พบโครงสร้างกลางสะพานพระราม 6 ทรุดตัว ทำให้ขบวนรถไฟไม่สามารถผ่านได้ ปิดทางขึ้นและทางล่อง ต้องขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์จากสถานีบางบำหรุแทน
วันนี้ (24 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 10.30 น. นายสถานีชุมทางบางซื่อได้รับแจ้งว่าพบโครงสร้างกลางสะพานพระราม 6 ทรุดตัว ขบวนรถไม่สามารถผ่านได้ จึงได้ปิดทางขึ้นและทางล่อง ระหว่างสถานีชุมทางบางซื่อ ถึงสถานีบางบำหรุ ตั้งแต่เวลา 10.30 น.เป็นต้นไป ส่งผลกระทบทำให้ขบวนรถด่วนที่ 84 ตรัง-กรุงเทพฯ ถึงสถานีบางบำหรุ เวลา 10.40 น. ล่าช้าไป 76 นาที ต้องขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์
เช่นเดียวกับขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 32 ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ถึงสถานีบางบำหรุ เวลา 12.00 น. ล่าช้าไป 72 นาที ขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์ ส่วนขบวนรถเร็วที่ 172 สุไหงโก-ลก-กรุงเทพฯ ถึงสถานีบางบำหรุ เวลา 13.22 น. ล่าช้าไป 169 นาที ขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์ สำหรับขบวนรถขาออก จะใช้ต้นทางสถานีบางบำหรุ ขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์จากสถานีกรุงเทพฯ-สามเสน-ชุมทางบางซื่อ มี 3 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก, ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 31 กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่ และขบวนรถด่วนที่ 83 กรุงเทพฯ-ตรัง
สำหรับสะพานพระราม 6 เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกของประเทศไทย เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2465 เพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ติดต่อกัน โดยให้บริษัท เล เอตาบริดจ์มองต์ ไตเต ประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้รับเหมา สร้างเสร็จในเดือนธันวาคม 2469 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าสะพานพระราม 6 และโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีเปิดสะพานให้ขบวนรถไฟเดินผ่านข้ามเป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 1 ม.ค. 2470
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานพระราม 6 ได้ถูกกองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษทิ้งระเบิดอย่างหนัก ในที่สุดช่วงกลางสะพานขาดเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2488 ก่อนจะซ่อมแซมใหม่เมื่อปี 2493 โดยบริษัทดอร์แมนลอง ประเทศอังกฤษ และบริษัทคริสเตียนนี แอนด์ นีลเส็น (ไทย) จำกัด จากประเทศเดนมาร์ก แล้วเสร็จเมื่อปี 2496 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานพระราม 6 หลังจากซ่อมแซมแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2496 หรือเมื่อ 69 ปีก่อน
สะพานสร้างตามแบบ Cantilever ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 5 ช่วง ส่วนหนึ่งเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กให้รถยนต์ทุกชนิดผ่าน อีกส่วนหนึ่งเป็นทางรถไฟ พร้อมทางเดินเท้า 2 ด้าน ตัวสะพานมีความยาว 442.08 เมตร กว้าง 10 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 10 เมตร เรือขนาดธรรมดาสามารถลอดผ่านได้ เมื่อมีการก่อสร้างสะพานพระราม 7 ขึ้นเป็นสะพานคู่ขนาน เปิดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2535 การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงปิดการจราจรส่วนที่เป็นถนน แล้วนำส่วนที่เคยเป็นถนนแปรสภาพเป็นทางรถไฟ