฟาร์มหมูรายย่อยหรือฟาร์มรายเล็ก แนะนำให้ปรับใช้ระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม หรือ Good Farming Management (GFM) โดยจัดรูปแบบการป้องกันง่ายๆ อาทิ ให้พนักงานอาบน้ำเปลี่ยนชุดเข้าฟาร์ม พ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่งและโรงเรือน การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ และห้ามไม่ให้รถขนส่งหมูเข้ามาถึงภายในฟาร์มอย่างเด็ดขาด

ที่สำคัญยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อน เพื่อยกระดับเป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agricultural Practices (GAP) ในอนาคต

เชื่อว่ามาตรการต่างๆ และมาตรฐานที่ดีที่ภาคผู้เลี้ยงกำลังเร่งดำเนินการนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมหมู และพลิกโฉมหน้าการเลี้ยงหมูของไทยทั้งระบบ ให้กลายเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ผู้ผลิตอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภคและสร้างความมั่นคงในอาหารให้กับคนไทยต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น